20 พฤศจิกายน 2024

THE MASTER

ย่อโลกข่าวไว้ในมือคุณ

ส.ประกันวินาศภัยไทย ขอย้ำอย่าแชร์ “รายชื่อ Blacklist บริษัทประกัน (รถยนต์)” ข้อความเท็จกลับมาระบาดในโซเชียล

ประกัน/MLMNEWS

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยถึงกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อความเท็จบนสื่อออนไลน์เกี่ยวกับรายชื่อ Blacklist บริษัทประกัน (รถยนต์) ที่กลับมาแพร่ระบาดโดยการส่งต่อกันในโลกโซเชียลมีเดียอีกครั้งว่า เหตุการณ์ดังกล่าวนี้เคยเกิดขึ้นและเป็นข่าวมาแล้วหลายครั้ง โดยเมื่อปี 2557 และ 2563 สมาคมประกันวินาศภัยไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ร่วมกันชี้แจงข้อเท็จจริงและยืนยันว่าข้อความที่มีการส่งต่อกันนั้นไม่เป็นความจริง และได้มีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าวและนำไปแชร์ต่อเพื่อไม่ให้เกิดการรับรู้ที่ผิด อีกทั้งบริษัทประกันภัยที่ได้รับความเสียหายจากข้อความที่ส่งต่อกันนี้ได้มีการดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่สร้างข่าวลือ และผู้กระทำผิดได้ออกมาแถลงข่าวขอโทษผ่านสื่อมวลชนแล้วนั้น

ทั้งนี้ ปัจจุบันพบว่ายังคงมีประชาชนที่ได้รับข้อความดังกล่าวที่มีการส่งต่อกันมาและมีผู้หลงเชื่อส่งต่อข้อความดังกล่าวนั้นไปอีก สมาคมประกันวินาศภัยไทย จึงได้ตรวจสอบข้อมูลล่าสุดตามข้อความที่ได้มีการกล่าวอ้างถึงรายชื่อบริษัทประกันวินาศภัย และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบข้อมูลที่แท้จริง เพื่อไม่ให้ผู้ที่ไม่หวังดีนำไปใช้ในการกล่าวอ้างหรือหวังผลในทางที่ไม่ถูกต้องอีกต่อไป

สำหรับบริษัทประกันวินาศภัยที่ถูกกล่าวอ้างในข้อความดังกล่าว จำนวน 5 บริษัทนั้น ปัจจุบันได้ปิดกิจการไปแล้ว ได้แก่

1. บริษัท พาณิชยการประกันภัย จำกัด ปิดกิจการ เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2548

2. บริษัท สัมพันธ์ประกันภัย จำกัด ปิดกิจการ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2552

3. บริษัท ลิเบอร์ตี้ประกันภัย จำกัด ปิดกิจการ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2554

4. บริษัท พัชรประกันภัย จำกัด มีการเปลี่ยนชื่อ เป็น บริษัท ธนสินประกันภัย จำกัด (มหาชน) และเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น บริษัท ยูเนี่ยนอินเตอร์ ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และปิดกิจการ เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2557

5. บริษัท สินทรัพย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) มีการเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และปิดกิจการ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2564

ส่วนบริษัทประกันวินาศภัยอีก 3 บริษัท ที่ถูกกล่าวอ้างโดยมีการบิดเบือนข้อเท็จจริงในข้อความที่ส่งต่อกันนั้น ปัจจุบันยังคงดำเนินการประกอบธุรกิจตามปกติ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

– บริษัท มิตรแท้ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจเข้าสู่ปีที่ 75 มีทุนจดทะเบียน 1,618 ล้านบาท ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนร้อยละ 533 และอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องร้อยละ 421 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่สำนักงาน คปภ. ได้กำหนดไว้ สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 295 ถนนสี่พระยา แขวงสี่พระยา เขตบางรัก กรุงเทพฯ โทรศัพท์: 0 2640 7777 Hotline: 1741

– บริษัท เอราวัณประกันภัย จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจเข้าสู่ปีที่ 40 มีทุนจดทะเบียน 570 ล้านบาท ณ ไตรมาสที่ 3/2564 มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนร้อยละ 204.34 สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 292 ถนนเยาวราช แขวงจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ 10100 โทรศัพท์: 0 2224 0056

– บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจเข้าสู่ปีที่ 76 มีทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท โดยข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 บริษัทอาคเนย์ฯ ได้มีหนังสือยื่นคำขออนุญาตเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยต่อคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คณะกรรมการ คปภ.) ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการ คปภ. ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2565 มีมติรับคำขอเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัทอาคเนย์ฯ พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขฯ เพื่อพิทักษ์ประโยชน์ผู้บริโภค ให้ปฏิบัติให้แล้วเสร็จ ก่อนเสนอคณะกรรมการ คปภ. เพื่อพิจารณาว่าจะอนุญาตให้เลิกกิจการหรือไม่ ทั้งนี้ ในระหว่างที่บริษัทยังไม่ได้รับอนุญาตให้เลิกกิจการจากคณะกรรมการ คปภ. บริษัทยังต้องประกอบธุรกิจตามปกติ ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์สามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทได้เช่นเดิม

“ทุกวันนี้มีข่าวปลอมและข่าวเท็จที่ส่งต่อเผยแพร่กันในอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียมีอยู่เป็นจำนวนมาก ประชาชนผู้รับข่าวสารควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ก่อนส่งต่อหรือแชร์ทุกครั้ง เพราะไม่เช่นนั้นอาจตกเป็นเครื่องมือของผู้ที่มีเจตนาไม่ดี รวมทั้งอาจมีความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 ซึ่งมีโทษตามกฎหมายได้ ดังนั้นหากท่านได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับบริษัทประกันวินาศภัยที่ส่งต่อมาทางโซเชียลมีเดียและมีข้อสงสัย สามารถสืบค้นข้อเท็จจริงของข้อมูลด้านการประกันภัยได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงาน คปภ. (www.oic.or.th) และเว็บไซต์ของสมาคมประกันวินาศภัยไทย (www.tgia.org) หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน คปภ. 1186 หรือ สมาคมประกันวินาศภัยไทย โทร. 0 2108 8399 ” นายอานนท์ กล่าวทิ้งท้าย

Skip to content