พลังงาน
กรุงเทพฯ, 27 มกราคม 2565 – ปตท.สผ. เผยผลการดำเนินงานปี 2564 ประสบความสำเร็จตามแผนกลยุทธ์ที่วางไว้ โดยเฉพาะการขยายการลงทุนในต่างประเทศ ส่งให้บริษัทมีผลประกอบการที่ดี สำหรับแผนกลยุทธ์เพื่อสร้างการเติบโตในอนาคต จะมองหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจใหม่ รองรับการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน และยังคงสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม อุปกรณ์ทางการแพทย์และงบประมาณอย่างต่อเนื่อง เพื่อต่อสู้กับสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19
นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยถึงความสำเร็จจากการดำเนินงานในปี 2564 ซึ่งเป็นไปตามแผนกลยุทธ์ที่วางไว้ แม้จะยังคงเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่ง ปตท.สผ. ได้ร่วมในการต่อสู้กับวิกฤตโลกครั้งนี้มาโดยตลอด ทั้งการพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานด้านสาธารณสุข ได้แก่ เตียงและรถเข็นเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแรงดันลบ กล่องทำหัตถการแรงดันลบ ชุดอุปกรณ์ระบบตรวจวัดอุณหภูมิตู้เก็บวัคซีนโควิด-19 และควบคุมห่วงโซ่ความเย็น หุ่นยนต์ CARA นำส่งเวชภัณฑ์และอาหาร และหุ่นยนต์ Xterlizer ฆ่าเชื้อโรคอัตโนมัติด้วยแสงยูวี รวมทั้ง สนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์และงบประมาณอย่างต่อเนื่องให้กับโรงพยาบาล สถาบันการศึกษา และหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ได้แก่ การพัฒนาวัคซีนจุฬาฯ-ใบยา เครื่องให้อากาศผสมออกซิเจนอัตราการไหลสูง เครื่องฟอกไตประสิทธิภาพสูง เครื่องผลิตออกซิเจน และกล่องความห่วงใย ซึ่งบรรจุชุดยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 สำหรับการรักษาตัวที่บ้าน ชุด PPE และหน้ากากอนามัย เป็นต้น เพื่อสนับสนุนการลดหรือควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ บริษัทยังคงเดินหน้าโครงการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างคุณค่าในระยะยาวให้แก่สังคมและชุมชน โดยให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและนิเวศทางทะเล เช่น โครงการศึกษาและวิเคราะห์ปริมาณไมโครพลาสติกครั้งแรกในอ่าวไทย รวมถึง ยังคงสานต่อโครงการเพื่อสังคม โดยในปี 2564 ได้เปิดศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักสัตว์น้ำเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอีก 6 แห่ง เพื่อส่งเสริมการเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนชายฝั่งในหลายจังหวัดภาคใต้ การจัดทำแนวเขตอนุรักษ์ชายฝั่งทะเลและบ้านปลา และสนับสนุนการอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลในจังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง เป็นต้น
ในปี 2564 ปตท.สผ. สามารถลดความเข้มของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมการดำเนินงานต่าง ๆ ได้ในปริมาณ 365,177 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ จากการปรับปรุงกระบวนการผลิตและริเริ่มโครงการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การนำก๊าซเหลือทิ้งหรือก๊าซส่วนเกินกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตหรือนำไปใช้ประโยชน์ และการปลูกป่าชายเลนเพื่อช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ
ด้านผลการดำเนินงาน ปตท.สผ. ประสบความสำเร็จในการเข้าร่วมทุนในโครงการโอมาน แปลง 61 ซึ่งเป็นแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ของประเทศโอมาน รวมถึงการเริ่มผลิตก๊าซธรรมชาติในโครงการมาเลเซีย แปลงเอช ซึ่งช่วยเพิ่มปริมาณขายให้กับบริษัทได้อย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 416,141 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับ 354,052 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันของปีก่อน ประกอบกับราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยในปี 2654 ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ในปี 2564 ปตท.สผ. มีรายได้รวม 7,314 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 234,631 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 37 จากปี 2563 ซึ่งมีรายได้รวม 5,357 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 167,418 ล้านบาท)
อย่างไรก็ตาม บริษัทมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากรายการที่ไม่ใช่การดำเนินงานปกติ (Non-recurring items) โดยหลักมาจากการตั้งด้อยค่าของสินทรัพย์ (Impairment) ในโครงการโครงการโมซัมบิก แอเรีย 1 จากการปรับแผนการพัฒนา เนื่องจากความไม่สงบภายในประเทศโมซัมบิก รวมถึง ผลขาดทุนจากการประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน
จากปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้ ปตท.สผ. มีกำไรสุทธิในปี 2564 ที่ 1,211 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 38,864 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 68 จากปี 2563 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 720 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 22,664 ล้านบาท) ทั้งนี้ บริษัทยังคงสามารถรักษาระดับต้นทุนต่อหน่วย (Unit cost) ที่ 28.52 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ และมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา ที่ร้อยละ 73 ซึ่งเป็นไปตามที่เป้าหมายที่วางไว้
“ความสำเร็จในการดำเนินงานของ ปตท.สผ. ปี 2564 ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการขยายการลงทุนในต่างประเทศ ทั้งในมาเลเซีย และภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งส่งผลให้การดำเนินงานเติบโตตามเป้าหมาย และยังคงส่งผลต่อเนื่องมาถึงปีนี้ด้วย สำหรับแผนงานหลักในปี 2565 นี้ ปตท.สผ. จะให้ความสำคัญกับกระบวนการเปลี่ยนผ่านการดำเนินการในแปลงจี 1/61 หรือแหล่งเอราวัณ ซึ่งบริษัทจะเข้าเป็นผู้ดำเนินการ (Operator) ในเดือนเมษายนนี้ เพื่อให้การผลิตก๊าซฯ ให้กับประเทศเป็นไปอย่างราบรื่น โดยเมื่อเข้าไปเป็นผู้ดำเนินการแล้ว บริษัทจะพยายามอย่างเต็มความสามารถเพื่อทำให้อัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติซึ่งลดลงอย่างต่อเนื่องในขณะนี้เพิ่มสูงขึ้น เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับความต้องการใช้ก๊าซฯ ของประเทศไทย สำหรับแผนงานในต่างประเทศ ปตท.สผ.คาดว่าจะเริ่มการผลิตครั้งแรกในโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ ได้ในเร็ว ๆ นี้ รวมทั้ง จะเร่งพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมต่าง ๆ ที่บริษัทสำรวจพบในประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้ ยังศึกษาความเป็นไปได้สำหรับโครงการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และนำไปกักเก็บในอ่าวไทย (Carbon Capture Storage – CCS) ตามนโยบายที่มุ่งสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำในอนาคต” นายมนตรี กล่าว
อนุมัติจ่ายปันผล 5 บาทต่อหุ้น
จากผลประกอบการข้างต้น คณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2565 อนุมัติเสนอจ่ายเงินปันผล สำหรับปี 2564 ที่ 5 บาทต่อหุ้น ทั้งนี้ ปตท.สผ. ได้จ่ายสำหรับงวด 6 เดือนแรกไปแล้วในอัตรา 2 บาทต่อหุ้นเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2564 ส่วนที่เหลืออีก 3 บาทต่อหุ้น จะกำหนดวันให้สิทธิผู้ถือหุ้น (Record Date) เพื่อรับสิทธิในการรับเงินปันผลวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 และจะจ่ายในวันที่ 18 เมษายน 2565 ภายหลังได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี 2565 แล้ว
ปรับแผนกลยุทธ์ มุ่งสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ
นายมนตรี กล่าวต่อว่าในช่วงการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของโลก ซึ่งมุ่งเน้นไปยังพลังงานสะอาดนั้น ปตท.สผ. ได้เตรียมพร้อมรองรับการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว เพื่อจะมุ่งสู่การเป็นผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติโดยใช้เทคโนโลยีมาช่วยส่งเสริมให้เกิดพลังงานสะอาดมากขึ้น เช่น การศึกษาความเป็นไปได้ของการนำเทคโนโลยีการดักจับ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage – CCS) เข้ามาใช้ในแท่นผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย รวมทั้ง พลังงานรูปแบบใหม่ในอนาคต (Future Energy) ซึ่งการดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์ดังกล่าวนี้ จะช่วยให้ ปตท.สผ. สามารถดำเนินการผลิตก๊าซธรรมชาติเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศได้อย่างต่อเนื่อง เสริมสร้างการเติบโต และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับ ปตท.สผ.ในอนาคต
More Stories
SSP ติดปีก! รุกขยายพอร์ตโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ
ราช กรุ๊ป – เอไอเอฟ กรุ๊ป – โรนิตรอน จับมือศึกษาและพัฒนาโครงการผลิตกรีนไฮโดรเจน – กรีนแอมโมเนีย จากพลังงานสะอาดใน สปป.ลาว
“พลังงาน”ชูต้นแบบสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมืองคาร์บอนต่ำ