31 ตุลาคม 2024

THE MASTER

ย่อโลกข่าวไว้ในมือคุณ

สคบ. ทำประชาพิจารณ์ร่างประกาศ จ่อออก กม. คุมฉลากสารเสริมพืช / ดิน

NETWORK MARKETING

เป็นที่น่าจับตามองอีกประเด็นหนึ่ง เมื่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. จัดระดมความคิดของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในการประชาพิจารณ์ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก เรื่องให้ผลิตภัณฑ์สารเพิ่มประสิทธิภาพพืชและผลิตภัณฑ์สารปรับปรุงดินเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก พ.ศ. ….. เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาแก้ไข เพิ่มเติม ปรับปรุง ให้มีความสมบูรณ์และครอบคลุม ก่อนบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป

          หากถามถึงเหตุปัจจัยในการที่ สคบ. ต้องออกมาหารือกันในเรื่องนี้นั้นถึงแม้ว่าจะมี พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) ที่กำหนดให้เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ประกอบธุรกิจที่ต้องให้ข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าดังกล่าว เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภค ให้ได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องและเพียงพอต่อสินค้านั้น ซึ่งข้อความที่ปรากฏบนฉลากจึงกำหนดต้องตรงต่อความเป็นจริงและไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้า โดยให้ใช้ข้อความตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด แต่ทว่า ที่ผ่านมายังคงมีผู้ประกอบการที่ตีตราข้อความบนฉลากสินค้าไม่ตรงความเป็นจริง ทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสนหรือเข้าใจผิดเกี่ยวกับคุณสมบัติและประสิทธิภาพที่อวดอ้างเกินจริง

โดย นายธสรณ์อัฑฒ์ ธนิทธิพันธ์ เลขาธิการ สคบ. ชี้ในประเด็นนี้ว่า ถึงจะมีสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้า โดยให้ใช้ข้อความตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด แต่ที่ผ่านมามีการจำหน่ายสินค้าที่ใช้ในทางการเกษตรที่ไม่จัดเป็นปุ๋ยตามกฎหมายว่าด้วยปุ๋ย และไม่จัดเป็นวัตถุอันตรายตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย มีการใช้ข้อความบนฉลากของสินค้าที่แสดงสรรพคุณของสินค้าในลักษณะข้อความที่อวดอ้างว่ามีคุณสมบัติหรือมีสารออกฤทธิ์ในการปรับปรุงคุณภาพดินหรือส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช ซึ่งเป็นสินค้าที่เกษตรกรใช้อย่างแพร่หลาย โดยไม่สามารถทดสอบพิสูจน์ได้ว่าสินค้าดังกล่าวมีคุณสมบัติหรือมีสารออกฤทธิ์ตามที่ระบุไว้ในฉลากสินค้า ดังนั้น คณะกรรมการว่าด้วยฉลากพิจารณาและมีมติให้ดำเนินการจัดทำร่างประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลากดังกล่าว เพื่อพัฒนาเป็นกฎหมายให้มีความเหมาะสมและทันต่อสภาพการณ์ในปัจจุบัน

ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูกันต่อว่า การทำประชาพิจารณ์มีเนื้อหาที่เป็นข้อกำหนดหรือเงื่อนไขที่สมบูรณ์เพียงใด มีผลกระทบหรือความเป็นธรรมต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือไม่ ซึ่งรวมถึงผู้ประกอบการธุรกิจขายตรงหลายบริษัทที่มีสินค้าประเภทนี้จัดจำหน่ายให้ผู้บริโภคด้วยเช่นกันว่ามีความคิดเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร เพราะเชื่อว่ามีขายตรงบางบริษัทอาจไม่รู้ถึงความเคลื่อนไหวทำประชาพิจารณ์ครั้งนี้

Skip to content