เข้าตลาด mai รองรับแผนก้าวสู่ผู้นำสินค้าลิขสิทธิ์ในอาเซียน
บมจ.พีเคเอ็น อินเตอร์โฮลดิ้ง (PKN) ยื่นแบบไฟลิ่งต่อสำนักงานก.ล.ต.เพื่อเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน IPO ไม่เกิน 25.4 ล้านหุ้นคิดเป็น 25.30% ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมด เตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ภายในปีนี้ รองรับแผนก้าวสู่ผู้นำด้านสินค้าลิขสิทธิ์สำหรับลูกค้ากลุ่มธุรกิจและผู้บริโภคในอาเซียน สำหรับการเติบโตทั้งในประเทศและต่างประเทศในอนาคต พร้อมเดินหน้า M&A บริษัทที่มีศักยภาพ ต่อยอดธุรกิจลิขสิทธิ์หรือลงทุนในธุรกิจเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ และความบันเทิง (Entertainment) เพื่อให้เกิด Synergy ใหม่ ผลักดันผลการดำเนินงานเติบโตก้าวกระโดด
นางดาริน กาญจนะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออพท์เอเชีย แคปิตอล จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัท พีเคเอ็น อินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (PKN)เปิดเผยว่าได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 25,400,000 หุ้น คิดเป็น 25.30% ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดหลัง IPO มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท และมีแผนจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ภายในปีนี้
สำหรับ PKN ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์ สินค้าเพื่อการสะสม สินค้าลิมิเต็ด สินค้าพรีเมี่ยม และสินค้าลิขสิทธิ์
นายนพพล มิลินทางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีเคเอ็น อินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (PKN) เปิดเผยว่าบริษัทฯ มีวัตถุประสงค์การใช้เงินจากการระดมทุน เพื่อนำไปเป็นเงินลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องและมีศักยภาพในอนาคต เช่น การเข้าซื้อกิจการ(M&A) และเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ
“ที่ผ่านมา PKN ได้รับลิขสิทธิ์ทั้งจากตัวการ์ตูน คาแรคเตอร์จากภาพยนตร์หรือแอนิเมชั่นที่เป็นที่นิยมมากกว่า 100 คาแรคเตอร์ จากผู้ให้ลิขสิทธิ์ชั้นนำจากทั้งฝั่งสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น เช่น (1) Universal Studio Licensing เจ้าของลิขสิทธิ์คาแรคเตอร์ Minion และ Felix the cat และลิขสิทธิ์จากภาพยนตร์เรื่อง Fast and Furious และ Puss in Boots 2 เป็นต้น (2) Dream Express ตัวแทนในการดูแลลิขสิทธิ์ของคาแรคเตอร์จากแอนิเมชั่นชื่อดังจากประเทศญี่ปุ่นอย่าง Gundam, One Piece, Demon Slayer Kimetsu No Yaiba, Ultraman, Masked Rider และ Detective Conan เป็นต้น และ (3) The Walt Disney เจ้าของลิขสิทธิ์คาแรคเตอร์จากภาพยนตร์ Avengers, Spider-Man และ Marvel เป็นต้น รวมถึงมีคาแรคเตอร์จากศิลปิน (Creator) ชาวไทย”
ปัจจุบัน บริษัทฯ ผลิตสินค้าลิขสิทธิ์มานานกว่า 6 ปี ทั้งสำหรับลูกค้ากลุ่มธุรกิจที่นำไปจัดจำหน่ายต่อหรือเป็นสินค้าส่งเสริมการขาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ในหลายอุตสาหกรรมที่มีความสัมพันธ์ที่ดีและมีการเติบโตของยอดขายอย่างต่อเนื่อง และสำหรับลูกค้าผู้บริโภคภายใต้เครื่องหมายการค้า IGNITE ที่พัฒนาและจำหน่ายภายใต้บริษัทเอง สำหรับภาพรวมธุรกิจลิขสิทธิ์ทั่วโลกจากบทวิเคราะห์ Global and Thailand Brand Licensing Market Research 2023 (Arsta Research) พบว่า ธุรกิจลิขสิทธิ์มีมูลค่าตลาด 290.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราวๆ 10.3 ล้านล้านบาท ในปี 2565 ที่ผ่านมา และคาดว่าอุตสาหกรรมลิขสิทธิ์จะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 4.2% ต่อปี นับตั้งแต่ปี 2566 – 2572 คิดเป็นอัตราการเติบโตต่อปีทบต้น (CAGR) ตั้งแต่ปี 2561-2572F เท่ากับ 3.6% โดยยอดขายปลีกทั่วโลกของสินค้าลิขสิทธิ์จะมีมูลค่าสูงถึง 389.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2572 ขณะที่ผลการดำเนินงานย้อนหลัง 3 ปี (2564-2566) บริษัทฯมีรายได้รวม 141.22 ล้านบาท 238.07 ล้านบาท และ 252.06 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ไตรมาส 1/2567 มีรายได้ 55.84 ล้านบาท โดยรายได้ของบริษัทมาจาก 3 กลุ่มหลัก 1) รายได้จากสินค้าลิขสิทธิ์จากลูกค้ากลุ่มธุรกิจ (B2B) 2) รายได้จากสินค้าลิขสิทธิ์จากลูกค้ารายย่อย (B2C) และ 3) รายได้จากสินค้าและบริการอื่น ขณะที่ในปี 2566 มีกำไรสุทธิ 13.65 ล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัทฯ มีนโยบายที่จะจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิจากงบการเงินเฉพาะกิจการ ภายหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคล และภายหลังการจัดสรรทุนสำรองตามกฎหมาย และข้อบังคับของบริษัทฯ
บริษัทฯ มีเป้าหมายระยะยาวที่จะเป็นผู้นำด้านสินค้าลิขสิทธิ์สำหรับลูกค้ากลุ่มธุรกิจและผู้บริโภคในอาเซียน โดยมีสัดส่วนรายได้จากการขายสินค้าลิขสิทธิ์ให้กับลูกค้ากลุ่มธุรกิจเดิมและขยายตัวไปยังลูกค้าที่มีศักยภาพใหม่ในประเทศไทยประมาณ 50% และมีสัดส่วนรายได้สินค้าลิขสิทธิ์จากการขยายไปยังลูกค้าธุรกิจต่างประเทศ 10% และมีสัดส่วนรายได้จากการขายสินค้าภายใต้แบรนด์ IGNITE ผ่านช่องทางการขายแบบออฟไลน์ (ร้านค้าตัวแทนและเปิดสาขาของบริษัท) 10% และช่องทางออนไลน์ 10% และอีก 20% จะเป็นรายได้จากการขยายธุรกิจโดยการซื้อกิจการหรือร่วมทุน (M&A) ในบริษัทที่มีศักยภาพและสามารถต่อยอดธุรกิจสินค้าลิขสิทธิ์ได้อย่างมั่นคง หรือลงทุนในธุรกิจเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์และความบันเทิง (Entertainment) เพื่อให้เกิด Synergy ใหม่ผลักดันการเติบโตในอนาคตอย่างก้าวกระโดด
More Stories
SME D Bank จัดประชุมใหญ่มอบนโยบายโค้งสุดท้ายพื้นที่ภาคใต้ รวมพลัง Quick Win พิชิตเป้าหมายพาเอสเอ็มอีถึงแหล่งทุนหนุนเติบโตยั่งยืน
BAM จัดโครงการ “BAM for Thai Heroes” ปีที่ 2 ตอบแทนฮีโร่ของคนไทย ลดราคาทรัพย์สูงสุดกว่า 70%
TPS ส่งซิกผลงาน Q4/67 สดใสต่อเนื่อง ตุน Backlog 1,931.50 ลบ. – ลุยประมูลงานใหญ่ มั่นใจรายได้ปี 67 เติบโตเข้าเป้าตามแผน