กรุงเทพฯ 22 กุมภาพันธ์ 2566 — นับตั้งแต่ที่พันธมิตรเครือข่ายความร่วมมือว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการควบคุมโรคไข้เลือดออกในประเทศไทย Dengue-Zero1 ได้ลงนามเมื่อเดือนมกราคม 2565 เพื่อร่วมกันทำงานตามกลยุทธ์เพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกในประเทศไทยอย่างยั่งยืน ในวาระครบรอบหนึ่งปีของการลงนามได้จัดให้มีการประชุมเพื่อรายงานผลการดำเนินการภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ปี 2565 พร้อมเปิดตัวเว็บไซต์ www.KnowDengueTH.com แหล่งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับไข้เลือดออก ซึ่งร่วมจัดทำโดยพันธมิตรของความร่วมมือฯ ได้แก่ กองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อในเด็ก และ ทาเคดา ประเทศไทย บริษัทชีวเภสัชภัณฑ์ระดับโลกที่ขับเคลื่อนด้วยการวิจัยและพัฒนา
ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา พันธมิตรเครือข่าย Dengue-Zero ได้บรรลุเป้าประสงค์เพื่อเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานของระบบการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกดังนี้
- ยกระดับการรายงานข้อมูลไข้เลือดออกของประเทศให้มีความรวดเร็วและถูกต้อง จัดทำแผนแม่แบบ ระบบ และกระบวนการการดำเนินการประสานความร่วมมือของพันธมิตร
- ออกแคมเปญสร้างความตระหนักรู้ โดยเริ่มตั้งแต่การประชาสัมพันธ์ ‘วันไข้เลือดออกอาเซียน’ หรือ ASEAN Dengue Day ซึ่งตรงกับวันที่ 15 มิถุนายน ของทุกปี ให้แก่ภาคประชาชน
- การเปิดตัว ‘อิงมา’ Dengue Virtual Human หรือมนุษย์ที่สร้างขึ้นแบบเสมือนจริงเพื่อเป็นตัวแทนของผู้ป่วยไข้เลือดออกในไทยจำนวน 1,237,467 คนในช่วงเวลา 15 ปีที่ผ่านมา เพื่อกระตุ้นความตระหนักรู้ของโรคไข้เลือดออกตามสื่อต่าง ๆ
อีกทั้งมีการจัดกิจกรรมภายใต้หัวข้อ ‘ไข้เลือดออก ใกล้ตัวและน่ากลัวกว่าที่คิด’ ให้แก่ชุมชนและพื้นที่เสี่ยงในเขตกรุงเทพมหานคร สนับสนุนโดย พันธมิตรความร่วมมือ Dengue-Zero บริษัท ทาเคดา (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด นำร่องโครงการฯ ที่โรงเรียนประชาอุทิศ (จันทาบอนุสรณ์) เขตดอนเมือง โรงเรียนวัดหลักสี่ (ทองใบทิวารีวิทยา) เขตหลักสี่ ศูนย์บริการสาธารณสุขทุ่งสองห้อง แขวงทุ่งสองห้อง และศูนย์บริการสาธารณสุข 64 เขตคลองสามวา ซึ่งเป็นความร่วมมืออย่างต่อเนื่องเพื่อถ่ายทอดความรู้เรื่องโรคและการปฏิบัติจริงในการป้องกันและควบคุมให้กับผู้นำชุมชนและอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) ที่มีการระบาดของไข้เลือดออกสูง ตลอดปี 2565 ทั้งนี้ ได้จัดงาน ‘เชิดชูเกียรติคุณ ชุมชนตัวอย่าง ห่างไกลไข้เลือดออก’ ให้กับอาสาสมัครสาธารณสุข ศูนย์บริการสาธารณสุข 64 เขตคลองสามวา เพื่อประกาศเกียรติคุณเพื่อส่งเสริมการแสดงออกถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจในการสร้างชุมชนให้ปลอดจากไข้เลือดออกอย่างจริงจัง โดยมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ให้เกียรติเป็นประธานและร่วมชื่นชมในความมุ่งมั่นของเหล่าอสส. เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “การร่วมมือเพื่อควบคุมและป้องกันโรคไข้เลือดออก ซึ่งเป็นโรคร้ายแรงที่อาจเสี่ยงถึงชีวิตและมีผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ต้องอาศัยการพัฒนาในหลากหลายมิติ ไม่สามารถมาจากส่วนกลางได้อย่างเดียว ต้องมีการกระจายและเชื่อมโยงไปยังพื้นที่ชุมชน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ สร้างกิจกรรมที่กระตุ้นจิตสำนึก และประสานงานอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างภาครัฐและเอกชน อาสาสมัครสาธารณสุขเป็นฟันเฟืองสำคัญ ที่จะเข้าถึงชุมชนอย่างครอบคลุม หยั่งลึกถึงราก เปรียบเสมือนเส้นเลือดฝอย ที่ช่วยกระจายความรู้ ดูแลกันและกัน และเกิดการปฏิบัติจริง การขับเคลื่อนถึงจะสัมฤทธิ์ผล”
นางเบญจพร เมืองอินทร์ ประธานอาสาสมัครสาธารณสุข ศูนย์บริการสาธารณสุขเขต 64 คลองสามวา ซึ่งได้ทำงานเป็นอาสาสมัครมากว่า 20 ปี เสริมว่า “การสร้างความตระหนักรู้เรื่องโรคไข้เลือดออกให้ได้ประสิทธิผล ต้องอาศัยการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชน หากจะจัดการอบรมให้ความรู้เรื่องโรคเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ จึงต้องมีการอธิบายเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจ เน้นกิจกรรมที่ทำจริง เช่น การพ่นหมอกควันอย่างเดียวไม่ได้แปลว่าคนในชุมชนจะวางใจเรื่องไข้เลือดออกได้ ต้องร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายด้วย ทำความเข้าใจกับวิธีการป้องกันที่ถูกต้อง เพราะการช่วยกันดูแลคนในชุมชนแบบเท่าเทียมกัน เหมือนดูแลญาติ ก็เท่ากับการดูแลตัวเราเอง เพราะถ้ามีคนใดคนนึงในชุมชนเป็นโรคไข้เลือดออก ก็จะสามารถระบาดมาถึงครอบครัวเราต่อไปได้”
นายปีเตอร์ สไตรเบิล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทาเคดา (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวปิดท้ายว่า “พันธมิตรเครือข่ายภายใต้ความร่วมมือ Dengue-Zero จะเดินหน้าขับเคลื่อนการส่งเริมความตระหนักรู้เรื่องไข้เลือดออกที่เป็นประโยชน์แก่ชุมชน การพัฒนาและการต่อยอดระบบการป้องกันที่มีประสิทธิภาพเพื่อควบคุมการระบาดอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เว็บไซต์ www.KnowDengueTH.com จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสื่อสารที่ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูล ความรู้ และรู้ทันโรคไข้เลือดออกได้ทุกที่ทุกเวลา”
โรคไข้เลือดออกในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย นับเป็นร้อยละ 70 ของภาระโรคไข้เลือดออกทั่วโลก ที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนกว่า 390 ล้านชีวิต และมีผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลกว่า 500,000 รายต่อปี โรคไข้เลือดออกเป็นโรคติดต่อที่มียุงลายเป็นพาหะ องค์การอนามัยโลกจัดให้เป็น 1 ใน 10 อันดับปัญหาด้านสาธารณสุขของโลก มีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ เป็นแล้วสามารถเป็นอีกได้ ในบางรายอาจอันตรายถึงชีวิต อาการ ได้แก่ ไข้ขึ้นสูง ผื่นจุดแดงขึ้นตามตัว และปวดกล้ามเนื้อและข้อ เป็นต้น การควบคุมและป้องกัน ทำได้โดยการพ่นยากำจัดในแหล่งน้ำนอกบ้าน การพ่นหมอกควัน การติดมุ้งลวดในบ้าน การใช้ยากันยุง หรือการสวมใส่เสื้อผ้าที่ปกป้องผิวกาย
More Stories
Dow ประกาศผู้ชนะรางวัลนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ครั้งที่ 35
ออมสิน จัดงานวันออมแห่งชาติ ประจำปี 2567 ชวนออมเงินอย่าออมมือ
มิสเตอร์พูล ร่วมงาน บ้านและสวนแฟร์ Living Festival 2024