Business
กรุงเทพฯ 18 มีนาคม 2565 – กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เผยโอกาสธุรกิจสมุนไพรสำหรับการส่งออกสดใส เร่งเครื่องพัฒนาผู้ประกอบการตามแนวคิด BCG MODEL สานต่อโครงการ “พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพร สู่ตลาดต่างประเทศ” ปีที่ 2 จัดสัมมนา “BCG ECONOMY โมเดลเศรษฐกิจใหม่กับโอกาสของผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย” ผนึกพันธมิตรภาคเอกชน ทั้งห้างค้าปลีก และโซเชียลคอมเมิร์ซ ผลักดันขยายตลาด ปักหมุดแบรนด์สมุนไพรไทยในตลาดโลก ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) โดยสำนักพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจบริการ จัดสัมมนาในหัวข้อ “BCG ECONOMY โมเดลเศรษฐกิจใหม่กับโอกาสของผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย” ภายใต้โครงการ “พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพร สู่ตลาดต่างประเทศ” เพื่อเสริมองค์ความรู้เกี่ยวกับแนวทางการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และโอกาสทางการค้าในตลาดต่างประเทศ โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากสยามพิวรรธน์ ไลน์ ประเทศไทย แบรนด์ REUNROM และแบรนด์ SATIRA มาร่วมแบ่งปันแนวคิดสำคัญของ “BCG Economy” ในการเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย และโอกาสของผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย สู่ตลาดโลก ผ่านช่องทางตลาดทั้งห้างสรรพสินค้า อีคอมเมิร์ซ และโซเชียลคอมเมิร์ซ
นางปารีสา จาตนิลพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายพัฒนาธุรกิจค้าปลึก บริษัท สยามพิวรรธน์ รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด ชื้ให้เห็นว่าสมุนไพรไทยมีจุดเด่นชัดเจน และได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ผนวกกับผู้บริโภคหันมาสนใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น ดังนั้น สินค้ากลุ่มนี้จึงมีโอกาสที่จะเติบโตขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการจำเป็นที่จะต้องพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการและไลฟ์สไตล์ของลูกค้ามากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเจน Z ที่เป็นผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน โดยคนกลุ่มนี้จะให้ความสนใจกับสินค้าที่มีความแตกต่าง มีนวัตกรรม รวมถึงสอดคล้องกับเทรนด์ที่ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้เจน Z ยังชื่นชอบการแชร์หรือบอกต่อในสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ เพื่อแสดงให้เห็นถึงไลฟ์สไตล์ของตนเอง ซึ่ง BCG Model จะเป็นแนวคิดสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาศักยภาพของตนและผลิตภัณฑ์ให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดสากล
นอกจากนี้ น.ส.วริยา ลีระศิริ Head of EC Merchant Development Team บริษัท ไลน์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด ให้ข้อมูลว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซหลังโควิด-19 มีแนวโน้มเติบโตสูง รวมทั้งเทคโนโลยีต่างๆ จะมีการพัฒนาเพื่ออำนวย ความสะดวกให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ทั้งนี้ สินค้าสุขภาพและความงามเป็นกลุ่มที่ได้รับความสนใจเป็นลำดับต้นๆ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าสมุนไพรไทยที่เติบโตขึ้นมาก จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการรายเล็กในการก้าวสู่ตลาดนี้ ดังนั้น ผู้ประกอบการควรคำนึงถึงคุณค่าของสินค้าที่จะส่งมอบให้ลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นสรรพคุณของสมุนไพรที่อยู่ในสินค้า การนำเทคโนโลยีนวัตกรรม มาผลิตสินค้า รวมทั้งการตั้งราคาที่เหมาะสมกับการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์
ขณะเดียวกัน แบรนด์ REUNROM ซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าของบริษัท คาร์มาร์ท จำกัด (มหาชน) และมีการดำเนินธุรกิจ ที่สอดคล้องกับแนวคิด BCG Economy โดย นายพงศ์วิวัฒน์ ทีฆคีรีกุล ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สมุนไพรว่าควรมีแนวคิดของผลิตภัณฑ์ที่ชัดเจน เช่น ทางแบรนด์ได้นำวัฒนธรรมไทยมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาสินค้า และมุ่งเน้นการ ให้ความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรไทยแก่ลูกค้าต่างชาติ สร้างการรับรู้ในกลุ่มลูกค้า B2B และ B2C ในตลาดต่างประเทศ
แบรนด์ SATIRA โดย น.ส. สถิรานันท์ ฉันทวานิช เลอลุ ได้แบ่งปันประสบการณ์ของแบรนด์ในการปรับตัวจากการขาย หน้าร้านมาสู่การขายออนไลน์ในช่องทางต่างๆ ซึ่งการขายผ่านช่องทางออนไลน์ต้องให้ความสำคัญกับการให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์อย่างชัดเจน ตั้งแต่รูปภาพผลิตภัณฑ์ วิธีการและขั้นตอนการใช้ นอกจากนี้ การสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญต่อความสำเร็จของแบรนด์
More Stories
แม่โขง ดันซอฟต์พาวเวอร์ค็อกเทลไทยสู่สากล ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 กับงาน Mekhong The Spirit Competition 2024
แม่โขง ดันซอฟต์พาวเวอร์ค็อกเทลไทยสู่สากล ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 กับงาน Mekhong The Spirit Competition 2024
เคอีเอ็กซ์ ยกระดับบริการเรียกรถเข้ารับพัสดุถึงบ้าน สร้างความสะดวกแบบใหม่