‘บมจ.ซีวิลเอนจีเนียริง’ ผู้นำด้านวิศวกรรมโยธาแบบครบวงจรชั้นนำของประเทศ ต่อยอดความสำเร็จจากการบริหารโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของภาครัฐมากกว่า 1,000 โครงการ มูลค่างานมากกว่า 40,000 ล้านบาท ช่วยขับเคลื่อนประเทศให้เจริญก้าวหน้า ประสานพลังกับกลุ่มลูกค้าภาคเอกชน จับมือ ปตท. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในโครงการก่อสร้างสกายวอล์ค เชื่อมต่อการเดินทางเท้าสู่ระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้า BTS สถานีห้าแยกลาดพร้าว และรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สถานีพหลโยธิน ส่งมอบคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชน และเสริมศักยภาพพื้นที่สู่ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน จุดเปลี่ยนถ่ายทุกการเดินทางของคนกรุงเทพฯ ในอนาคต
นายปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือ CIVILเปิดเผยว่า บริษัทฯ มีประสบการณ์และความชำนาญด้านวิศวกรรมการก่อสร้างที่ได้รับการยอมรับจากภาครัฐ ให้ CIVIL เข้าบริหารโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคของประเทศ มากกว่า 1,000 โครงการ มูลค่ารวมกันมากกว่า 40,000 ล้านบาท ครอบคลุมงานทาง งานรถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูง งานท่าอากาศยาน ระบบเขื่อน อ่างเก็บน้ำ นิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น สะท้อนศักยภาพการบริหารโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่มีประสิทธิภาพ โดยส่งมอบงานที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ภายในระยะเวลาที่กำหนด ที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันและสร้างความเจริญให้แก่ประเทศ มาสร้างโอกาสให้แก่ธุรกิจของ CIVIL ในการขยายขอบเขตเข้ารับงานบริหารโครงการก่อสร้างตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่หรือเป็นโครงการที่มีความซับซ้อนทางวิศวกรรมรองรับงานก่อสร้างของกลุ่มลูกค้าภาคเอกชน ซึ่งถือเป็นภาคส่วนที่สำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้มีการเติบโต
ทั้งนี้ บริษัทฯ จะร่วมประสานพลังกับทุกภาคเอกชน พัฒนาโครงการเพื่อสาธารณประโยชน์และมีส่วนช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยนำศักยภาพของบริษัทฯ ที่ทีมบุคลากรมีความชำนาญด้านวิศวกรรมก่อสร้าง เทคโนโลยีเครื่องจักรและโรงงานผลิตวัสดุก่อสร้าง รวมถึงหลักบริหารจัดการสมัยใหม่ เข้าดำเนินงานบริหารโครงการก่อสร้างให้แก่ภาคเอกชนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโครงข่ายเชื่อมโยงคมนาคมของประเทศ ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น
ล่าสุด บริษัท ซีวิล คอนสตรัคชั่น เซอร์วิสเซส แอนด์ โปรดักส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทภายในกลุ่มของ CIVIL ได้รับความไว้วางใจจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโครงการก่อสร้างสะพานลอยเดินเท้า (Skywalk) เชื่อมต่อระบบการเดินทางสู่รถไฟฟ้าสายสีเขียวและสายสีน้ำเงิน โดยโครงการดังกล่าวเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงการเดินทางเท้าของประชาชน เข้าสู่ระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ระบบรางทั้งรถไฟฟ้า BTS และรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ให้มีความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัยในการเดินเท้า อีกทั้งยังส่งเสริมศักยภาพพื้นที่ในทำเลพหลโยธิน ซึ่งเป็นทำเลการค้าและเศรษฐกิจที่สำคัญของกรุงเทพฯ ให้พัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางคมนาคมที่เชื่อมทุกการเดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต
สำหรับการพัฒนาในโครงการดังกล่าว ประกอบด้วย 1.โครงการก่อสร้างสะพานลอยเดินเท้า (Skywalk) สายสีเขียว โดยบริษัทฯ จะเข้าไปปรับปรุงสะพานลอยเดินเท้า บริเวณด้านหน้า ปตท.สำนักงานใหญ่ ให้มีขนาดความกว้าง 3.5 เมตร และมีระดับสูงจากระดับพื้นผิวจราจรอย่างน้อย 5 เมตร โดยเชื่อมต่อทางเท้าบริเวณทางออกชั้น 2 ของอาคารบีโอไอไปยังสะพานลอยข้ามถนนวิภาวดี ซึ่งตลอดเส้นทางจะปรับปรุงทางเดินพร้อมก่อสร้างหลังคาคลุม (Cover Walkway) ที่ทันสมัยสวยงาม ไปตลอดแนวทางเส้นทางถนนหอวัง เชื่อมต่อไปยังขนส่งมวลชนระบบรางของรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว (สถานีห้าแยกลาดพร้าว)
และ 2. โครงการก่อสร้างสะพานลอยเดินเท้า (Skywalk) สายสีน้ำเงิน เป็นงานก่อสร้างทางเดินเท้าขนาดความกว้าง 2.5 เมตร ที่มีจุดเริ่มต้นโครงการ ณ บริเวณประตูสถานีบริการน้ำมัน ปตท.สำนักงานใหญ่ ไปตามแนวทางเท้าไปจนถึงทางคู่ขนานถนนวิภาวดีรังสิต และก่อสร้างสะพานทางเดินยกระดับไปตามแนวถนนวิภาวดีรังสิตขาออก เชื่อมต่อสะพานลอยเดิมบริเวณสวนจตุจักรไปถึงสวนสมเด็จย่า ให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการเดินเท้าไปยังขนส่งมวลชนระบบรางของรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) สายสีน้ำเงิน (สถานีพหลโยธิน)
“เรามีความภูมิใจที่ได้เข้าพัฒนาโครงการสกายวอล์คเชื่อมต่อการเดินทางสู่ระบบรถไฟฟ้า BTS และรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ที่ดีแก่ทุกภาคส่วนในสังคมในการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนที่ได้รับความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ในการใช้เส้นทางเข้าสู่ระบบขนส่งมวลชนและช่วยสนับสนุนพื้นที่ในย่านดังกล่าวเป็นศูนย์คมนาคมพหลโยธินเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทางของประชาชนในเขตกรุงเทพฯ อีกด้วย” นายปิยะดิษฐ์ กล่าว
More Stories
SSP ติดปีก! รุกขยายพอร์ตโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ
ราช กรุ๊ป – เอไอเอฟ กรุ๊ป – โรนิตรอน จับมือศึกษาและพัฒนาโครงการผลิตกรีนไฮโดรเจน – กรีนแอมโมเนีย จากพลังงานสะอาดใน สปป.ลาว
“พลังงาน”ชูต้นแบบสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมืองคาร์บอนต่ำ