26 พฤศจิกายน 2024

THE MASTER

ย่อโลกข่าวไว้ในมือคุณ

วิศวะ จุฬาฯ ร่วมกับ สยามพิวรรธน์ และเครือข่ายพันธมิตร เดินหน้าสร้างสังคมยั่งยืน

CSR.

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด โครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคมเพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน (PPP Plastics) สถาบันพลาสติก และเครือข่ายพันธมิตร จัดนิทรรศการ “Let’s Close the Loop” และกิจกรรมประกวดแผนธุรกิจ (Business model) “From Pieces to Business” เพื่อการจัดการพลาสติกตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ศูนย์การค้า โดยมีเป้าหมายเพื่อการเผยแพร่ความรู้ สถานการณ์และแนวคิดการจัดการพลาสติกในประเทศไทย รวมถึงเพื่อรวบรวมแนวคิดโมเดลธุรกิจด้านการจัดการพลาสติกจากนิสิต นักศึกษา และผู้ประกอบการรุ่นใหม่

นางสาวนราทิพย์ รัตตประดิษฐ์ ประธานบริหารสายงานปฎิบัติการ (Chief Operating Officer) บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด เปิดเผยว่า ความร่วมมือระหว่างสยามพิวรรธน์ สถาบันพลาสติก และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในครั้งนี้ ถือเป็นการตอกย้ำภารกิจที่สะท้อนวิสัยทัศน์การดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ที่เอื้ออำนวยประโยชน์ให้กับคนจำนวนมาก และต้องการเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นกับสังคมในวงกว้าง ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนไทย ตลอดจนดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน โครงการ Siam Pieces โดยวันสยาม (สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ สยามพารากอน) คือพื้นที่เป้าหมายหลักในการใช้ศึกษาและนำผลวิจัยไปวิเคราะห์เพื่อเตรียมจัดทำเป็นแนวคิดพัฒนาแบบแผนธุรกิจ (Business Model) การบริหารจัดการขยะพลาสติกในสังคมเมือง นำไปสู่รูปแบบโมเดลทางธุรกิจในการนำขยะพลาสติกทุกชนิดกลับเข้าสู่ระบบการผลิตและการนำกลับมาใช้ประโยชน์ จึงเป็นอีกก้าวสำคัญที่ช่วยต่อยอดโครงการด้านสิ่งแวดล้อมของสยามพิวรรธน์ ซึ่งมุ่งมั่นเป็นต้นแบบของศูนย์การค้าที่ให้ความสำคัญเรื่องการบริหารจัดการขยะพลาสติกอย่างจริงจัง อีกทั้งเรายังได้ให้การสนับสนุนพื้นที่ของสยามพารากอน ดำเนินกิจกรรม Let’s close the loop เป็นโครงการต่อเนื่องที่จัดขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจและกระตุ้นให้ผู้บริโภคเกิดความตระหนักในพฤติกรรมการทิ้งขยะพลาสติกของตนเอง ผ่านนิทรรศการให้ความรู้ กิจกรรมเสวนา นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษา ได้นำเสนอผลงาน Business model competition ชูความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมในการช่วยแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก ซึ่งตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการ ทั้งหมดนี้ถือเป็นการเชื่อมโยงประกอบภาพให้สามารถบริหารจัดการพลาสติกได้อย่างครบวงจร เป็นกลไกที่ส่งเสริม ขับเคลื่อน และขยายผลให้เกิดประโยชน์ด้วยการนำแบบแผนธุรกิจไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่อื่นๆ สำหรับการบริหารจัดการกับขยะพลาสติกหลังการใช้ให้เหมาะสมต่อไป

นายวีระ ขวัญเลิศจิตต์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติกกล่าวว่า “สถาบันพลาสติก ได้รับมอบหมายจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของสำนักงานนโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช) สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้ดำเนินการโครงการพัฒนาแบบแผนธุรกิจ (Business Model) สำหรับการบริหารจัดการขยะพลาสติกหลังการใช้ โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในพื้นที่เขตเมืองชั้นใน อันเป็นโครงการหนึ่งที่สนองตอบวาระแห่งชาติเรื่อง BCG ของประเทศไทย โดยดำเนินงาน ร่วมกับ PPP Plastics บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อเป็นแนวทางในการจัดทำแผนธุรกิจให้มีความเหมาะสมกับพื้นที่ สำหรับการปรับปรุงเครื่องมือ อุปกรณ์ รวมถึงพฤติกรรม ที่สามารถช่วยให้เกิดการคัดแยก และนำพลาสติกกลับเข้าสู่ระบบได้เพิ่มมากขึ้น และเชื่อมโยงข้อมูลทั้ง value chain ด้วย Digital Platform ทั้งนี้ ตามแผนการดำเนินงานโครงการ กิจกรรม From Pieces to Business ถือเป็นส่วนเสริมสำคัญ โดยโครงการได้เปิดรับแนวคิดด้านการบริหารจัดการขยะพลาสติก เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของที่แท้จริงของผู้ประกอบการในพื้นที่ได้ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผลงานจากการประกวด กิจกรรม ‘From Pieces to Business’ จะสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยพัฒนาแนวคิดด้านการบริหารจัดการของประเทศได้ต่อไป”

ด้านศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดีด้านยุทธศาสตร์นวัตกรรมและความยั่งยืน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า โจทย์ที่เรากำลังจะมองกันคือการที่จะปิด Loop การจัดการขยะพลาสติกในเขตบริเวณตัวเมือง ถ้าเรามองมาที่ประเทศไทย พื้นที่ที่อยู่รอบ ๆ บริเวณเขตปทุมวันคือพื้นที่เมืองที่มีประชากรค่อนข้างหนาแน่น และเป็นหัวใจหลักที่นักท่องเที่ยวจะมาใช้ชีวิตอยู่ โดยงานในวันนี้เรามี 4 ภาคส่วนที่มาอยู่ร่วมกัน ภาคส่วนที่ 1 คือทาง บพข. ภาคส่วนที่ 2 ภาคเอกชน มีทาง PPP Plastic และกลุ่มบริษัทชั้นนำของประเทศ ภาคส่วนที่ 3 คือสถาบันวิชาการ ทั้งทางสถาบันพลาสติกและคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคส่วนสุดท้ายคือภาครัฐ ทั้งกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมและเขตปทุมวัน โดยในความหมายของชื่อโครงการ SIAM PIECES คำว่า PIECES นั้นเกิดขึ้นมาจาก PI = Piwat, E = Empowerment และ CES = Circular Economy Society โดยเป้าหมายหลักที่เราอยากได้คือ Business Model ซึ่งถ้าคิดขึ้นมาบนพื้นฐานของนักวิชาการหรือภาครัฐคิดนั้นจะค่อนข้างเป็น Top-Down แต่สิ่งที่เราอยากได้คือการมีส่วนร่วม การที่จะ Empower และเป็นเจ้าของ Business Model ร่วมกัน สิ่งที่ผู้เข้าร่วมแข่งขันคิดและนำเสนอมาให้คิดว่าสิ่งเหล่านี้ได้ถูกส่งต่อมาถึงกลุ่มคนที่เป็น Community ที่ลงมือทำจริง การประกวด Business Model Competition ในครั้งนี้เป็นสิ่งที่ค่อนข้างแปลกใหม่เมื่อเทียบกับการทำงานวิจัยทั่วไป ถึงแม้เราจะไม่ได้ Business Model ที่ดีเยี่ยมที่สุดแต่มั่นใจว่าเราได้คนรุ่นใหม่ที่เข้าใจการจัดการพลาสติก มีใจรักษ์โลก และร่วมทำเพื่ออนาคต

นิทรรศการ “Let’s Close the Loop” และกิจกรรม “From Pieces to Business” นี้เป็นบทสรุปของกิจกรรมประกวดแผนธุรกิจในการจัดการพลาสติกตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มีกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ผู้เข้าแข่งขันมีความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์พลาสติกในประเทศไทยและการจัดการที่ถูกต้องจนครบวงจร ตลอดจนการให้ความรู้ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาแผนธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นแนวทางการจัดการขยะที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เพื่อก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และหลักการและแนวทางเบื้องต้นในการพัฒนาแบบแผนธุรกิจ รวมถึงการให้คำปรึกษาและรับฟังคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ผู้เข้าแข่งขันนำไปต่อยอดและพัฒนาแนวคิดแผนธุรกิจที่เป็นไปได้จริงในการจัดการพลาสติก รวมถึงเป็นการสื่อสารเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และสร้างความตระหนักรู้ด้านการจัดการพลาสติกอย่างครบวงจรตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนให้แก่บุคคลทั่วไปที่เข้าร่วมชมนิทรรศการและกิจกรรมที่เกิดขึ้นในขยายสู่สังคมในวงกว้างต่อไป

สำหรับการประกวดทีมชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม HexGate ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกทั้งหมด 3 คน 1. นายปฐมพงษ์ ศรีอมร (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) 2. นายสรรเพชญ แสงนิล (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) และ 3. นายภูมินทร์ ชุมภู (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี) โดยมาในแนวคิด RECY Recycle for life เป็น Platform ตัวกลางรวบรวมขยะเพื่อการจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดย RECY จะเข้ามาช่วยให้ผู้คนมีความต้องการที่จะแยกขยะรีไซเคิลมากยิ่งขึ้น ผ่านการรับซื้อขยะพร้อมเสนอข้อมูลที่รวบรวมและวิเคราะห์ด้วย AI มีการจัดเก็บรายละเอียดตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงจุดสิ้นสุด เริ่มจากการรับซื้อขยะรีไซเคิลถึงหน้าบ้าน (BUY) และมีการติดตามผลการทิ้งขยะรีไซเคิล (TRACK) รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลและส่งออก (ANALYZE) อีกทั้งยังสามารถสะสมคะแนนแลกรางวัล (REWARD) นอกจากนี้ยังมีจุดทิ้งขยะ (Drop Point) ซึ่งสามารถหาตำแหน่งได้จาก RECY Platform เพื่อขายขยะรีไซเคิลผ่าน Drop Point ได้อีกด้วย ซึ่งคณะกรรมการได้เล็งเห็นว่า Business model ที่ทีมผู้ชนะได้คิดขึ้นมานั้น ตอบโจทย์ใหญ่ของโครงการ นั่นก็คือประเด็นเรื่องของการจัดการพลาสติกอย่างครบวงจรตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงมีความเป็นไปได้ในการใช้งานจริง สามารถดำเนินการได้เลย เเละมีเเนวโน้มในการขยายผลได้ สำหรับทีมที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม 2BGREEN ชื่อผลงาน COCOPACK ในการผลิตบรรจุภัณฑ์จากกาบมะพร้าวและเศษวัสดุทางการเกษตรเพื่อใช้ทดแทนบรรจุภัณฑ์พลาสติก และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม Fishing Pool ชื่อผลงาน คนละขวด ในการสร้างวงจรการหมุนเวียนขวดพลาสติกสู่การเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้

Skip to content