26 พฤศจิกายน 2024

THE MASTER

ย่อโลกข่าวไว้ในมือคุณ

กทม. จับมือ PPP Plastics และองค์กรพหุภาคี ต่อยอดโมเดลจัดการพลาสติกใช้แล้ว ในพื้นที่นำร่องเขตคลองเตย ระยะ 2

CSR.

กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยสำนักสิ่งแวดล้อม และสำนักงานเขตคลองเตย ร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) PPP Plastics และองค์กรพหุภาคี ประกาศเตรียมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืนพื้นที่นำร่อง เขตคลองเตย ระยะที่ 2” หรือโครงการ Eco Digiclean Klongtoei (อีโค่ดิจิคลีน คลองเตย)  โดยมี นายวิรัตน์มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร เป็นประธานฯ พร้อมผู้แทนจาก 7 องค์กร ที่เข้าร่วมโครงการฯ ระยะที่ 1  ได้แก่ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ห้างสรรพสินค้า ดิ เอ็มโพเรียม การยาสูบแห่งประเทศไทย โรงแรม แมริออท เอ็กเซ็กคิวทิฟ อพาร์ทเม้นต์ สุขุมวิทพาร์ค โรงแรม โอ๊ควู้ด เรสซิเดนซ์ สุขุมวิท 24 และบริษัท ไวท์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนาม

โครงการ Eco Digiclean Klongtoei ได้รับทุนสนับสนุนจาก Alliance to End Plastic Waste หรือ AEPW มีเป้าหมายเพื่อต่อยอดการดำเนินงานจาก ระยะที่ 1 ซึ่งประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย ในระยะที่ 2 จึงจะนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยในการจัดการพลาสติกใช้แล้ว เช่น การสร้างจุด Drop Point รับพลาสติกใช้แล้วกึ่งอัตโนมัติที่สามารถแยกประเภทของพลาสติกพร้อมแจ้งเตือนไปยังผู้ขนส่งเมื่อปริมาณพลาสติกเต็ม การพัฒนาดิจิทัลแพลทฟอร์มเพื่อสร้างมาร์เก็ตเพลส เชื่อมโยงตั้งแต่ต้นทาง จุด Drop Point ไปยังผู้ขนส่ง จนถึงบริษัทรีไซเคิล ให้เกิดเป็นโมเดลทางธุรกิจเพื่อจัดการพลาสติกอย่างครบวงจร นอกจากนี้ โครงการฯ ยังได้ทำวิจัยสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคใน 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่พักอาศัยในหมู่บ้าน ชุมชน และอาคารสำนักงานนำมาประกอบการพัฒนาโมเดลทางธุรกิจเพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคนำพลาสติกใช้แล้วมาให้ ณ จุดรับ คาดว่า ดิจิทัลแพลทฟอร์มดังกล่าวจะสามารถใช้งานจริงภายในปี 2564

 สำหรับการดำเนินการโครงการฯ ในระยะที่ 1 ซึ่งมีเป้าหมายศึกษาและพัฒนาโมเดลการจัดการขยะและพลาสติกใช้แล้วในองค์กร ซึ่งผลดำเนินการสามารถพัฒนาได้ 4 โมเดล คือ ต้นแบบการจัดการขยะและพลาสติกสำหรับห้างสรรพสินค้า โรงแรม โรงพยาบาล และอาคารสำนักงาน พร้อมได้จัดทำ “คู่มือการจัดการขยะสำหรับองค์กร”  สำหรับเผยแพร่ให้กับหน่วยงานที่สนใจนำไปปรับใช้ โดยจากการทดลองใช้โมเดลทั้ง 4 นั้น สามารถนำพลาสติกใช้แล้วกลับมาใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นรวมแล้วกว่า 7,000 กิโลกรัม ตลอดระยะเวลาทดลอง 6 เดือน โดยเน้นที่การคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางอย่างถูกวิธี

นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “โครงการความร่วมมือความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืนพื้นที่นำร่อง เขตคลองเตย ระยะที่ 2 นี้นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ในการพัฒนาแนวทาง   การจัดการขยะพลาสติก รวมถึงขยะประเภทอื่น ๆ ตั้งแต่ต้นทางแบบครบวงจรตามหลักแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน และ 3R: Reduce Reuse และ Recycle มุ่งเน้นการลดการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single use plastic) ลดปริมาณขยะพลาสติกและเพิ่มอัตราการนำกลับมาใช้ใหม่ให้สูงขึ้น โดยดำเนินการนำร่องในกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่เขตคลองเตย เช่น ชุมชน โรงเรียน วัด ศาสนสถาน หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ บริษัทห้างร้าน หมู่บ้านจัดสรร รวมถึงอาคารชุด ซึ่งมีจำนวนมากในเขตเมือง เป็นการต่อยอดโครงการฯ ระยะที่ 1 ซึ่งได้ร่วมกับ 7 องค์กร ซึ่งเป็นอาคารสถานประกอบการขนาดใหญ่ พัฒนาโมเดลการจัดการขยะและพลาสติกใช้แล้วในองค์กรต้นแบบ จำนวน 4 รูปแบบ ประกอบด้วย ต้นแบบการจัดการพลาสติกและขยะสำหรับโรงแรม  อาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า และโรงพยาบาล ซึ่งกรุงเทพมหานครจะได้นำไปขยายผลในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป กรุงเทพมหานครขอขอบคุณในความร่วมมือของทั้ง 7 องค์กร และคณะทำงานโครงการ ฯ ที่ทุ่มเททรัพยากรทั้งงบประมาณ องค์ความรู้ บุคลากร และการบริหารจัดการในการดำเนินการดังกล่าว รวมถึงสำนักงานเขตคลองเตยที่สนับสนุนการทำงานของคณะทำงานด้วยดีมาโดยตลอด”

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ประธาน PPP Plastics กล่าวว่า “สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร สำนักงานเขตคลองเตย และองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน  โดยคณะทำงานโครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน หรือ PPP Plastics ได้ร่วมกับองค์กรพหุภาคีทั้ง 7 องค์กรดำเนินงานโครงการพื้นที่นำร่อง เขตคลองเตย ในระยะที่ 1 สำเร็จลุล่วงและประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดีแล้วนั้น สำหรับการดำเนินงานโครงการในระยะที่ 2 ทางองค์กรระหว่างประเทศเพื่อจัดการปัญหาขยะพลาสติก (Alliance to End Plastic Waste หรือ AEPW) ได้เข้ามาร่วมสนับสนุนงบประมาณการดำเนินงานโครงการฯ เพื่อยกระดับและขยายผลนำไปใช้เป็นแบบอย่างไปยังที่อื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้ ทางโครงการได้ให้ความสำคัญของการเพิ่มประสิทธิภาพ จากระยะที่ 1 ที่ได้ดำเนินการมาแล้ว พร้อมขยายพื้นที่ให้ครอบคลุมกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งในระดับชุมชน ที่เป็นแหล่งกำเนิดหลักของขยะมูลฝอยและขยะพลาสติกในพื้นที่ พร้อมการนำเอาเทคโนโลยีดิจิตัลเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ ทั้งเป็นการสนับสนุนการดำเนินการของรัฐบาลภายใต้ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก และแผนปฏิบัติการที่เกี่ยวข้อง ที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศ ตามแนวทางวาระแห่งชาติเศรษฐกิจ BCG หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green: BCG Model)  ที่รัฐบาลกำหนดเป็นโมเดลเศรษฐกิจในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน  โดยเฉพาะในส่วนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่มุ่งเน้นการลดการใช้ทรัพยากร การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการลดมลพิษขยะพลาสติก ตลอดจนการสร้างรายได้จากเศรษฐกิจใหม่ดังกล่าวที่มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน”

Skip to content