26 พฤศจิกายน 2024

THE MASTER

ย่อโลกข่าวไว้ในมือคุณ

เคล็ดไม่ลับเบาหวาน กินอย่างไรให้น้ำตาลไม่ขึ้น

Woman hands holding oatmeal porridge with frozen berries, almonds in wooden bowl. Banner. Healthy breakfast. Clean eating, detox diet. Vegetarian, raw, vegan concept

Article

ปัจจุบันผู้ป่วยโรคเบาหวานในประเทศไทยมีมากถึง ร้อยละ 8.3 ของประชากรที่มีอายุระหว่าง 20-79 ปี และเป็นโรคที่ไม่สามารถหายขาดได้รวมถึงเสี่ยงต่อการมีโรคแทรกซ้อนมากมายด้วย เพราะฉะนั้นการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารเพื่อรักษาระดับน้ำตาลให้เป็นปกติจึงจำเป็นอย่างมากสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เพื่อสุขภาพของผู้ป่วยเองและช่วยให้แพทย์ลดหรืองดการใช้ยาเพื่อคุมระดับน้ำตาลได้ด้วย

นักกำหนดอาหาร ศูนย์เบาหวาน ไทรอยด์ และต่อมไร้ท่อ รพ. กรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า เบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ถ้าผู้ป่วยคุมอาหารหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพให้เหมาะสม สามารถคุมน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติได้ โรคจะอยู่ในระยะสงบและจะไม่แสดงอาการเหมือนกับว่าไม่ได้เป็นโรคแล้ว หรือเรียกอีกอย่างว่า Remission และถ้าสามารถดูแลระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้เรื่อยๆ  จะช่วยให้แพทย์ลดหรืองดการใช้ยาเพื่อคุมระดับน้ำตาลได้ โดยวิธีควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดนั้นมีหลายวิธี สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ได้แก่ การรับประทานอาหารให้เป็นเวลา ไม่งดอาหารเพื่อป้องกันการเกิดภาวะน้ำตาลต่ำ เลี่ยงการกินมื้อใดมื้อหนึ่งที่มากเกินไปเพราะจะทำให้เกิดภาวะน้ำตาลสูงได้ ควรดูแลน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ (18.5 – 22.9 kg/m2) จะช่วยเรื่องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ลดภาวะเซลล์ดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin Resistance) ทำให้น้ำตาลที่ลอยในกระแสเลือดถูกอินซูลินพาเข้าสู่เซลล์เพื่อนำไปเผาผลาญให้เกิดพลังงาน ดังนั้นผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วนควรลดน้ำหนักลง 5% ของน้ำหนักตัว

 ทั้งนี้การปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารยังสามารถช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและน้ำหนักตัวได้ เช่น การจำกัดปริมาณอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต ได้แก่ ข้าว แป้ง ขนมปัง เส้นต่าง ๆ วุ้นเส้น ข้าวโพด เผือก มัน ควรได้รับปริมาณที่เหมาะสมในแต่ละมื้อ ควรเลือกทานคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เป็นคาร์โบไฮเดรตที่อุดมไปด้วยใยอาหาร เช่น ข้าวแป้งไม่ขัดสี ธัญพืช และผักต่าง ๆ แต่ผักบางชนิดที่มีคาร์โบไฮเดรตในปริมาณมาก เช่น ฟักทอง ไม่ควรรับประทานในปริมาณมาก ต้องไม่ทานผลไม้มากจนเกินไปในแต่ละวัน เพราะผลไม้เป็นอาหารที่มีน้ำตาลฟรุกโตส (Fructose) ที่อยู่ในผลไม้ทุกชนิด ไม่ว่าจะรสเปรี้ยวหรือรสหวาน แนะนำให้รับประทาน 3 – 4 จานรองถ้วยกาแฟ หรือผลขนาดเท่ากำปั้นต่อวัน เลี่ยงการดื่มน้ำผลไม้ทุกชนิด เนื่องจากในน้ำผลไม้มีแต่น้ำตาล ไม่มีใยอาหาร ซึ่งใยอาหารสามารถขัดขวางการดูดซึมน้ำตาลบางส่วนได้ ผู้ป่วยบางคนอาจเคยได้รับข้อมูลว่า ควรเลือกกินผลไม้ที่ไม่หวาน ดัชนีน้ำตาลต่ำ (Glycemic Index) แต่ที่จริงแล้วสิ่งสำคัญที่สุดคือ การควบคุมปริมาณให้เหมาะสม เพราะหากกินผลไม้รสจืดในปริมาณมากก็สามารถทำให้น้ำตาลเพิ่มสูงได้เช่นกัน เลี่ยงการรับประทานขนมหวานต่าง ๆ และเครื่องดื่มน้ำตาลสูง จะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้มาก เนื่องจากน้ำตาลทรายที่ใส่ในขนมหวานสามารถถูกดูดซึมได้เร็ว ดังนั้นน้ำตาลจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเครื่องดื่มประเภท น้ำอัดลม ชา กาแฟ นมเปรี้ยวและนมรสต่าง ๆ น้ำสมุนไพร เป็นต้น โดยเปลี่ยนมาเลือกแบบที่ใช้น้ำตาลเทียมหรือหญ้าหวานแทน สามารถเลือกได้โดยอ่านฉลากโภชนาการทุกครั้งก่อนเลือกซื้อ และจำกัดปริมาณแอลกอฮอล์ ไม่เกิน 1 Drink ในผู้หญิง และ 2 Drink ในผู้ชาย เนื่องจากแอลกอฮอล์สามารถทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงได้เช่นกัน และไม่ควรดื่มตอนท้องว่าง เพราะจะทำให้น้ำตาลต่ำได้

การปรับพฤติกรรมสุขภาพรวมทั้งการรับประทานอาหาร ไม่มีสูตรหรือวิธีใดที่เหมาะสมกับทุกคน (No One – Size – Fits – All) ดังนั้นการพบกับนักกำหนดอาหาร เพื่อประเมินความรู้ ความเข้าใจ และภาวะโภชนาการ เพื่อหาแนวทางการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสมในแต่ละคนจึงเป็นเรื่องที่ดีที่สุด ทั้งยังทำให้ผู้ป่วยสามารถตั้งเป้าหมายการดูแลสุขภาพเพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้นานที่สุดได้อีกด้วย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์เบาหวาน ไทรอยด์ และต่อมไร้ท่อ รพ.กรุงเทพ โทร.02-755-1129-30  หรือ แอดไลน์

Skip to content