สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เผย 9 เดือนแรก ยอดใช้พลังงานขั้นต้นเพิ่มเพียงร้อยละ 0.01 จากเศรษฐกิจที่เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวในช่วงต้นปี โดยคาดการณ์ว่าการใช้พลังงานขั้นต้นทั้งปีจะเพิ่มเพียงร้อยละ 0.2 ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์พลังงานในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 พบว่า การใช้พลังงานขั้นต้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.01 จากการใช้ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน/ลิกไนต์ ไฟฟ้าพลังน้ำและไฟฟ้านำเข้า เพิ่มขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจในช่วงต้นปี ในขณะที่การใช้น้ำมันลดลงเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ซึ่งภาครัฐมีการประกาศใช้มาตรการต่างๆ อาทิ การทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) การจำกัดการเดินทางข้ามจังหวัด และการประกาศเคอร์ฟิว
เป็นต้น สำหรับสถานการณ์พลังงานรายเชื้อเพลิงในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 สรุปได้ดังนี้
การใช้น้ำมันสำเร็จรูป ลดลงร้อยละ 8.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการระบาดระลอก 3 ในเดือนเมษายน 2564 ต่อเนื่องมาจนถึงเดือนกันยายน โดยการใช้น้ำมันดีเซลลดลงร้อยละ 6.5 การใช้น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล ลดลงร้อยละ 9.2 และการใช้น้ำมันเครื่องบิน ลดลงร้อยละ 44.9 ขณะที่การใช้น้ำมันเตา เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.7 โดยส่วนใหญ่เป็นการใช้ในภาคขนส่ง
การใช้ LPG โพรเพน และบิวเทน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 โดยการใช้เพิ่มขึ้นจากฐานการใช้ที่ต่ำมากกว่าปกติในปี 2563 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยการใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
มีการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.3 สอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรม มีการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.9 ตามการขยายตัวของการส่งออก และภาคครัวเรือน มีการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 ขณะที่ภาคขนส่ง มีการใช้ลดลงร้อยละ 16.9 จากข้อจำกัดในการเดินทางในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และการใช้เอง มีการใช้ลดลงร้อยละ 36.8
การใช้ก๊าซธรรมชาติ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 โดยการใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นเกือบทุกสาขาเศรษฐกิจยกเว้นการใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ (NGV) ทั้งนี้การใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 ตามความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มฟื้นตัว การใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมและการใช้เป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 และร้อยละ 1.6 ตามลำดับ ตามการส่งออกที่ขยายตัวได้ดี ขณะที่การใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ (NGV) ลดลงร้อยละ 19.7 จากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เป็นข้อจำกัดทำให้การใช้ NGV ในการเดินทางลดลง
ด้านการใช้ไฟฟ้า ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดในระบบ 3 การไฟฟ้า (System Peak) ของปี 2564 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 เวลา 14.49 น. อยู่ที่ระดับ 31,023 MW เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยการใช้ไฟฟ้าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 อยู่ที่ 143,663 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 ซึ่งการใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่ร้อยละ 45 อยู่ในสาขาอุตสาหกรรม การใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกส่งผลให้การผลิตสินค้าเพื่อส่งออกขยายตัวได้ดี ส่วนการใช้ในครัวเรือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ส่งผลให้ยังคงมีมาตรการ Work From Home และการจำกัดการเดินทาง ขณะที่การใช้ไฟฟ้าในสาขาธุรกิจลดลงร้อยละ 7.0 จากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 โดยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน อาทิ ธุรกิจโรงแรม ห้างสรรพสินค้า และภัตตาคาร เป็นต้น
สำหรับแนวโน้มการใช้พลังงานปี 2564 ซึ่ง สนพ. ได้มีการพยากรณ์โดยอ้างอิงสมมุติฐานจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะขยายตัวร้อยละ 1.2 เนื่องจาก (1) การขยายตัวจากการส่งออกสินค้า (2) แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่าย การลงทุน และมาตรการเศรษฐกิจสำคัญของภาครัฐ และ (3) ฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติของปี 2563 สำหรับราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 2564 อยู่ที่ 70.0 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยในปี 2564 อยู่ที่ 31.9 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนั้นเมื่อกลางเดือนตุลาคม 2564 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้เผยแพร่คาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 5.9 ทั้งนี้ สนพ. คาดการณ์ว่าการใช้พลังงานขั้นต้นทั้งปีจะเพิ่มเพียงร้อยละ 0.2 ตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่เริ่มฟื้นตัวในช่วงต้นปี และการเติบโตของเศรษฐกิจโลก
โดยปี 2564 การใช้ก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน/ลิกไนต์ คาดว่ามีการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 และ 8.1 ตามลำดับ ส่วนการใช้ไฟฟ้าพลังน้ำและไฟฟ้านำเข้า คาดว่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.4 ขณะที่การใช้น้ำมัน คาดว่าลดลงร้อยละ 7.8 อันเป็นผลจากการยกระดับมาตรการล็อกดาวน์และการประกาศพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดในเดือนกรกฎาคม 2564 การใช้ LPG ในภาคครัวเรือน คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 ภาคอุตสาหกรรมและการใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.9 และ 24.2 ตามลำดับ ขณะที่ภาคขนส่งคาดว่ามีการใช้ลดลงร้อยละ 18.7 ส่วนก๊าซธรรมชาติ คาดว่าการใช้จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 และการใช้ไฟฟ้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับปี 2563 จากการฟื้นตัวของการใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตาม สนพ. ยังคงจับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และปัจจัยอื่นๆ ที่จะส่งผลต่อการใช้พลังงานของประเทศอย่างใกล้ชิด อาทิ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ราคาน้ำมันดิบตลาดโลก มาตรการในการป้องกัน โควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ อย่างต่อเนื่อง
More Stories
SSP ติดปีก! รุกขยายพอร์ตโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ
ราช กรุ๊ป – เอไอเอฟ กรุ๊ป – โรนิตรอน จับมือศึกษาและพัฒนาโครงการผลิตกรีนไฮโดรเจน – กรีนแอมโมเนีย จากพลังงานสะอาดใน สปป.ลาว
“พลังงาน”ชูต้นแบบสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมืองคาร์บอนต่ำ