พลังงาน
กระทรวงพลังงานแจงกรณีเหตุท่อน้ำมันดิบใต้ทะเล ของบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) มีการรั่วไหลในช่วงดึกคืนวันที่ 25 มกราคม 2565 บริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึก หรือจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเล (SPM) ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมือง ระยอง ซึ่งหลังเกิดเหตุ บริษัทฯ ได้ดำเนินการควบคุมสถานการณ์ทันที และดำเนินการสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน
เมื่อเร็วๆนี้ นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การรั่วไหลของน้ำมันดิบจากท่อใต้ทะเลของบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) เมื่อช่วงเวลาประมาณ 21.00 น. ของวันที่ 25 มกราคม 2565 ณ บริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึก หรือจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเล (SPM) ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมืองระยอง ซึ่งหลังเกิดเหตุ ทางบริษัทฯ ได้ดำเนินการใช้น้ำยาและอุปกรณ์เพื่อขจัดคราบน้ำมันอย่างเร่งด่วน รวมทั้งได้เร่งประสานหน่วยงานในพื้นที่ ได้แก่ ศูนย์เฝ้าระวังและควบคุมสิ่งแวดล้อม (EMCC), ศูนย์บัญชาการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินและกระจายข่าว, ชุมชนกลุ่มประมงใกล้เคียง, ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ในการช่วยกันดำเนินการเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด
“จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น กระทรวงพลังงาน ได้ตรวจสอบกับบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) โดยบริษัทได้ชี้แจงว่ามีปริมาณน้ำมันดิบในทะเล 20,000 ลิตร ซึ่งกระทรวงพลังงานได้มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน ติดตามสถานการณ์และตรวจสอบปริมาณน้ำมันสำรอง พบว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่กระทบต่อการจัดหาน้ำมันเพื่อรองรับการใช้ของประเทศอย่างแน่นอน รวมถึงมอบหมายให้พลังงานจังหวัดระยองติดตามสถานการณ์และประสานงานในพื้นที่ ซึ่งในภาพรวมประเทศไทยมีกำลังการกลั่นน้ำมันประมาณ 1.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในส่วนของโรงกลั่น SPRC มีกำลังการกลั่นประมาณ 175,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งการผลิตของโรงกลั่น SPRC ยังสามารถดำเนินการได้ และหากมีกรณีที่มีเหตุที่ไม่สามารถดำเนินการผลิตได้ ก็สามารถเพิ่มการผลิตของโรงกลั่นที่ไม่ได้รับผลกระทบ หรือ นำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเข้ามาได้ โดยปริมาณน้ำมันดิบสำรองของประเทศสามารถใช้ได้ประมาณ 28 วัน ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป” โฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าว
More Stories
SSP ติดปีก! รุกขยายพอร์ตโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ
ราช กรุ๊ป – เอไอเอฟ กรุ๊ป – โรนิตรอน จับมือศึกษาและพัฒนาโครงการผลิตกรีนไฮโดรเจน – กรีนแอมโมเนีย จากพลังงานสะอาดใน สปป.ลาว
“พลังงาน”ชูต้นแบบสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมืองคาร์บอนต่ำ