พลังงาน
GPSC เปิดโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง RDF กำลังการผลิต 9.8 เมกะวัตต์ หลังเปิดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ เมื่อเดือน พ.ค. 64 ที่ผ่านมา ชูโมเดลบริหารจัดการขยะครบวงจรแห่งแรก จ.ระยอง ด้วยมูลค่าลงทุนกว่า 2,217 ล้านบาท โดยมีโรงคัดแยกขยะเชื้อเพลิง RDF และโรงไฟฟ้า ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมต่อยอดเป็น “ศูนย์การเรียนรู้ แปลงขยะเป็นพลังงาน” ส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการคัดแยกขยะสู่การสร้างมูลค่าเพิ่ม ดึงประชาชน และเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วม
นายศิริเมธ ลี้ภากรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้า กลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า โรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel: RDF) กำลังการผลิต 9.8 เมกะวัตต์ ได้เดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ภายใต้โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ซึ่งถือเป็นโครงต้นแบบ เพื่อการบริหารการจัดการขยะแบบครบวงจรแห่งแรกในพื้นที่ จ.ระยอง ที่จะตอบสนองการเติบโตภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC โดย GPSC เป็นผู้ลงทุน 100% มูลค่าลงทุน 2,217 ล้านบาท
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวตั้งอยู่ในพื้นที่ติดกับศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวมแบบครบวงจร จ.ระยอง เพื่อรับเชื้อเพลิง RDF แบ่งการลงทุนเป็นโครงการโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง RDF ประมาณ 1,655 ล้านบาท และโรงงานผลิต RDF ประมาณ 562 ล้านบาท โดยโรงงานผลิต RDF ดังกล่าว เป็นการต่อยอดการบริหารจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพจากความร่วมมือระหว่าง GPSC และองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง (อบจ.ระยอง) ซึ่งเป็นผู้จัดการขยะจากชุมชน ครอบคลุมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในจังหวัดระยอง จำนวน 67 แห่ง ในการป้อนขยะชุมชนเข้าสู่โรงงานผลิต RDF ด้วยกำลังการผลิตที่ GPSC สามารถนำมาคัดแยกขยะในปริมาณ 500 ตัน/วัน หรือ 170,000 ตัน/ปี ซึ่งเพียงพอต่อการผลิตไฟฟ้า จากปริมาณขยะชุมชนในจังหวัดระยอง ที่มีอยู่ประมาณ 1,000-1,200 ตัน/วัน ทำให้เกิดความมั่นคงต่อการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ที่ใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิง
“โครงการโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง RDF แห่งนี้ ถือเป็นโมเดลของการบริหารจัดการขยะครบวงจรแห่งแรก ใน จ.ระยอง ที่นำมาสู่การต่อยอดและแก้ไขปัญหาขยะของชุมชนใน จ.ระยอง อย่างแท้จริง สามารถลดพื้นที่ฝังกลบขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มใช้เทคโนโลยีเตาเผาไหม้แบบตะครับเคลื่อนที่ (Moving Grate) ที่มีอุณหภูมิ 850-1,100 องศาเซลเซียส และลำเลียงขยะ RDF ด้วยสายพานด้วยระบบปิด ติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง และรายงานป้ายแสดงผลคุณภาพสิ่งแวดล้อม (Emission Display Board) บริเวณด้านหน้าโรงงาน เพื่อให้เกิดความมั่นใจกับหน่วยงานต่างๆ และชุมชนโดยรอบ ว่าการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้” นายศิริเมธกล่าว
ภายใต้โครงการโรงไฟฟ้าจาก RDF บริษัทฯ ยังได้จัดตั้ง “ศูนย์การเรียนรู้ แปลงขยะเป็นพลังงาน” ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 12 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้และเห็นคุณค่าของการคัดแยกตั้งแต่ระดับครัวเรือน ไปจนถึงระดับชุมชน โดยศูนย์ฯ แห่งนี้ ได้จัดทำแบบจำลองนวัตกรรมการคัดแยกขยะชุมชน และเกมส์จำลองต่างๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงวิธีการดำเนินการของโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง RDF ขณะเดียวกันบริษัทฯ อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบการเยี่ยมชมรูปแบบนิทรรศการเสมือนจริง หรือ RDF Virtual Exhibition ที่เผยแพร่ข้อมูลด้านการจัดการขยะพลังงาน เป็นการเปิดประสบการณ์ท่องโลกทางดิจิทัล ที่เสริมการเรียนรู้ของเยาวชน และประชาชนได้โดยไม่จำเป็นต้องเข้าเยี่ยมชมการผลิตจริงในโรงงาน ซึ่งคาดว่าจะพัฒนาแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคมนี้
“การพัฒนานวัตกรรมพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจที่สำคัญของบริษัทฯ สอดคล้องกับแนวทางพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืน โดยตระหนักถึงความสำคัญด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) อย่างจริงจัง เพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อันจะเป็นรากฐานสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของบริษัทฯ ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยและสหประชาชาติ ในการพัฒนาระบบไฟฟ้า ส่งมอบพลังงานสะอาดให้กับชุมชนและสังคม นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิต เพื่อการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีความยั่งยืนต่อไป” นายศิริเมธกล่าว
More Stories
SSP ติดปีก! รุกขยายพอร์ตโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ
ราช กรุ๊ป – เอไอเอฟ กรุ๊ป – โรนิตรอน จับมือศึกษาและพัฒนาโครงการผลิตกรีนไฮโดรเจน – กรีนแอมโมเนีย จากพลังงานสะอาดใน สปป.ลาว
“พลังงาน”ชูต้นแบบสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมืองคาร์บอนต่ำ