พลังงาน
เตรียมพัฒนาเป็นแหล่งผลิตพลังงานสะอาดแห่งอนาคตที่มีเสถียรภาพและราคาถูก
กฟผ. ร่วมโครงการพัฒนาเครื่องโทคาแมคเครื่องแรกของประเทศไทย “ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์” เสริมพลังงานสะอาดแห่งอนาคตเพื่อคนไทย มั่นใจจะเป็นการดิสรัปพลังงานหมุนเวียน ช่วยให้อนาคตไทยและอาเซียนมีแหล่งพลังงาน ที่มีเสถียรภาพและราคาถูก สร้างรายได้ให้ประเทศ คาดแล้วเสร็จและเริ่มทดลองใช้ปีหน้า
ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการพัฒนาเครื่องโทคาแมคเครื่องแรกของประเทศไทย: “ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์” พลังงานสะอาดแห่งอนาคตเพื่อคนไทย โดยมีนายอำพล อังคภากรณ์กุล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทน.) และนายสาธิต ครองสัตย์ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้แทน กฟผ. เข้าร่วมในพิธี พร้อมร่วมเสวนาในหัวข้อ “ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์ พลังงานสะอาดแห่งอนาคตเพื่อคนไทย (จุดเริ่มต้น และโอกาส ของประเทศไทย)” ณ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) อ.องครักษ์ จ.นครนายก เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565
นายสาธิต ครองสัตย์ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ กฟผ. เปิดเผยว่า กฟผ. เป็นหน่วยงานภาครัฐดูแลความมั่นคงและเสถียรภาพของพลังงานไฟฟ้า จึงให้ความสนใจเรื่องพลังงานใหม่ ๆ เพื่อพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ กอปรกับภาครัฐได้ออกมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อสนับสนุนประชาชนให้ใช้ไฟฟ้าแทนน้ำมัน ทำให้มีอุปกรณ์เชื่อมต่อเสียบปลั๊กมากขึ้น และเป็นไปตามเทรนด์โลกที่เข้าสู่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งประเทศต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทย ได้ประกาศเป้าหมายเพื่อเข้าสู่ Carbon Neutrality ในปี ค.ศ. 2050 และ Net Zero Carbon ในปี ค.ศ. 2065 – 2070 ด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่ง กฟผ. ได้ปรับการผลิตไฟฟ้าจากฟอสซิลเป็นพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เช่น ลม แสงอาทิตย์ ชีวมวล เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนให้น้อยลง อย่างไรก็ตามพลังงานหมุนเวียนเหล่านี้เกิดจากธรรมชาติที่ไม่สามารถควบคุมได้ จึงเป็นจุดอ่อนที่ต้องแก้ไขเพื่อให้มีเสถียรภาพ ซึ่งการมีดวงอาทิตย์ประดิษฐ์นี้จะเป็นการดิสรัปพลังงานหมุนเวียนอีกทางหนึ่ง ทำให้สามารถควบคุมสั่งการได้ รวมถึงทำให้มีแหล่งพลังงานที่มีเสถียรภาพและราคาถูก
นายสาธิต กล่าวเพิ่มเติมว่า กฟผ. ได้ติดตามและเรียนรู้เทคโนโลยีฟิวชั่นที่กำลังก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว โดยหากเทคโนโลยีนี้มีความเป็นไปได้ทั้งทางเทคนิคและเศรษฐศาสตร์ กฟผ. ก็หวังเป็นองค์การแรก ๆ ที่พร้อมใช้เทคโนโลยีฟิวชั่นในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะตอบโจทย์ทั้งด้านการจ่ายไฟฟ้าอย่างมั่นคง เนื่องจากมีลักษณะการผลิตไฟฟ้าแบบเดียวกับการผลิตไฟฟ้าจากฟอสซิล แต่ไม่มีการปลดปล่อย CO2 จึงตอบโจทย์ทิศทางของโลกและประเทศไทย รวมถึงเทคโนโลยีฟิวชั่นยังใช้เชื้อเพลิงที่มีสำรองในโลกอยู่เป็นจำนวนมากและสามารถหาได้จากทั่วโลกอีกด้วย
ที่ผ่านมา กฟผ. ได้ให้ความร่วมมือและสนับสนุน สนท. ทั้งในลักษณะ In-Cash และ In-Kind ด้วยการให้ทุนวิจัย พร้อมส่งนักวิจัย กฟผ. เข้าร่วมโครงการวิจัย เพื่อเรียนรู้และเข้าใจในเทคโนโลยีดวงอาทิตย์ประดิษฐ์นี้ให้มากพอที่จะสามารถเข้าไปทำเชิงวิศวกรรม ควบคุมงานก่อสร้าง เดินเครื่อง และซ่อมบำรุงรักษาได้ แม้ว่า กฟผ. อาจจะไม่ใช่ผู้ผลิต แต่สามารถให้คำแนะนำ ดูแล และออกแบบให้เหมาะสมกับประเทศไทยได้
สำหรับเครื่องโทคาแมคที่ไทยได้ร่วมพัฒนากับสถาบันพลาสมาฟิสิกส์ของจีน (ASIPP) นี้ มีชื่อว่า Thai Tokamak-1 หรือ TT-1 ซึ่งคาดว่าอุณหภูมิของพลาสมาในระยะแรกจะอยู่ที่ประมาณ 1 แสนองศาเซลเซียส สทน. จึงมีแผนพัฒนาระบบให้ความร้อนเสริมแก่พลาสมาด้วยวิธีการให้ความร้อนด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อยกระดับอุณหภูมิของพลาสมาไปสู่ระดับ 1 ล้านองศาเซลเซียส และในอนาคตจะมีการออกแบบและสร้างเครื่องโทคาแมคเครื่องใหม่เอง โดยสร้างสนามแม่เหล็กที่มีความเข้มสูงขึ้นสำหรับกักพลาสมาและการให้ความร้อนเสริมด้วยวิธีการต่าง ๆ คาดว่าจะสามารถสร้างพลาสมาที่มีอุณหภูมิสูงในระดับ 10 ล้านองศาเซลเซียสได้ โดยเครื่องโทคาแมคที่ติดตั้งที่ สทน. จะเป็นแหล่งผลิตพลังงานสะอาดในอนาคต และคาดว่าจะเดินเครื่องครั้งแรกได้ภายในปี 2566
More Stories
SSP ติดปีก! รุกขยายพอร์ตโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ
ราช กรุ๊ป – เอไอเอฟ กรุ๊ป – โรนิตรอน จับมือศึกษาและพัฒนาโครงการผลิตกรีนไฮโดรเจน – กรีนแอมโมเนีย จากพลังงานสะอาดใน สปป.ลาว
“พลังงาน”ชูต้นแบบสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมืองคาร์บอนต่ำ