ประกัน/MLMNEWS
สืบเนื่องจากปัญหาของสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ผ่านมา ซึ่งมีจำนวนที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยในภาพรวม ซึ่งก่อนหน้านี้ บริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (“บริษัทฯ”) ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการปรับโครงสร้างกลุ่มบริษัทในช่วงปลายปี 2564 ดังนี้
1) การจำหน่ายหุ้นของบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) (“ไทยประกันภัย”) ให้แก่
ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ (กลุ่ม TCC)
2) ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ ให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่ ไทยประกันภัย ซึ่งนำไปชำระเป็นค่าสินไหมทดแทนจากการเคลมประกัน COVID-19 ของลูกค้าผู้ถือกรรมธรรม์ของทั้งไทยประกันภัย และบริษัท อาคเนย์ ประกันภัย จำกัด (มหาชน) (“อาคเนย์ประกันภัย”)[1] เป็นเงินจำนวน 9,900 ล้านบาท
เงินสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ ดังกล่าวได้นำมาชำระเป็นค่าสินไหมทดแทนจากการเคลมประกัน COVID-19 ในส่วนของอาคเนย์ประกันภัย (ผ่านการทำสัญญารับประกันภัยต่อที่เข้าทำไว้กับไทยประกันภัย) เป็นจำนวนประมาณ 8,060 ล้านบาท ซึ่งช่วยให้อาคเนย์ประกันภัยยังสามารถคงสถานะมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินและสามารถประกอบกิจการต่อเนื่องมาได้ในช่วงที่ผ่านมา โดย ณ วันที่ 1 มกราคม 2565 อาคเนย์ประกันภัยมีสินทรัพย์สุทธิคงเหลือกว่า 1,800 ล้านบาท และยังสามารถดำรงอัตราส่วนความพอเพียงของเงินกองทุน (Capital Adequacy Ratio) อยู่ที่ประมาณร้อยละ 170
อย่างไรก็ตาม จากปัญหาการกลายพันธุ์และการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งยังคงเพิ่มความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินและการดำรงอัตราส่วนความพอเพียงของเงินกองทุน (Capital Adequacy Ratio) ของอาคเนย์ประกันภัยให้ลดต่ำลงกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดในระยะเวลาอันใกล้นี้ อาคเนย์ประกันภัยจึงได้เรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อให้พิจารณามีมติดำเนินการเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยและส่งคืนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยต่อนายทะเบียนตามกฎหมาย และโอนกิจการของอาคเนย์ประกันภัยให้แก่ บริษัท อินทรประกันภัย จำกัด (มหาชน)
คณะกรรมการบริษัทได้พิจารณาร่วมกับตัวแทนฝ่ายจัดการของอาคเนย์ประกันภัยอย่างรอบด้าน โดยมีความมุ่งหมายที่จะดูแลผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายไม่ให้ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างดังเช่นกรณีที่บริษัทประกันวินาศภัยอื่นที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบจะไม่ได้จำกัดเฉพาะเพียงผู้เอาประกันตามกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงผู้เอากรมธรรม์ประกันภัยประเภทอื่น ๆ ประกอบกับหากในกรณีที่อาคเนย์ประกันภัย ถูกเพิกถอนใบอนุญาต ก็จะทำให้กองทุนประกันวินาศภัยมีภาระทางการเงิน อันเนื่องจากต้องเข้ามาช่วยเหลือแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องอันจะเป็นภาระแก่เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมโดยรวมอีกด้วย ประกอบกับเมื่อพิจารณาสถานะทางการเงินของอาคเนย์ประกันภัยในขณะนี้ ซึ่งยังมีสินทรัพย์สุทธิกว่า 1,800 ล้านบาทและเงินกองทุน (Capital Adequacy Ratio) ประมาณร้อยละ 170 อาคเนย์ประกันภัยย่อมสามารถจ่ายเงินคืนผู้เอาประกันภัยได้ครบถ้วนทุกราย และยังมีเงินเหลือพอที่จะชำระหนี้ให้คู่ค้าทั้งหมดรวมถึงพนักงานลูกจ้างทุกคน ซึ่งความสามารถในการชำระหนี้ของอาคเนย์ประกันภัยจะลดลงหากการตัดสินใจดำเนินการในเรื่องนี้ล่าช้าออกไป ดังนั้น การเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยโดยสมัครใจในขณะที่อาคเนย์ประกันภัยยังคงมีสถานะทางการเงินที่เพียงพอ และยังดำรงเงินกองทุนได้ตามอัตราที่กฎหมายกำหนด โดยขอให้คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยพิจารณาให้กองทุนประกันวินาศภัย เป็นผู้มีอำนาจดำเนินการในเรื่องการดำเนินการคืนเบี้ยประกันให้กับผู้เอาประกันภัยทุกรายตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ อาคเนย์ประกันภัย ยังมีภาระผูกพันตามกรมธรรม์ประกันภัยต่อผู้เอาประกันภัยนั้น ๆ (ซึ่งรวมถึง กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุและการเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)) รวมทั้งการจัดหาผู้รับประกันภัยรายใหม่ให้แก่ผู้เอาประกันภัยตามหลักเกณฑ์และแนวทางของกองทุนประกันวินาศภัย โดยอาคเนย์ประกันภัย เป็นผู้ให้การสนับสนุนด้านต่างๆ ในการดำเนินการของกองทุนประกันวินาศภัยดังกล่าวจึงเป็นมาตรการที่จำเป็นและเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับผู้ที่มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย และจะสามารถเยียวยาผู้เอาประกันภัยและบุคคลที่เกี่ยวข้องได้อย่างเป็นธรรมสูงสุดเท่าที่เป็นไปได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงไม่ก่อภาระเพิ่มเติมแก่กองทุนประกันวินาศภัยแต่อย่างใด ในขณะที่การดำเนินการในทางเลือกอื่นๆ เช่น การเพิ่มทุนหรือขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินเพื่อใช้ในกิจการของอาคเนย์ประกันภัยอาจจะไม่สามารถทำได้ รวมถึงผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ เองก็ได้ให้การสนับสนุนด้านการเงินไปแล้วเกือบ 10,000 ล้านบาทเพื่อช่วยพยุงธุรกิจประกันวินาศภัยของกลุ่มบริษัทฯ
คณะกรรมการบริษัทได้พิจารณาผลกระทบในกรณีดำเนินกิจการของอาคเนย์ประกันภัยต่อไปซึ่งย่อมจะนำไปสู่การมีฐานะหรือการดำเนินงานที่ขาดดวามเหมาะสมจะประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยและถูกเพิกถอนใบอนุญาต เปรียบเทียบกับกรณีขออนุญาตเลิกประกอบธุรกิจประกันภัยโดยสมัครใจตามขั้นตอนของกฎหมายประกันวินาศภัยแล้ว เห็นว่ามีข้อพิจารณาที่สำคัญหลายประการที่แสดงให้เห็นว่าการขออนุญาตเลิกประกอบธุรกิจประกันภัยเป็นทางเลือกที่จะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
ผู้มีส่วนได้เสีย | กรณีดำเนินธุรกิจต่อไป และถูกเพิกถอนใบอนุญาต | กรณีขออนุญาตเลิกประกอบธุรกิจ โดยสมัครใจ |
อาคเนย์ประกันภัย | ประสบปัญหาด้านการเงิน โดยสถานะของหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน | ณ 1 มกราคม 2565 อาคเนย์ประกันภัยมีสินทรัพย์สุทธิคงเหลือกว่า 1,800 ล้านบาทเพื่อใช้ในการชำระคืนเบี้ยประกันภัยตามกรมธรรม์ได้ และยังมีสัดส่วนการดำรงเงินกองทุนที่ประมาณร้อยละ 170 ทั้งนี้ เงินและทรัพย์สินของอาคเนย์ประกันภัยทั้งหมดจะใช้ในการชำระคืนเบี้ยประกันภัยและชำระค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกัน รวมถึงการชำระหนี้ต่อผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ ทั้งหมด โดยไม่ได้นำไปชำระหรือคืนให้แก่ผู้ถือหุ้นของอาคเนย์ประกันภัยหรือผู้ถือหุ้นรายใหญ่(กลุ่มTCC)แต่อย่าง ใด |
หน่วยงานกำกับ และ รัฐบาล | ปัญหาหนี้สินจะเป็นภาระต่อหน่วยงานกำกับ และ กองทุนประกันวินาศภัย (“กองทุนฯ”) ซึ่งอาจมีจำนวนมากถึง 10,000 ล้านบาท | ไม่เป็นภาระต่อหน่วยงานกำกับ และ กองทุนฯ หากจัดการกับภาระกรมธรรม์ประกันภัยทั้งหมดที่มีอยู่อย่างเหมาะสม |
ผู้ถือกรมธรรม์ Non Covid-19 ของอาคเนย์ประกันภัย 8,614,703 ราย | มีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับการคุ้มครองตามกรมธรรม์ เนื่องจากขึ้นอยู่กับทรัพย์สินที่เหลืออยู่ของ อาคเนย์ประกันภัย และการเยียวยาความเสียหายของกองทุนประกันวินาศภัยฯ ในช่วงระยะเวลาที่เกิดความเสียหายในอนาคต | ไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจาก ผู้ถือกรมธรรม์ จะได้รับการคืนเบี้ยประกันตามสัดส่วน หรือได้รับการคุ้มครองต่อเนื่อง หากย้ายกรมธรรม์ไปยังบริษัทประกันภัยอื่น |
ผู้ถือกรมธรรม์ Covid-19 ของอาคเนย์ประกันภัย 1,851,921 ราย | มีความเสี่ยงเช่นเดียวกับกรณี ผู้ถือกรมธรรม์ Non Covid-19 | ไม่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับกรณีผู้ถือกรมธรรม์ Non Covid-19 |
คู่ค้า (อาทิ อู่ซ่อมรถ/โรงพยาบาล/ตัวแทน) ของอาคเนย์ประกันภัย 9,000 ราย | มีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับค่าบริการ หรือได้รับล่าช้า หากอาคเนย์ประกันภัยถูกปิดกิจการและเข้าสู่กระบวนการขอรับชำระหนี้ในขั้นตอนของการชำระบัญชี | ได้รับชำระอย่างครบถ้วนหากอาคเนย์ประกันภัยยังมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน |
พนักงานอาคเนย์ประกันภัย 1,396 คน | พนักงานอาจถูกเลิกจ้างกระทันหัน ในกรณีถูกปิดกิจการ และจะได้รับเงินชดเชยล่าช้า เนื่องจากอาคเนย์ประกันภัยมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน | พนักงานจะได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมตามแผนงานในการเลิกประกอบธุรกิจตามที่ คปภ. ให้ความเห็นชอบ |
ที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัทฯ ครั้งที่ 2/2565 ซึ่งประชุมเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 จึงได้มติเกี่ยวกับการเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของ อาคเนย์ประกันภัย ดังนี้
- เห็นชอบกับแผนการเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของอาคเนย์ประกันภัยซึ่งเป็นการใช้สิทธิขอเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยโดยสมัครใจและส่งคืนใบอนุญาตประกอบธุรกิจต่อนายทะเบียนตามมาตรา 57 และ 57/1 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 (รวมทั้งที่การแก้ไขเพิ่มเติม)
- กับข้อเสนอที่ให้ อาคเนย์ประกันภัย โอนกิจการของ อาคเนย์ประกันภัย ให้แก่ บริษัท
อินทรประกันภัย จำกัด (มหาชน) เนื่องจากมีความเห็นว่าเมื่อคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยพิจารณาให้กองทุนประกันวินาศภัยเป็นผู้เข้ามาดำเนินการจัดการที่เกี่ยวข้องกับการเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของ อาคเนย์ประกันภัย ตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่กองทุนประกันวินาศภัยมีอยู่แล้ว ก็ควรให้กองทุนประกันวินาศภัยเป็นผู้มีอำนาจดำเนินการในเรื่องการดำเนินการคืนเบี้ยประกันให้กับผู้เอาประกันภัยทุกรายตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ อาคเนย์ประกันภัย ยังมีภาระผูกพันตามกรมธรรม์ประกันภัยต่อผู้เอาประกันภัยนั้น ๆ (ซึ่งรวมถึง กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุและการเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)) รวมทั้งการจัดหาผู้รับประกันภัยรายใหม่ให้แก่ผู้เอาประกันภัยตามหลักเกณฑ์และแนวทางของกองทุนประกันวินาศภัยด้วย โดยอาคเนย์ประกันภัย เป็นผู้ให้การสนับสนุนการดำเนินการด้านต่างๆ แก่กองทุนประกันวินาศภัยดังกล่าวเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้เอาประกันภัย และเพื่อเป็นการดูแลรักษาผลประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยและบุคคลที่เกี่ยวข้องในทุก ๆ ฝ่าย ดังนั้น บริษัทฯ จะมอบหมายให้ผู้รับมอบฉันทะนำเสนอต่อที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของ อาคเนย์ประกันภัยเพื่อลงมติเห็นชอบให้กองทุนประกันวินาศภัยเป็นผู้เข้ามาดำเนินการจัดการที่เกี่ยวข้องกับการเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของ อาคเนย์ประกันภัย ตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่กองทุนประกันวินาศภัยมีอยู่
การพิจารณาให้ อาคเนย์ประกันภัย ในฐานะบริษัทย่อยของบริษัทฯ เลิกประกอบกิจการเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการบริษัทที่จะพิจารณาเห็นชอบให้ดำเนินการไปได้โดยไม่ต้องขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ อย่างไรก็ตาม การเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยและการจัดการเกี่ยวกับภาระและกรมธรรม์ประกันภัยทั้งหมดของ อาคเนย์ประกันภัย จะต้องเป็นไปตามมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นของอาคเนย์ประกันภัยซึ่งจะจัดให้มีการประชุมในวันที่ 26 มกราคม 2565 โดยหากมีความคืบหน้าเป็นประการใด บริษัทฯ จะแจ้งให้ทราบต่อไป
[1] อาคเนย์ประกันภัยเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ โดยบริษัทฯ ถือหุ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 97.33
More Stories
แอกซ่าจัดเต็ม โปรโมชันประกันรถยนต์ ในงาน Motor Expo 2024 คุ้มค่าถึง 3 ต่อ
วิริยะประกันภัย – กรมขนส่งทางบก ชวน “ตรวจรถฟรี ขับขี่ปลอดภัย” เตรียมความพร้อมรับเดินทางปีใหม่ 2568
ธนชาตประกันภัย มอบรางวัลประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล คุ้มครอง 1 ล้านบาท ให้กับ เทพี และเทพบุตรยี่เป็งเชียงใหม่ 2567