ธุรกิจเครือข่าย/ขายตรง/MLMNEWS
กินเวลากว่า 4 สัปดาห์ ของการเกิดสงครามระหว่างรัสเซีย กับยูเครน ตั้งแต่คืนวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยรัสเซียได้สังหารทหารยูเครนที่ล้ำพรมแดนไป 5 ราย ก่อนจะเคลื่อนพลเข้ายูเครนตะวันตกพร้อมประกาศว่า ยูเครนตะวันตกจะเป็นอีกประเทศที่แยกออกมาจากยูเครนเดิม จึงส่งผลให้สถานการณ์ตึงเครียดเป็นอย่างมาก พร้อมเกิดการสู้รบกันอย่างหนัก ซึ่งล่าสุด รัสเซียเปิดฉากโจมตีทางอากาศ โดยยิงขีปนาวุธ 30 ลูก ใส่ศูนย์รักษาสันติภาพนานาชาติและความมั่นคงของยูเครน ทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง
หากไม่นับรวมกับการระบาดของโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่แพร่ระบาดไปอย่างรวดเร็ว สงครามครั้งนี้ส่งให้ตลาดการลงทุนทั่วโลกเกิดการผันผวนอย่างหนัก เกิดภาวะเงินเฟ้อทั่วโลกที่สูงขึ้นจนกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน น้ำมัน และราคาทองคำทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นเป็นอย่างมาก กระทบต่อเนื่องไปถึงภาคการขนส่ง การผลิต และภาคธุรกิจ การลงทุน การน้ำเข้า การส่งออก
ในส่วนของประเทศไทย แม้ราคาทองคำจะพุ่งสูงขึ้นถึงบาทละกว่า 31,000 บาท ทำให้ประชาชนแห่นำทองคำแท่ง ทองคำรูปพรรณ ออกมาขายกันเป็นจำนวนมาก บางคนเก็บสะสมทองคำไว้เป็นจำนวนมาก เมื่อนำออกมาขายช่วงนี้จะได้กำไรหลายแสนบาท
ในทางกลับกัน อัตราเงินเฟ้อ ส่งผลให้ภาคเศรษฐกิจไทยชะลอตัว กำลังซื้อถดถอย หากยืดเยื้อจะยิ่งส่งผลเสียต่อภาคเศรษฐกิจ ในภาคครัวเรือน หลังจากสิ้นสุดการตรึงราคาก๊าซหุงต้มในวันที่ 31 มีนาคมนี้ ในวันที่ 1 เมษายน จะมีการปรับราคาก๊าซหุงต้มถัง 15 กก. อีกถังละ 30 บาท นั่นจะทำให้ราคาอยู่ที่ 363 บาทต่อถัง ซึ่งไม่รวมถึงเครื่องอุปโภค บริโภคต่างๆ ในครัวเรือนที่มีราคาขยับสูงขึ้นอีก
ด้านธุรกิจ ผู้ประกอบการเองก็ได้รับผลพวงจากสงครามเช่นกัน เพราะราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดต้นทุนการผลิต การขนส่ง การนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ทุกอย่างปรับราคาสูงขึ้นกว่า 1 เท่าตัว ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ผู้ประกอบการภาคธุรกิจในขณะนี้ต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
ขณะที่ธุรกิจเครือข่าย ถึงแม้ที่ผ่านมาการระบาดของโควิดแต่ละระรอกจะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นผลสะท้อนทำให้การดำเนินธุรกิจต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ จึงเป็นธุรกิจที่เรียกได้ว่า “แทบจะไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด” เลยก็ว่าได้ แต่กลับเป็นโอกาสของธุรกิจที่ได้สร้างฐานลูกค้าใหม่ ทั้งยังพัฒนาศักยภาพสมาชิกในองค์กรให้ได้เรียนรู้การทำธุรกิจผ่านออนไลน์ ควบคู่ออฟไลน์ไปพร้อมๆ กัน
อย่างไรก็ตาม สงครามครั้งนี้ มีเสียงสะท้อนของผู้ประกอบการขายตรงเห็นพ้องเป็นเสียงเดียวกันว่า จากราคาน้ำมันที่แพงขึ้น เงินเฟ้อที่สูงขึ้น ทำให้เกิดต้นทุนการผลิต การขนส่งที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทต้องแบกรับ และยังจะไม่ปรับราคาสินค้าขึ้นอย่างแน่นอน ขณะที่ประชาชนมีกำลังซื้อที่น้อยลง จะส่งผลต่อด้านยอดขายที่อาจลดลงหากสงครามยังยืดเยื้อต่อไป
นายพงษ์กฤตย์ องค์ศิริวัฒนา นายกสมาคมอุตสาหกรรมขายตรงไทย เปิดเผยกับทีมข่าว MLM NEWS ONLINE ว่า หากเทียบกับ 13 ปีที่ผ่านมา ตอนนี้ถือเป็นวิกฤตเงินเฟ้อที่สูงสุด เกินจากเป้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ไว้ ซึ่งภาวะเงินเฟ้อนั้น เห็นได้จากกลุ่มพลังงานที่สูงขึ้น ทั้งน้ำมัน ไฟฟ้า เป็นพื้นฐานหลักที่ทำให้เกิดอัตราเงินเฟ้อ ส่งผลให้ต้นทุนของธุรกิจแพงขึ้น ซึ่งเชื่อว่าภาพรวมครึ่งปีแรก คนใช้สอยอย่างระมัดระวังและยังให้ความสำคัญของค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ยิ่งมีสงคราม เงินเฟ้อมาตอกย้ำต้องคิดถึงการใช้จ่ายให้มากขึ้นด้วย
สำหรับผลกระทบของธุรกิจขายตรง และธุรกิจทั่วไปนั้น นายพงษ์กฤตย์ ระบุว่า “จะส่งผลให้ต้นทุนสินค้า และการขนส่ง เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 5 – 7% ด้านค่าบริหาร ค่าน้ำมัน ค่าใช้จ่าย ก็มีมิติที่เพิ่มขึ้นคู่ขนานกัน นอกเหนือจากอัตราการเร่งของโควิด ที่ทำให้ตลาดอีคอมเมิร์ชเติบโตขึ้นหลายเท่า จึงทำให้ลูกค้ากลุ่มที่มีความภักดีต่อ แบรนด์และสินค้า หันมาเลือกสินค้าออนไลน์มากขึ้น รวมถึงสินค้ามีราคาถูก จึงทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้ลดลงไป ขณะที่ยังมีภาวะของคนตกงาน และโควิดทำให้คนต้อง WFH กันมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจ MLM เป็นอีกหนึ่งในโอกาสและเป็นทางเลือกให้กลุ่มผู้บริโภคที่ทำคู่ขนานไปได้
แต่ทั้งนี้ ก็ยังมีในมุมที่ไม่กระทบต่อธุรกิจขายตรง คือ 1. ขายตรงมีสินค้าที่มีความชัดเจน โดดเด่นที่มากกว่าสินค้าทั่วไป 2. ในธุรกิจมีเรื่องความภักดีต่อแบรนด์และสินค้า ซึ่งเป็นฐานสำคัญของการซื้อซ้ำ ใช้ดีบอกต่อ ทั้งให้ข้อมูลสินค้าเชิงลึก ควบคู่การให้ความรู้ การจัดทริปท่องเที่ยวสำหรับสมาชิก ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้มีความภักดีต่อแบรนด์มากขึ้น 3. เป็นช่องทางหารายได้ ลงทุนน้อย มีรายได้ที่มากกว่า เมื่อเทียบกับธุรกิจที่ต้องลงทุนสูง ทั้งต้องบริหารคน สินค้า และต้นทุนค่าจัดส่ง” นายพงษ์กฤตย์ กล่าวเสริม
ด้าน ดร.ณสพน โพธิ์วิจิตร ประธานกรรมการบริหารบริษัท ซีซีไอ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ชี้ว่า ภาวะเงินเฟ้อ และราคาน้ำมันที่สูง ส่งผลการผลิตสินค้ากลุ่มอาหารเสริมที่ได้รับผลกระทบคือ กลุ่มอาหารโปรตีน คอลลาเจน ซึ่งมีต้นทุนสินค้าสูงขึ้น โดยเฉพาะสารตั้งต้นที่นำมาทำโปรตีน เพิ่มขึ้นกิโลกรัมละ 600 บาท คอลลาเจนนำเข้า เพิ่มขึ้นกิโลกรัมละ 10,000 บาท ซึ่งราคาที่เพิ่มขึ้นนี้ไม่รวมค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นอีกกว่า 1 เท่าตัว
จากการที่ซีซีไอมีการผลิตสารตั้งต้นเอง และส่วนใหญ่ทำสารสกัดสารแต่ละชนิดเอง ทำให้ควบคุมราคาได้ ไม่มีการปรับขึ้นราคา และไม่ลดคุณภาพ ทั้งมีการวางแผนทำให้สินค้าเข้มข้นขึ้น ขณะที่การบริโภคจำนวนลดลง และลูกค้าได้ซื้อในราคาที่ถูกลงด้วย
“แม้ราคาต้นทุนวัตถุดิบและการผลิตจะเพิ่มขึ้น แต่ด้วยบริษัทมีโรงงานการผลิต และมีการวิจัยด้วยตนเอง จึงสามารถบริหารราคาสินค้าได้ เมื่อเทียบกับการไม่มีโรงงานผลิตเอง ราคาสินค้าจะสูงขึ้นอีก 20 – 30%” ดร.ณสพน ระบุ
ถึงสงครามและโควิด จะเป็นวิกฤตที่กระทบไปทั่วโลก แต่ด้วยความเป็นบริษัทโดดเด่นด้านสินค้านวัตกรรม ทั้งแต่ละผลิตภัณฑ์ของซีซีไอที่ออกมาแต่ละรายการ ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างดี ดังนั้น ซีซีไอ จะขับเคลื่อนกลยุทธ์รุกตลาดในปีนี้ด้วยการ 1. ชูความเป็นสินค้าไทย ด้วยนวัตกรรมของคนไทยโดยนักวิจัยไทย 2. ไม่ปรับราคาขึ้น แต่คงด้วยคุณภาพเดิม 3. ความพร้อมของบริษัทด้านต่างๆ โรงงานผลิต การวิจัย มีที่ตั้งบริษัทของตนเอง ทั้งหมดจึงเป็นการสร้างเชื่อมั่นให้สมาชิก และผู้บริโภคได้มั่นใจในธุรกิจและสินค้าของซีซีไอ
ส่วน ดร.กัมปนาท บุญราศรี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอยรา แพลนเน็ต จำกัด มองว่า ถึงแม้ซึ่งภาวะเงินเฟ้อ น้ำมัน เป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ แต่ภาพรวมด้านการตลาดยังต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นเรื่องท้าทายของผู้ประกอบการ ไม่ปรับราคา มีกำไรลดลง เพื่อเพราะให้ธุรกิจทุกฝ่ายไปต่อได้ หากปรับตัวแล้ว ยังเพิ่มมากขึ้นไม่ไหว นั่นเป็นเรื่องของ นโยบายราคา หากปรับตอนนี้เป็นเรื่องอ่อนไหว ต้องยอมรับว่าต้นทุนสูงขึ้นแน่นอน แม้กระทั่งการลงพื้นที่ทำตลาดก็มีต้นทุนสูงขึ้น
“แต่ละบริษัทต้องรักษาฐานสมาชิกและฐานลูกค้าของตัวเองให้ดี เพราะการมีฐานผู้บริโภคอยู่ในมือ เป็นการรักษาฐานซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการทำการตลาดในยุคนี้ ควบคู่การกลยุทธ์ 1.การรักษาฐานลูกค้าและสมาชิก 2. รุกการตลาดออนไลน์เชิงรุก ทำมาร์เก็ตติ้ง ออนไลน์ เทรนนิ่ง มีทติ้ง 3. ชูแบรนด์ และความมั่นคง 4. เน้นการสร้างชุมชน มีการแบ่งปัน สร้างความรู้ เพื่อยกระดับวิสัยทัศน์ของคนในชุมชน หาคอนเน็คชั่น” ดร.กัมปนาถ กล่าว
ขณะที่ นายธนพงศ์อมร ศิลป์สว่าง ประธานผู้ก่อตั้งบริษัทในเครือ GTP ระบุว่า ด้วยในช่วงเวลาที่ผ่านมา บริษัทมีการปรับตัวในการรับมือกับสถานการณ์โควิด 19 จึงนำมาประยุกต์ให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจในช่วงเกิดสงครามต่างประเทศ ทำให้บริษัทสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากปัจจัยต่างๆ ได้เป็นอย่างดี พร้อมทั้งได้เตรียมแผนกลยุทธ์ขยายธุรกิจ ด้วยการเปิดรูปแบบธุรกิจใน 3 รูปแบบ คือ การเปิดรับหุ้นส่วนสมาชิกในระดับโมบาย ในระดับเซ็นเตอร์ และในระดับสาขาหรือศูนย์การเรียนรู้ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี รวมถึงการขยายฐานผู้บริโภค โดยใช้ผลิตภัณฑ์ที่เข้าถึงผู้บริโภคในทุก generation ให้มีทางเลือกมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการดูแลสุขภาพ ความงาม ในชีวิตประจำวัน และผลิตภัณฑ์เพื่อการเกษตรอีกด้วย
สุดท้าย ไม่ว่าบทสรุปของสงครามแบ่งแยกดินแดนจะจบเร็ว หรือยืดเยื้อต่อไป บวกกับยังมีการระบาดของโควิดอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าภาพรวมของเศรษฐกิจครึ่งปีแรกจะส่งผลให้การทำธุรกิจมีความยาก ในส่วนของธุรกิจขายตรงนั้น การถอดบทเรียนการปรับตัวดำเนินธุรกิจในช่วงโควิด จะสามารถนำมาใช้กับผลพวงของสงครามครั้งนี้ได้มากน้อยเพียงใด คงต้องติดตามดูกันต่อไป หรืออีกนัยหนึ่ง อาจเป็นไปได้ว่าธุรกิจขายตรงจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะคนหันมาให้ความสนใจจับเป็นอาชีพเสริม หรืออาชีพหลักมากขึ้นก็ได้
ซึ่งไม่ว่าสถานการณ์ในประเทศจะเกิดผลกระทบจากโควิด หรือสงครามต่างประเทศที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย รัฐบาลก็ต้องมีมาตรากรรองรับการแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างดีที่สุด เพื่อให้เศรษฐกิจชาติฟื้นคืนกลับมาโดยเร็ว นำไปสู่การใช้ชีวิตด้านค่าครองชีพของประชาชนที่สามารถมีรายได้เป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัวได้อย่างไม่เดือดร้อน ส่งผลให้ชีวิตประชาชนมีความสุขกันมากขึ้น
More Stories
“กิฟฟารีน” เปิดกระหึ่ม “Giffarine Flagship Store” ภูเก็ต เจาะใจกลางเมือง รับทัพลูกค้าไทย-นักท่องเที่ยวต่างชาติ
แอมเวย์ สร้างความสุข ส่งเสริมให้ผู้คนมีสุขภาพที่ดี ส่งท้ายปี
“กิฟฟารีน” ยืนหนึ่งแบรนด์สุขภาพและความงามสัญชาติไทย