พร้อมส่งมอบห้องเรียนสีเขียว ส่งเสริมเยาวชนอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม
กฟผ. จัดกิจกรรมปลูกป่าเศรษฐกิจ จ.น่าน ภายใต้โครงการ “ปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม” สร้างความยั่งยืน ด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และพลังงาน มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (EGAT Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 พร้อมเดินหน้าส่งมอบห้องเรียนสีเขียว 2021 ให้กับกลุ่มโรงเรียนในพระราชูปถัมภ์ฯ จำนวน 15 โรงเรียน เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมให้กับเยาวชนอย่างยั่งยืน
เมื่อเร็วนี้ นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานและประธานกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นประธานเปิดกิจกรรม Kick off ปลูกป่าเศรษฐกิจในโครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม โดยมีเป้าหมายในการจัดการปัญหาด้านคุณภาพอากาศ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวของประเทศรวมถึงเพิ่มการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ โดยมีนายกฤชเพชร เพชระบูรณิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นายชิดชนก สุขมงคล ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ผู้บริหาร กฟผ. หน่วยงานราชการ หน่วยงานพันธมิตร นักเรียน นักศึกษา และชุมชนกว่า 200 คน เข้าร่วมกิจกรรม ณ บ้านพงษ์ อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานและประธานกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงพลังงาน มีนโยบายในการยกระดับการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 – 2070 โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วมจึงเป็นโครงการสำคัญที่สนองนโยบายดังกล่าว และนำมาปฏิบัติได้อย่างทันท่วงที สามารถสร้างประโยชน์ในการดูดซับและกักเก็บคาร์บอน ช่วยชดเชยการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตไฟฟ้า ซึ่งการดำเนินงานต้องอาศัยความร่วมมือและการรวมพลังกันของทุกภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องผนึกกำลังและแสดงเจตนารมณ์ในการดำเนินงานที่เป็นประโยชน์ให้กับประเทศ เพื่ออนาคตของประเทศไทยและคนไทยทุกคน
ด้านนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วมของ กฟผ. เป็นโครงการที่สนองนโยบายรัฐบาล โดยมีเป้าหมายปลูกป่า จำนวน 1,000,000 ไร่ ภายในระยะเวลา 10 ปี ในระหว่างปี พ.ศ. 2565-2574 โดยได้ดำเนินการปลูกป่าทั้งป่าอนุรักษ์ ป่าชุมชน ป่าเศรษฐกิจและป่าชายเลน เพื่อดูดซับและกักเก็บคาร์บอนมากกว่า 1.2 ล้านตัน CO2 ต่อปี และคาดว่าตลอดระยะเวลาโครงการฯ จะสามารถดูดซับและกักเก็บคาร์บอนได้ทั้งสิ้นประมาณ 23.6 ล้านตัน CO2 และ กฟผ. ยังได้วางแนวทางการดูแลและบำรุงรักษาป่าอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2583 ผ่านการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนและพันธมิตร เพื่อตรวจติดตามอัตราการรอดตาย และอัตราการเติบโตของกล้าไม้ร่วมกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนการตรวจติดตาม
สำหรับการปลูกป่าที่จังหวัดน่านในครั้งนี้ เป็นป่าเศรษฐกิจมีจำนวน 19 ไร่ ที่บ้านพงษ์ อำเภอสันติสุข โดยก่อนหน้านี้ กฟผ. ได้ร่วมมือกับพันธมิตร ดำเนินการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติในพื้นที่จังหวัดน่าน มาตั้งแต่ ปี 2537-2561 ทั้งป่าสงวนแห่งชาติ ป่าต้นน้ำ ป่าชุมชน รวม 105,800 ไร่ ครอบคลุม 12 อำเภอ สามารถดูดซับและกักเก็บคาร์บอนได้ทั้งสิ้นประมาณ 100,000 ตัน CO2
นอกจากกิจกรรมปลูกป่าแล้วในวันนี้ ปลัดกระทรวงพลังงาน ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ส่งมอบห้องเรียนสีเขียวสำหรับโรงเรียนในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร จำนวน 15 โรงเรียน ให้นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ณ โรงเรียนราชปิโยรสา ยุพราชานุสรณ์ อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน เพื่อร่วมสร้างพลังเยาวชนให้มีองค์ความรู้เป็นผู้นำด้านอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมในชีวิตประจำวันอย่างยั่งยืน ด้วยการจัดตั้งชุมชนห้องเรียนสีเขียวและขยายผลไปยังครอบครัว ชุมชน และสังคมโดยรอบ พร้อมจัดทำตารางแผนกิจกรรมเครือข่ายห้องเรียนสีเขียวอย่างเป็นระบบผ่านประสบการณ์ในพื้นที่จริง (On-site) และการเรียนรู้ในรูปแบบออนไลน์ (Virtual Learning) ที่สามารถเชื่อมต่อไปยังโรงเรียนอื่นได้ ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เป็นการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างยั่งยืน
More Stories
SSP ติดปีก! รุกขยายพอร์ตโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ
ราช กรุ๊ป – เอไอเอฟ กรุ๊ป – โรนิตรอน จับมือศึกษาและพัฒนาโครงการผลิตกรีนไฮโดรเจน – กรีนแอมโมเนีย จากพลังงานสะอาดใน สปป.ลาว
“พลังงาน”ชูต้นแบบสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมืองคาร์บอนต่ำ