กรมการท่องเที่ยวเร่งแก้ปัญหาแรงงานภาคการท่องเที่ยวและบริการขาดแคลน หลังเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวฟื้นฟูจากสถานการณ์โควิด-19 โดยมุ่งสร้างมาตรการระยะสั้น กลาง และยาว ทั้งการเพิ่มช่องทางการจัดหางาน การพัฒนาทักษะการทำงาน การเพิ่มตำแหน่งงานหรือสัญชาติใน MOU แรงงานต่างด้าว หรือการรับนักศึกษาฝึกงานและให้ค่าตอบแทนการทำงาน รวมถึงการปรับปรุงหลักสูตรการสอนด้านท่องเที่ยวให้มีความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับ ความต้องการแรงงานของผู้ประกอบการ
นายจาตุรนต์ ภักดีวานิช อธิบดีกรมการท่องเที่ยว เปิดเผยว่า จากการประชุมหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษาที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้ความสำคัญและสั่งการ ให้มีการบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
ข้อสรุปการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนในระยะสั้น ได้แก่ การส่งเสริมการเข้าใช้งานแพลตฟอร์ม “ไทยมีงานทำ” การส่งเสริม ให้เกิดการจ้างงานโดยการเพิ่มช่องทางในการจัดหางาน การจัดอบรมระยะสั้นเพื่อพัฒนาทักษะการทำงาน การศึกษาการจ้างแรงงานต่างชาติแบบชั่วคราว การพิจารณาเพิ่มตำแหน่งงานหรือสัญชาติใน MOU แรงงานต่างด้าว การจ้างงานระยะสั้นสำหรับผู้ว่างงานหรือผู้ที่ต้องการหารายได้เสริมและผู้สูงอายุ รวมถึงการรับนักศึกษาเข้าฝึกงานและให้ค่าตอบแทนการทำงาน ตลอดจนการขยายฐานการจ้างงานให้สามารถจ้างแรงงานที่เป็นยุวชนได้
ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะกลาง ประกอบด้วย การปรับปรุงหลักสูตรโดยเน้นการฝึกปฏิบัติ การนำมาตรฐาน ที่เกี่ยวข้องมาปรับเป็นรายวิชาที่จำเป็นในหลักสูตร การพัฒนาแพลตฟร์อม “ไทยมีงานทำ” ให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น การจัดทำ Credit Bank รวมถึงการพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำของแรงงานต่างชาติในการขอรับการตรวจ ลงตราประเภท Non-Immigrant B
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะยาว ต้องมีการปรับรูปแบบธุรกิจ การปรับรูปแบบการจ้างงานบางตำแหน่งงานเป็นการจ้างงานรายชั่วโมง การปรับปรุงหลักสูตรการสอนด้านท่องเที่ยวให้มีความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับความต้องการแรงงานของผู้ประกอบการ การจัดทำดัชนีชี้นำธุรกิจท่องเที่ยว สร้างแรงจูงใจให้กับผู้ประกอบการและแรงงานในการจ้างงานภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งจัดตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยวและผู้ประกอบการ
“ที่ประชุมได้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาในแต่ละข้อ รวมถึงกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่ รวมทั้งแนวทางในการดำเนินงานที่สามารถทำได้ เพื่อจะได้สรุปนำเข้า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติและที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อมอบหมายให้ดำเนินการได้ทันที” นายจาตุรนต์ กล่าว
More Stories
การเคหะแห่งชาติ ระดมกูรูด้านภัยพิบัติ “ ตั้งรับ ปรับตัวกับภัยพิบัติ ”
“เอกนัฏ” หนุน “ดีพร้อม” เดินหน้าอุตสาหกรรมป้องกันภัยพิบัติ
การเคหะแห่งชาติ เข้าร่วมการประชุม International Conference on Sustainable Communities for All