Article
โอกาส เป้าหมาย และความท้าทาย
เมื่อพูดถึง “ผู้หญิง” เชื่อว่าหลายคนอาจให้คำจำกัดความหรือมองบทบาทของเพศหญิงในมายาคติแบบเดิมๆ ว่าเป็นเพศที่อ่อนแอ อ่อนไหว เป็นช้างเท้าหลัง และต้องการการปกป้องดูแลจากเพศชาย แต่ด้วยบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนการขับเคลื่อนในประเด็นด้านความเท่าเทียมทางเพศ ทำให้ในปัจจุบันผู้หญิงได้รับการยอมรับมากขึ้น ทั้งในเรื่องความสามารถ รวมถึงบทบาทหน้าที่ที่มีความสำคัญไม่แตกต่างจากผู้ชาย เนื่องในโอกาสวันสตรีสากล (8 มีนาคม) ปีนี้ “แกร็บ” ชวนทุกคนไปทำความรู้จักและเรียนรู้มุมมองของ 3 สาวเพื่อนรักต่างวัย ตัวแทนผู้หญิงไทยในยุค 2022 “ณพิชญา สาศิริ” สาวร้อยเอ็ดคนขยันที่เชื่อว่าโอกาสมีอยู่เสมอสำหรับทุกคน “ปนัดดา พิมพ์ประสาร” สาวมั่นที่มีเป้าหมายแน่วแน่ในชีวิต และ “อณัญญา วิสุทธิสระ” คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวนักสู้ผู้ฟันฝ่าอุปสรรคเพื่อส่งลูกสาวให้ไปถึงฝั่งฝัน มิตรภาพของทั้งสามคนก่อตัวขึ้นจากการเข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์คนขับเพื่อให้บริการรับ-ส่งผู้โดยสารผ่านแอปพลิเคชัน Grab สู่ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นที่พร้อมช่วยเหลือและส่งเสริมกันและกันให้ไปสู่ความสำเร็จ พร้อมส่งต่อพลังบวกให้กับผู้หญิงทุกคนให้กล้าออกเดินตามความฝัน และพิชิตเป้าหมายในแบบของตัวเอง
อย่ารอให้มาหา แต่จงไขว่คว้าทุก “โอกาส”
ประโยคเด็ดที่ “บุ๋ม” ณพิชญา สาศิริ สาวแกร่งจากร้อยเอ็ดที่เข้ามาสู้ชีวิตในกรุงเทพฯ โดยลำพัง มักบอกกับทุกคนอยู่เสมอ คือ “โอกาสมีอยู่ทุกที่ อยู่ที่ว่าเราจะเปิดรับและไขว่คว้ามันหรือเปล่า” ด้วยความตั้งใจที่จะแบ่งเบาภาระที่บ้าน เธอจึงเริ่มทำงานพิเศษตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย จนเมื่อเรียนจบ บุ๋มได้เข้าทำงานในบริษัทเอกชน พร้อมรับงานฟรีแลนซ์ควบคู่ไปกับการช่วยธุรกิจที่บ้าน เธอมองว่าคนเราไม่จำเป็นต้องยึดติดกับอาชีพใดอาชีพหนึ่ง การทำงานหลายอย่างช่วยเปิดโอกาสให้เราได้ค้นพบตัวตนและสิ่งที่เราชอบได้เร็วขึ้น
บุ๋มได้เริ่มมาขับแกร็บเพื่อหารายได้เสริมครั้งแรกเมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว (ปี 2560) และใช้เวลาเพียงไม่นานในการก้าวขึ้นมาเป็นพี่เลี้ยงให้กับเพื่อนๆ พาร์ทเนอร์คนขับ และกลายเป็นผู้หญิงคนแรกที่สามารถทำคะแนนขับแกร็บสูงสุดจนชนะเพื่อนร่วมอาชีพที่เป็นผู้ชายในกิจกรรมพิเศษที่แกร็บจัดขึ้น จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้หญิงหลายคนที่ขับแกร็บด้วยกัน เธอไม่เคยหยุดเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และเปิดรับทุกโอกาสที่เข้ามา และเมื่อแกร็บเปิดตัว GrabCar (Lady) หรือบริการรับ-ส่งผู้โดยสารผู้หญิงโดยพาร์ทเนอร์คนขับผู้หญิงเมื่อปีที่แล้ว (ปี 2564) บุ๋มก็เป็นหนึ่งในพาร์ทเนอร์คนขับกลุ่มแรกๆ ที่ร่วมให้บริการนี้ด้วย
เธอเผยถึงเคล็ดลับความสำเร็จว่า “เราต้องมองว่าทุกคนเท่ากัน อย่าไปเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น ถ้าเราชอบอะไรให้ลงมือทำเลย ดีไม่ดีก็ค่อยๆ ปรับกันไป ช่วงเริ่มต้นไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ แต่ถ้ายังสู้ต่อ ชีวิตจะค่อยๆ เปิดทางให้เรา ได้เจองานที่รัก มีรายได้มากขึ้น พบมิตรภาพที่ดี และมีชีวิตที่มีความสุข”
ทุกความสำเร็จ เริ่มต้นจากการตั้ง “เป้าหมาย”
“เป้าหมายแน่วแน่ และกล้าที่จะแตกต่าง” คือคำนิยามที่เพื่อนทั้งสองคนมอบให้กับสาวมั่นอย่าง “เกรท” ปนัดดา พิมพ์ประสาร น้องเล็กของกลุ่มที่มีความฝันอยากเป็นเจ้าของธุรกิจ เธอวางแผนชีวิตตัวเองไว้อย่างชัดเจนว่าเมื่อผ่อนคอนโดและรถหมดแล้ว เธอจะเริ่มเก็บเงินเพื่อทำธุรกิจส่วนตัว เกรทเลือกที่จะใช้เวลาว่างหลังเลิกงานประจำในวันธรรมดา รวมถึงวันหยุดเสาร์อาทิตย์มาขับแกร็บเพื่อให้บริการรับ-ส่งผู้โดยสาร โดยไม่สนว่าเพื่อนในวัยเดียวกันจะใช้เวลาเหล่านั้นไปเที่ยวเล่นพักผ่อน ด้วยความมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ เธอจึงเลือกใช้ประโยชน์จากแอปพลิเคชันอย่าง Grab เป็นเครื่องมือหารายได้เสริมเพื่อทำให้เธอสามารถเข้าใกล้ความฝันได้ไวยิ่งขึ้น
“เกรทให้ความสำคัญกับการขับแกร็บเทียบเท่ากับการทำงานประจำเลย มีการเซ็ตเป้าหมายให้ตัวเองพิชิตได้ในแต่ละเดือนเหมือนการตั้ง KPI ในการทำงานบริษัท” เธอหัวเราะก่อนเล่าต่อด้วยน้ำเสียงที่แฝงไปด้วยความมุ่งมั่นว่า “ถึงการขับแกร็บจะเป็นอาชีพอิสระ แต่เราก็ต้องมีวินัย มีความรับผิดชอบต่อลูกค้า ทุกวันก่อนให้บริการ เราต้องพักผ่อนให้เพียงพอ เตรียมร่างกาย และจิตใจให้พร้อมทำงาน การมีวินัยเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราเดินทางไปถึงเป้าหมายได้สำเร็จ ที่สำคัญไม่ว่าคนอื่นจะมองหรือตัดสินเรายังไง เราต้องมั่นคงในสิ่งที่เราเลือกและภูมิใจในสิ่งที่เราทำ เพราะเกรทเชื่อมั่นว่าการขับแกร็บเป็นงานสุจริตและเป็นช่องทางที่ช่วยให้เราสามารถก้าวไปสู่จุดหมายที่วางไว้ได้”
เตรียมตัวให้พร้อม..เพื่อรับมือกับทุก “ความท้าทาย”
คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวและพี่ใหญ่ของกลุ่ม “กัน” อณัญญา วิสุทธิสระ เล่าถึงประสบการณ์ชีวิตของเธอว่า “พี่เลิกกับสามีตั้งแต่ลูกยังเล็ก ตอนตัดสินใจแยกทางกันพี่ไม่มีทรัพย์สินอะไรติดตัวเลย เหลือแต่ภาระหนี้สินที่ต้องรับผิดชอบ ตอนนั้นกลัวมากว่าสังคมจะมองเรายังไง เครียดว่าทำไมชีวิตครอบครัวถึงล้มเหลว แต่เราจะท้อนานไม่ได้เพราะมีลูกที่ต้องดูแล”
เมื่อตั้งปณิธานแน่วแน่แล้ว เธอจึงตัดสินใจทำธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งทุกวันต้องตื่นตั้งแต่ตี 3 เพื่อออกไปซื้อของและเตรียมวัตถุดิบ ก่อนจะเข้ามาขายอาหารในโรงเรียนตั้งแต่เช้าจนถึงกลางวัน พอตกบ่ายก็ต้องเตรียมไปขายอาหารในตลาดต่อตั้งแต่เย็นจนค่ำ เธอเล่าว่าตอนนั้นแทบไม่มีเวลาได้พักผ่อนเลย จนกระทั่งได้มาลองมาขับแกร็บและพบว่าทำให้เธอสร้างรายได้ได้ง่ายขึ้น
“ลูกสาวพี่ชอบเล่นดนตรี ซึ่งการเรียนในสายนี้มีค่าใช้จ่ายสูงมาก แต่พี่ไม่เคยท้อนะเพราะไม่อยากเสียเวลาคิดเรื่องเศร้าๆ สู้เราเอาพลังมาหาทางสร้างรายได้ดีกว่า” กันเล่าต่อว่า “ถ้าเราไม่คิดบวก เราจะยิ่งขาดกำลังใจ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่องาน โดยเฉพาะอาชีพบริการ การสร้างพลังใจให้ตัวเองเป็นเรื่องที่สำคัญมาก พี่จะสอนลูกอยู่เสมอ อย่างตอนที่ลูกสาวพี่ตกรอบออดิชั่นเพราะเจอกับคู่แข่งที่เก่งกว่า เราก็จะสอนเขาว่า ในชีวิตจริงเราเลือกไม่ได้ว่าจะเจอกับคู่แข่งแบบไหน แต่สิ่งที่เราทำได้คือการเตรียมตัว และฝึกซ้อมให้พร้อมในทุกสนาม เหมือนกับงานของแม่ที่เลือกไม่ได้ว่าเราจะเจอคนแบบไหน แต่สิ่งเราทำได้คือการเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมรับมือในทุกสถานการณ์”
ในวันนี้กันได้ส่งเสียลูกสาวจนเรียนจบ และกลายเป็นครูสอนดนตรีอย่างที่ฝันไว้ โดยเมื่อปลายปีที่แล้ว ลูกสาวของเธอได้เก็บเงินซื้อรถใหม่เป็นของขวัญให้กับแม่ ซึ่งเธอบอกว่า นี่ถือเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจสูงสุดในชีวิตของเธอเลยทีเดียว
“เพศ” ไม่ใช่ข้อจำกัดทางอาชีพ
เมื่อก่อนอาชีพขับรถรับ-ส่งผู้โดยสารอาจถูกมองว่าเป็นอาชีพสำหรับผู้ชายเท่านั้น อาจเป็นเพราะกรอบความคิดหรือค่านิยมเดิมๆ แต่ปัจจุบันภาพคนขับรถให้บริการสาธารณะที่เป็นผู้หญิงกลายเป็นสิ่งที่คุ้นตามากขึ้น นอกจากนี้ เทคโนโลยียังได้เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกและยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย ช่วยสร้างความอุ่นใจให้กับทั้งคนขับและผู้โดยสารมากยิ่งขึ้น บุ๋มเล่าว่า “ตอนเริ่มขับแกร็บใหม่ๆ คนจะชอบถามว่ากลัวไหม ซึ่งเราตอบอย่างมั่นใจทุกครั้งว่า ไม่กลัว เพราะแกร็บมีเทคโนโลยีช่วยติดตามตำแหน่งระหว่างการเดินทาง หากเกิดเหตุอันตรายก็มีปุ่มฉุกเฉินเรียกตำรวจได้ทันที และสามารถทราบข้อมูลเบื้องต้นของผู้โดยสาร ทำให้เรารู้สึกปลอดภัย ยิ่งตอนนี้มีบริการ GrabCar (Lady) ก็ยิ่งมั่นใจ อย่างช่วงเวลาดึกๆ ก็จะเน้นรับผู้โดยสารที่เป็นผู้หญิงเพื่อความสบายใจของทั้งเราและลูกค้า”
การขับแกร็บไม่เพียงแต่ช่วยสานฝันให้กับทั้งสามสาว แต่ยังนำพาพวกเธอให้มารู้จักกันจนกลายเป็นเพื่อนรักกัน เกรทเสริมว่า “ครั้งแรกที่เริ่มมาขับแกร็บเมื่อสองปีก่อนก็ยังไม่ค่อยรู้จักใคร ทำให้กังวลเหมือนกันว่าเราจะทำได้ไหม พอได้มาเข้าอบรมสำหรับพาร์ทเนอร์คนขับแกร็บมือใหม่จึงได้มารู้จักพี่บุ๋ม และ พี่กัน ซึ่งพี่ทั้งสองคนจะคอยช่วยสอนเราตลอด ทั้งเรื่องเทคนิคการขับรถ การจัดการกับอารมณ์ รวมถึงเรื่องส่วนตัวอย่างเรื่องความรัก พี่ๆ จะช่วยสแกนผู้ชายที่เข้ามาจีบเราด้วย” เธอหัวเราะ “จนทุกวันนี้เราสามคนสนิทกันมากกว่าเพื่อนรวมงานซะอีก”
More Stories
J&C เปิดตัวสินค้าใหม่ “HERBALANCE”
โรงพยาบาลวิมุต สถาบันประสาทวิทยา และ Agnos health ร่วมทดสอบการใช้งาน ‘AN AN Bot’ AI ช่วยตอบคำถามผู้ป่วย
ครั้งแรกของซุปตาร์ตัวพ่อ “ณเดชน์ คูกิมิยะ” กับการก้าวสู่วงการนวัตกรรมความงาม!