จัดทริปไร้คาร์บอน ลงนาม MOU หนุนหมู่เกาะหมาก พื้นที่ต้นแบบสังคมคาร์บอนต่ำ ต่อยอดการศึกษา Blue Carbon จากหญ้าทะเล
ระยะทางราว 25 กิโลเมตรจากชายฝั่งจังหวัดตราด เป็นที่ตั้งของหมู่เกาะที่เรียงรายกันและเป็นที่รู้จักในชื่อหมู่เกาะหมาก ที่มีเกาะขนาดใหญ่อย่าง เกาะหมาก และ เกาะกระดาด เป็นชื่อคุ้นหูนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ โดยช่วงก่อนโควิด-19 ในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาเยือนเกาะหมากราว 60,000-80,000 คน สัดส่วนประมาณ 75% เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้ยินปากต่อปากถึงความสงบ สวยงาม และยังเป็นธรรมชาติของที่นี่จนดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มียอดการใช้จ่ายต่อทริปสูงเข้ามาได้มาก ส่วนอีกประมาณ 25% นั้นเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางเพื่อสัมผัสกับน้ำทะเลใส ๆ และอากาศที่สดชื่นบริสุทธิ์
“เกาะหมากเป็น Dream Destination สำหรับนักท่องเที่ยว แต่สำหรับบางจากฯ ในฐานะผู้นำการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่มุ่งมั่นร่วมขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำแล้ว เกาะหมากมีความสำคัญมากกว่านั้น บริเวณหมู่เกาะหมากถือเป็นพื้นที่ต้นแบบของประเทศในการร่วมบรรเทาภาวะวิกฤติของโลกด้านสภาพภูมิอากาศ เพราะได้ชื่อว่าเป็นแหล่งหญ้าทะเลในแนวปะการังผืนใหญ่ของภาคตะวันออก ซึ่งเดิมเคยมีหญ้าทะเลจำนวนมากแต่ได้รับผลกระทบสภาพอากาศที่แปรเปลี่ยนทำให้หญ้าทะเลในพื้นที่เสื่อมโทรมลดน้อยลง การฟื้นฟูตามธรรมชาติให้กลับมาอีกครั้งอาจใช้เวลานาน แต่การเข้าไปช่วยเหลือฟื้นฟูจะช่วยให้แหล่งหญ้าทะเลในแนวปะการังกลับมาสมบูรณ์เร็วขึ้นได้ นอกจากนี้ เกาะหมากยังเป็นพื้นที่เป้าหมายแห่งแรกในโครงการแหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำของประเทศไทยที่องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เป็นผู้ริเริ่มการขับเคลื่อน”
กลอยตา ณ ถลาง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อความยั่งยืน บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บางจากฯ ได้สนับสนุนและร่วมมือกับคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในการศึกษา Blue Carbon จากการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ของแหล่งหญ้าทะเลในแนวปะการังภาคตะวันออกเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งการดูดซับคาร์บอนด้วยวิถีธรรมชาติจากหญ้าทะเลนี้ กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากทั่วโลก โดยข้อมูลของ IUCN (International Union for Conservation of Nature) เมื่อปีที่แล้ว รายงานว่าหญ้าทะเลเป็นพืชกลุ่มเดียวที่อยู่ในทะเลเต็มตัวจึงมีความสามารถเฉพาะตัวในการดูดซับและกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าป่าบนบกถึง 7-10 เท่า
“การมาที่เกาะหมากในครั้งนี้ของบางจากฯ ไม่เพียงเพื่อศึกษาแนวทางการปลูกหญ้าทะเล หรือ Blue Carbon ซึ่งนับเป็นเครื่องมือสำคัญในการดูดซับและกักเก็บคาร์บอนตามวิถีธรรมชาติ หนึ่งในพันธกิจสำคัญตามเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2050 โดยมีเป้าหมายแรกอย่างความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2030 ของกลุ่มบางจากฯ แต่ยังครอบคลุมโอกาสเพื่อร่วมพัฒนาพื้นที่เกาะหมากสู่เป้าหมายการเป็น Low Carbon Destination ในฐานะพื้นที่ต้นแบบของสังคมคาร์บอนต่ำในเมืองไทย ที่ครอบคลุมทั้งความสวยงามทางธรรมชาติที่ยังสมบูรณ์ถูกรบกวนจากปัจจัยภายนอกน้อย วิถีชีวิตของผู้คนบนเกาะ การใส่ใจดูแลธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังจากชุมชนท้องถิ่นและต่างยึดถือในข้อตกลงธรรมนูญเกาะหมากร่วมกันเพื่อเน้นย้ำความเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ งดส่งเสียงดังหรือกระทำการรบกวนในเวลา 22.00 น. – 07.00 น. ไม่สนับสนุนใช้วัสดุจากโฟม หรือ วัสดุที่เกิดมลพิษเพื่อบรรจุอาหาร จักรยานยนต์ให้เช่าต้องไม่เกินร้อยละ 70 ของจำนวนห้องพัก เป็นต้น”
ทริปนี้ไม่มีรอยเท้าคาร์บอน เดินทางแบบรบกวนโลกให้น้อยที่สุด
เมื่อเร็ว ๆ นี้ กลุ่มบางจากฯ จึงได้จัดให้มีการลงนามความร่วมมือพัฒนาพื้นที่และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน สู่ Low Carbon Destination หมู่เกาะหมาก อ.เกาะกูด จ.ตราด ระหว่าง 6 หน่วยงาน ประกอบด้วย บริษัท บางจากฯ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ องค์การบริหารส่วนตาบลเกาะหมาก และ วิสาหกิจชุมชนเกษตรผสมผสานบ้านอ่าวนิด เพื่อร่วมผลักดันให้เกาะหมากเป็นแหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย และเชิญชวนให้สื่อมวลชนได้ลงพื้นที่ไปสัมผัสสถานที่จริง ณ บริเวณเกาะหมาก และ เกาะกระดาด พร้อมทั้ง ร่วมเรียนรู้แนวทางการฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเล สร้างสมดุลสู่ธรรมชาติและดูแลสิ่งแวดล้อมตามแนวทางลดโลกร้อน
โดยมีผู้ร่วมลงนามได้แก่ นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทบางจากฯ นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุริยัน ธัญกิจจานุกิจ คณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายนพดล สุทธิธนกูล ประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรผสมผสานบ้านอ่าวนิด อ. เกาะกูด จ. ตราด และ นายนล สุวัจนานนท์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะหมาก โดยมี นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ให้เกียรติเป็นพยานในการลงนามดังกล่าว และมีสื่อมวลชนจากกรุงเทพฯ และในพื้นที่ร่วมการเดินทางด้วยจำนวนหนึ่ง
การเดินทางในครั้งจัดขึ้นแบบ Low Carbon ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น การใช้กระบอกน้ำส่วนตัว การใช้รถไฟฟ้าในการเดินทางบนเกาะ ฯลฯ และกลุ่มบางจากฯ มีการชดเชยให้การเดินทางครั้งนี้เป็น Carbon Neutral ภายหลังจบทริป 3 วัน 2 คืน ด้วยการชดเชยคาร์บอนเครดิตที่ประเมินจากการเดินทางครั้งนี้จำนวน 10 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จากบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) บริษัทในกลุ่มบางจากฯ ซึ่งดำเนินธุรกิจพลังงานหมุนเวียนระดับแนวหน้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อให้การมีส่วนร่วมในกิจกรรมกับบางจากฯ ของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนรวมแล้วกว่า 75 คนเป็นมิตรต่อโลกและไม่เป็นภาระต่อสิ่งแวดล้อม สอดรับกับแนวทางการร่วมบรรเทาวิกฤตโลกร้อนและต่อยอดในโครงการ Bangchak 100X Climate Action ที่บางจากฯ ริเริ่มขึ้นในปีนี้เพื่อรณรงค์เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและเชิญชวนให้ทุกคนมีส่วนช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อน
ร่วมขับเคลื่อน Low Carbon Destination ด้วยนวัตกรรมสีเขียว
นางกลอยตา กล่าวต่อว่า บางจากฯ พร้อมนำเอาศักยภาพและความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ มาร่วมสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาเกาะหมากบนแนวทางความยั่งยืน อาทิ การนำมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า Winnonie ไปให้ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวในพื้นที่ได้ทดลองใช้เพื่อศึกษาความเหมาะสมผ่านทาง อบต. เกาะหมาก ซึ่งในเบื้องต้นมีการขยายระยะเวลาให้ทดลองใช้ต่อเนื่องไปจากเดิม 2 เป็น 3 เดือน รวมถึงสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่นถุงมือและเสื้อที่ผลิตจากขวด PET รีไซเคิลมอบให้ทีมอาสาสมัคร Trash Heroes Koh Mak สำหรับเก็บขยะชายหาด และทีมงานวิสาหกิจชุมชนเกษตรผสมผสานบ้านอ่าวนิด ใช้สำหรับกิจกรรมอนุรักษ์และฟื้นฟูหญ้าทะเล รวมถึงมีการศึกษาความเป็นไปได้ของความร่วมมืออื่น ๆ เช่น โรงเรียน Net Zero จากการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด เป็นต้น ในขณะเดียวกันก็จะเชิญชวนให้โรงเรียนบ้านเกาะหมากเข้าร่วมโครงการของมูลนิธิใบไม้ปันสุข ได้แก่ อ่านเขียนเรียนสนุก และโซลาร์ปันสุข เพื่อช่วยสร้างความยั่งยืนตั้งแต่ขั้นพื้นฐานคือด้านการศึกษาและการพัฒนาเยาวชน
“สำหรับการลงพื้นที่ศึกษา บลู คาร์บอน ในพื้นที่เกาะหมากร่วมกับคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ล่าสุดสะท้อนให้เห็นว่าแหล่งหญ้าทะเลบริเวณหมู่เกาะหมากมีความเสถียรสูงมาก ไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยยะจากมนุษย์ แสดงถึงการดูแลรักษาทะเลในพื้นที่ของประชาชนเกาะหมากที่ทำอย่างจริงจังและต่อเนื่อง สภาพความสมบูรณ์เช่นนี้มีประโยชน์ในด้านการกักเก็บคาร์บอนในระยะยาว อันจะมีส่วนสำคัญต่อแผนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำของประเทศไทย ขั้นตอนต่อไปหลังจากนี้จะเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลดูดซับ/กักเก็บคาร์บอน สำรวจเพิ่มเติม ตลอดจนวางแผนในการปลูกหญ้าทะเลโดยใช้เทคนิควิธีการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและรบกวนธรรมชาติน้อยที่สุด”
บางจากฯ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการสนับสนุนการศึกษาเรื่องบลูคาร์บอนในประเทศไทย ควบคู่กันไปกับการสนับสนุนสังคมคาร์บอนต่ำต้นแบบของผู้คนบนเกาะหมากที่ใส่ใจเรื่องการใช้ชีวิตแบบโลว์คาร์บอน สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ที่มีมุ่งพัฒนานวัตกรรมธุรกิจอย่างยั่งยืนไปกับสิ่งแวดล้อมและสังคม เน้นปรับปรุงประสิทธิภาพลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ขยายธุรกิจด้านนวัตกรรมสีเขียว เพื่อรบกวนโลกให้น้อยลง
“พร้อมกันนี้ อยากขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วมกัน ‘ลด’ การสร้างรอยเท้าคาร์บอนให้แก่โลกจากกิจกรรมประจำวัน ‘ละ’ เว้นการสร้างภาระให้โลก และ ‘เริ่ม’ ลงมือทันทีเพื่อส่งผลดีสิ่งแวดล้อม เพราะอย่างที่เราทราบกันว่าปัญหาโลกร้อนไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นสิ่งที่เราทุกคนสามารถมีส่วนร่วม ลด ละ และ เริ่ม ได้เลยตั้งแต่วันนี้นะคะ” นางกลอยตา กล่าวทิ้งท้าย
More Stories
TEKA รับโล่ประกาศเกียรติคุณสนับสนุนการจ้างงานคนพิการทางสติปัญญา
CIMB Thai เปิดตัวโครงการ CIMB Charity Pop กับ Art Toy สุดน่ารัก พร้อมตอบแทนสังคม
SCB Academy ธนาคารไทยพาณิชย์ มอบเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาแก่ มูลนิธิพระดาบส และโรงเรียนพระดาบส