1 พฤศจิกายน 2024

THE MASTER

ย่อโลกข่าวไว้ในมือคุณ

อพท. โชว์ผลงานพัฒนาท่องเที่ยวยั่งยืนปี 64คว้า 2 รางวัล TOP 100 23 รางวัลกินรี

Lifestyle

อพท. ปลื้ม  สุโขทัย น่าน ขึ้นสุดยอด 100 แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนโลก  ตามด้วย 23 ชุมชน เข้ารับรางวัลกินรี จากการใช้เกณฑ์ GSTC  และ CBT Thailand  ตอกย้ำทุกชุมชนพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวคุณภาพหลังรัฐบาลประกาศเปิดประเทศ

นาวาอากาศเอกอธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า  ผลดำเนินงานด้านการพัฒนายกระดับแหล่งท่องเที่ยวและชุมชนในรอบปีงบประมาณ 2564 ทำให้เกิดกิจกรรมและเส้นทางการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนจากการใช้องค์ความรู้ที่มีมาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชนและแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยชุมชนและแหล่งท่องเที่ยวที่ อพท. รับผิดชอบ ได้รับการยอมรับจากองค์กรทั้งภายในและภายนอกประเทศอย่างมากมาย และล่าสุดแหล่งท่องเที่ยวที่ อพท. เข้าไปพัฒนา ได้รับคัดเลือกเป็นสุดยอดแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แหล่งของโลก ปี 2021 ( Global Sustainable Destinations Top 100 ) จำนวน 2 แหล่ง ได้แก่    ตำบลเมืองเก่า จังหวัดสุโขทัย และตำบลในเวียง จังหวัดน่าน  ซึ่งในส่วนของตำบลในเวียงได้รับการคัดเลือกดังกล่าวเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน

            “รางวัล Top 100  เป็นการจัดโดยหน่วยงานระดับโลกคือ Green Destinations Foundation ประเทศเนเธอร์แลนด์ ร่วมกับคณะผู้จัดงานส่งเสริมการท่องเที่ยวระดับโลก ITB (Internationale Tourismus-Börse) กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ซึ่งแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับคัดเลือกนี้จะได้รับการประชาสัมพันธ์ไปยังเครือข่ายผู้ประกอบการท่องเที่ยวทั่วโลก รวมถึงการเผยแพร่ข่าวสารไปยังนักท่องเที่ยว ซึ่งจะมีผลให้เกิดการรับรู้ทางการตลาดได้อย่างกว้างขวาง ดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพเข้ามาสู่ประเทศไทย”

ทั้งนี้จุดเด่นของสุโขทัย คือเป็นเมืองอุทยานประวัติศาสตร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจเป็นแห่งแรกของประเทศไทยที่คำนึงถึงระบบนิเวศธรรมชาติและการจัดการมลพิษต่างๆ  ขณะที่เมืองน่านก็ได้มาตรฐานเมืองท่องเที่ยวสะอาดของอาเซียนหรือ ASEAN Clean Tourist City Standard จากเวทีการประชุมการท่องเที่ยวอาเซียน ครั้งที่ 37 พ.ศ. 2561 ณ จังหวัดเชียงใหม่  แต่จุดสำคัญที่ทำให้ได้รับคัดเลือกเป็นสุดยอดแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แหล่งของโลก คือการมีเอกลักษณ์โดดเด่นเป็นของตัวเอง และมีความงดงามในเชิงวัฒนธรรม วิถีชีวิต มีการจัดการและการให้บริการที่เป็นมาตรฐาน ซึ่งได้จากองค์ความรู้ที่ อพท. เข้าไปพัฒนา

***ชุมชน อพท. ชักแถวรับ 23 รางวัลกินรี***

ส่วนของภาคชุมชน ปี 2564 ชุมชนที่ อพท.  นำองค์ความรู้ตามเกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน หรือ CBT Thailand ไปพัฒนา  ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย (กินรี) ครั้งที่ 13 จัดโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จำนวน  23 ชุมชน แบ่งเป็น สาขาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ได้รับรางวัลระดับยอดเยี่ยม 6 ชุมชน และรางวัลระดับดีเด่น 14 ชุมชน และในสาขาแหล่งเรียนรู้ ได้รับรางวัลระดับดีเด่น 3 ชุมชน  ซึ่งทั้งหมดเป็นชุมชนที่ อพท. ได้นำองค์ความรู้ด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนเข้าไปส่งเสริมและยกระดับการพัฒนา  การได้รับรางวัลครั้งนี้จึงถือเป็นความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมของ อพท. ในการพัฒนาและยกระดับชุมชนท่องเที่ยวให้มีคุณภาพในระดับประเทศ ที่นักท่องเที่ยวสามารถคาดหวังในบริการที่ได้มาตรฐาน ทั้งการบริหารจัดการ มีความปลอดภัย และสุขอนามัย และทุกชุมชนมีความพร้อมที่จะเสนอขายแก่นักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางไปเยือนภายหลังสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดคลี่คลาย

ผู้อำนวยการ อพท.  กล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ อพท. ได้เข้ารับมอบรางวัล PATA Gold Awards 2021 จากสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก หรือ Pacific Asia Travel Association : PATA  ประเภทความยั่งยืน (Sustainability Awards) ด้านการริเริ่มพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital Development Initiative Awards) หัวข้อ “หลักสูตรการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อชุมชนเชิงบูรณาการ” (DASTA CBT Integrated Curriculum: the Training for Community-based Tourism Stakeholder Empowerment) และล่าสุด สภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Council: GSTC) ซึ่งเป็นองค์กรระดับสากล ยังได้รับรองและคงสถานะ GSTC Recognized ซึ่งเป็นการยอมรับว่า “มาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ หรือ Sustainable Tourism Management Standard : STMS ของ อพท. มีมาตรฐานเทียบเท่ากับหลักเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก สำหรับสถานที่แหล่งท่องเที่ยวของ GSTC (GSTC Destination Criteria) เวอร์ชั่น 2.0

          สำหรับมาตรฐาน STMS  หรือเรียกว่า อพท. น้อย เป็นมาตรฐานองค์ความรู้ด้านการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ที่ อพท. นำไปอบรมให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และนำไปใช้พัฒนาให้แก่ชุมชนของตัวเอง ซึ่งในปีงบประมาณ 2564 อพท. ได้นำมาตรฐานฯ ไปขยายผลส่งเสริมให้แก่องค์กรจัดการด้านการท่องเที่ยว (Destination Management Organization: DMO) จำนวน 8 แห่ง ซึ่งนับว่ามีบทบาทสำคัญอย่างมากในการส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาและเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการฝึกอบรมให้กับองค์กรที่เข้าร่วมโครงการ และคาดว่าจะประกาศผลหน่วยงานที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน STMS ในสิ้นปีนี้

          อย่างไรก็ตามรางวัลต่างๆ ที่แหล่งท่องเที่ยวและชุมชนได้รับ มาจากการร่วมแรงร่วมใจของ อพท. กับ ภาคีภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และชุมชนที่สนับสนุน และมีส่วนร่วมในการพัฒนาให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งนับเป็นความภูมิใจและความสำเร็จของ อพท. ที่สามารถดำเนินการได้ตามวัตถุประสงค์ สนองตอบต่อนโยบายของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี  ที่ต้องการสร้างอาชีพและกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน  โดยใช้ฐานทุนทางวัฒนธรรม วิถีชีวิต และสิ่งแวดล้อม มาต่อยอดให้เกิดรายได้ และนักท่องเที่ยวยังได้มีเส้นทางและกิจกรรมทางการท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่มีคุณภาพและการจัดการอย่างมีมาตรฐาน นอกจากนั้นยังสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในด้านการมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากลด้วย 

Skip to content