1 พฤศจิกายน 2024

THE MASTER

ย่อโลกข่าวไว้ในมือคุณ

‘แม็คโคร’ เตรียมขายหุ้นPO หลัง ก.ล.ต. นับหนึ่งไฟลิ่ง พร้อมขึ้น XB วันแรก 22 พ.ย.นี้

Business

บมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO หรือ บริษัทฯ) และกลุ่มโลตัสส์ ชูศักยภาพผู้ประกอบการธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย สนับสนุน SMEs และผู้ผลิตสินค้ารายย่อยของไทย ขยายสู่ตลาดต่างประเทศ และพัฒนาแพลตฟอร์ม O2O ผสมผสานช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ เตรียมเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนและหุ้นสามัญเดิมไม่เกิน 2,270 ล้านหุ้น หลังสำนักงาน ก.ล.ต. นับหนึ่งไฟลิ่ง ดีเดย์ขึ้นเครื่องหมาย XB วันแรกวันที่ 22 พฤศจิกายนนี้ โดยวันที่กำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นเดิมของ MAKRO CPALL และ CPF ที่จะได้รับการจัดสรรหุ้นบางส่วนจากหุ้นสามัญของบริษัทฯ ทั้งหมดที่จะเสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไป (Public Offering หรือ PO) ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมทั้ง 3 บริษัทดังกล่าวข้างต้น เป็นวันที่ 23 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งจะจัดสรรตามสัดส่วนการถือหุ้นสามัญเดิม ผ่านตัวแทนรับจองซื้อหุ้นทางออนไลน์และสาขาทั่วประเทศของธนาคารไทยพาณิชย์และธนาคารกรุงเทพ ส่วนนักลงทุนรายย่อยจัดสรรด้วยวิธี Small Lot First ผ่านตัวแทนจำหน่ายหุ้นทางออนไลน์และสาขาทั่วประเทศของธนาคารไทยพาณิชย์และธนาคารกรุงเทพ และ TrueMoney Wallet โดยบริษัทหลักทรัพย์ เคทีบีเอสที

นางสุชาดา อิทธิจารุกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจสยามแม็คโคร (ธุรกิจค้าส่ง) เปิดเผยว่า หลังจากที่ MAKRO รับโอนกิจการทั้งหมดของกลุ่มโลตัสส์แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่ยกระดับสู่การเป็นผู้ประกอบการชั้นนำด้านธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคในภูมิภาคเอเชีย ส่งผลให้ MAKRO มีธุรกิจแบบครบวงจร ครอบคลุมธุรกิจค้าส่งแบบ B2B (Business to Business หรือ การค้ากับผู้ประกอบการ) ธุรกิจค้าปลีกแบบ B2C (Business to Consumer หรือ การค้ากับผู้บริโภค) และธุรกิจบริหารพื้นที่เช่าในศูนย์การค้าในประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย ช่วยเพิ่มโอกาสและศักยภาพในการขยายตลาดต่างประเทศ โดยใช้จุดแข็งและความเชี่ยวชาญของ MAKRO และกลุ่มโลตัสส์ขยายธุรกิจ เพื่อสนับสนุน SMEs ผู้ผลิตสินค้ารายย่อยของไทยผ่าน “แพลตฟอร์มแห่งโอกาส” เพื่อนำเสนอสินค้าไทยที่มีคุณภาพสู่ผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียและสร้างการยอมรับสู่ระดับสากล

ทั้งนี้ ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 MAKRO มีศูนย์จำหน่ายสินค้ารวม 145 สาขา ประกอบด้วย สาขาในไทย 138 สาขา และต่างประเทศ 7 สาขา ได้แก่ กัมพูชา อินเดีย (ภายใต้แบรนด์ “LOTS Wholesale Solutions”) จีน และเมียนมา และมีการจำหน่ายสินค้าผ่านแพลตฟอร์ออนไลน์ ได้แก่ เว็บไซต์ Makroclick.com Makro Application และ Makro Line Official Account

ส่วนกลุ่มโลตัสส์ ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 มีร้านค้ารวม 2,164 แห่งทั่วประเทศไทย ประกอบด้วย ร้านไฮเปอร์มาร์เก็ต 222 แห่ง ซูเปอร์มาร์เก็ต 192 แห่ง และมินิซูเปอร์มาร์เก็ต 1,750 แห่ง อีกทั้งกลุ่มโลตัสส์ยังเป็นผู้นำธุรกิจบริหารพื้นที่เช่าภายในศูนย์การค้าในไทยเมื่อพิจารณาจากศูนย์การค้าที่มีการบริหารพื้นที่เช่า 199 แห่ง มีพื้นที่รวมประมาณ 720,000 ตารางเมตร (ไม่รวมศูนย์การค้าที่ลงทุนโดยกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าโลตัสส์ รีเทล โกรท (LPF) รวม 23 แห่ง) นอกจากนี้ กลุ่มโลตัสส์ยังเป็นผู้ประกอบการชั้นนำในธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจบริหารพื้นที่เช่าภายในศูนย์การค้าในประเทศมาเลเซียที่ดำเนินธุรกิจผ่าน Lotus’s Malaysia ซึ่งเป็นบริษัทย่อย โดย ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 มีร้านไฮเปอร์มาร์เก็ต 46 แห่ง ซูเปอร์มาร์เก็ต 16 แห่ง และบริหารพื้นที่เช่าในศูนย์การค้า 57 แห่ง คิดเป็นพื้นที่ให้เช่าสุทธิรวมประมาณ 296,000 ตร.ม. มีอัตราเช่าพื้นที่ร้อยละ 92

บริษัทฯ มั่นใจว่าจากการรับโอนกิจการทั้งหมดของกลุ่มโลตัสส์จะเกิดการสร้างมูลค่าจากการเสริมศักยภาพซึ่งกันและกัน (synergy)  ช่วยลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อนในระบบหน่วยงานสนับสนุน (Back Office) โดยจะร่วมมือกันพัฒนาร้านค้าและช่องทางจำหน่ายสินค้าที่ครบครัน (omni-channel)ให้ครอบคลุมหลากหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้และอาเซียนที่ยังมีอัตราการเข้าถึงร้านค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคสมัยใหม่ในระดับต่ำ เช่น กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม (CLMV) อินเดีย เป็นต้น ผ่านการพัฒนาแพลตฟอร์ม O2O ที่เป็นการผสมผสานระหว่างช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ (offline and online) ในกลุ่มสินค้าอาหารสดและสินค้าอุปโภคบริโภค และความสามารถที่ส่งเสริมซึ่งกันและกันในการจัดหาสินค้าเพื่อตอบสนองผู้บริโภคและสร้างประสบการณ์ที่ดีในการเลือกซื้อสินค้า โดยจะใช้แพลตฟอร์มทางธุรกิจที่แข็งแกร่งในไทย ต่อยอดสร้างแพลตฟอร์มค้าส่งและค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคหลากหลายรูปแบบในทวีปเอเชีย โดยเน้นภูมิภาคเอเชียใต้และอาเซียน

ส่วนผลการดำเนินงานตามข้อมูลทางการเงินรวมเสมือนงวด 9 เดือนแรกปี 2564 ซึ่งรวมงบการเงินในอดีตของกลุ่มโลตัสส์หลังปรับปรุงรายการเกี่ยวกับการซื้อขายธุรกิจเทสโก้และธุรกรรมการจัดหาเงิน รวมถึงปรับปรุงรายการที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมการรับโอนกิจการทั้งหมด การจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนให้กับบุคคลในวงจำกัด และธุรกรรมการรีไฟแนนซ์ บริษัทฯ มีรายได้รวม 319,563 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 5,344 ล้านบาท ขณะที่ผลการดำเนินงานในปี 2563 MAKRO มีรายได้รวม 218,760 ล้านบาท และกำไรอยู่ที่ 6,524 ล้านบาท ขณะที่ บจ. ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ถือหุ้นในกิจการโลตัสส์ในไทยและมาเลเซีย มีรายได้รวมเสมือน 211,107 ล้านบาท และกำไรรวมเสมือน 1,514 ล้านบาท ซึ่งกล่าวได้ว่า หลังจากการรับโอนกิจการ MAKRO จะกลายเป็นบริษัท ที่มีรายได้รวมถึง 429,867 ล้านบาท

การที่ MAKRO รับโอนกิจการทั้งหมดของกลุ่มโลตัสส์เป็นการปรับโฉมทางธุรกิจ โดยมีตำแหน่งทางการตลาด (market positioning) และกลยุทธ์ที่โดดเด่น ซึ่งจะเพิ่มศักยภาพและโอกาสการขยายธุรกิจในระดับภูมิภาค รวมถึงยกระดับเป็นผู้ประกอบการค้าปลีกและค้าส่งรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อพิจารณาจากยอดขายค้าปลีกในปี 2563 อยู่ที่ 1.29 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดย MAKRO ถือเป็นผู้ประกอบการค้าส่งรายใหญ่อันดับ 2 ในทวีปเอเชียเมื่อพิจารณาจากยอดขายปี 2563 ขณะที่กลุ่มโลตัสส์เป็นผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำ ที่มีร้านค้าหลากหลายรูปแบบอยู่ทั่วประเทศ และเป็นผู้ประกอบการชั้นนำที่ดำเนินธุรกิจร้านไฮเปอร์มาร์เก็ตในศูนย์การค้าของบริษัทฯ ในประเทศไทยและมาเลเซีย

นางสาววีณา เลิศนิมิตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวว่า หลังจากบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO ได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (แบบไฟลิ่ง) ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนและหุ้นสามัญเดิมแก่ประชาชนทั่วไป (Public Offering หรือ PO) จำนวนไม่เกิน 2,270,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท ปัจจุบันสำนักงาน ก.ล.ต. ได้นับหนึ่งแบบไฟลิ่งเป็นที่เรียบร้อย

ซึ่งการเสนอขายหุ้นสามัญครั้งนี้ จะทำให้สามารถเพิ่มสัดส่วนการกระจายการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) เป็นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว ตามเกณฑ์ขั้นต่ำของตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเพิ่มสภาพคล่องในการซื้อขายหุ้นของบริษัทฯ อีกทั้งส่งผลให้หุ้นของบริษัทฯ เป็นที่สนใจของนักลงทุนสถาบันทั้งในไทยและต่างประเทศ รวมถึงมีโอกาสได้รับเลือกเข้าสู่การคำนวณในดัชนีที่สำคัญต่าง ๆ โดย MAKRO จะนำเงินจากการระดมทุนไปใช้ขยายธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งทั้งในไทยและต่างประเทศ รวมถึงนำไปชำระเงินกู้ยืมสถาบันการเงินบางส่วน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการต่อไป

ทั้งนี้ การเสนอขายหุ้นสามัญดังกล่าวแก่ผู้จองซื้อรายย่อย จะจัดสรรหุ้นด้วยวิธี Small Lot First ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ของ บริษัท เซ็ทเทรด ดอท คอม จำกัด (SETTRADE) โดยจองซื้อผ่านตัวแทนจำหน่ายหุ้น (Selling Agents) 3 ราย ได้แก่ (1) แอปพลิเคชัน SCB Easy (2) แอปพลิเคชัน Bangkok Bank Mobile Banking และ (3) แอปพลิเคชัน TrueMoney Wallet โดยบริษัทหลักทรัพย์ เคทีบีเอสที โดย MAKRO จะแจ้งช่วงราคาเสนอขายเบื้องต้นให้ทราบ หลังจากได้รับอนุมัติแบบคำขอเสนอขายหลักทรัพย์และแบบไฟลิ่งมีผลใช้บังคับแล้ว

Skip to content