26 พฤศจิกายน 2024

THE MASTER

ย่อโลกข่าวไว้ในมือคุณ

“วิริยะประกันภัย” กางแผนปี 65 ชูกลยุทธ์ Data-Driven Innovation เข้าใจ เข้าถึง เคียงข้างคุณทุกความเสี่ยงภัย

ประกัน/MLMNEWS

            วิริยะประกันภัยประกาศแผนการดำเนินงานปี 2565 ด้วยกลยุทธ์ “Data-Driven Innovation : เข้าใจ เข้าถึง เคียงข้างคุณทุกความเสี่ยงภัย” หวังรักษาความเป็นเบอร์ 1 ธุรกิจประกันวินาศภัยอย่างยั่งยืน ด้วยการเดินหน้าออกผลิตภัณฑ์ใหม่มากมาย ครอบคลุมทุกความเสี่ยงภัย เผยด้านประกันภัยรถยนต์จะออกผลิตภัณฑ์สนองรับความต้องการผู้คนในแต่ละภูมิภาคเป็นการเฉพาะ แตกต่างทั้งเงื่อนไขความคุ้มครองและเบี้ยประกันภัย ขณะที่ประกันสุขภาพลงลึกการตลาดแบบ Personalization ผลิตภัณฑ์ความคุ้มครองเฉพาะตัวและตรงข้อเท็จจริงของแต่ละบุคคล ส่วนผลประกอบการในปีที่ผ่านมาบรรลุเป้า ด้วยเบี้ยประกันภัยรับรวม 38,800 ล้านบาท มีอัตราเติบโต 1.56% ในขณะที่ฐานะการเงินยังแข็งแกร่ง ด้วยทรัพย์สิน 77,500 ล้านบาท และมีอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องสูงถึง 600.51% มีเงินกองทุนประมาณ 41,400 ล้านบาท จึงไม่ส่งผลกระทบต่อสินไหมโควิดที่ต้องจ่าย แถมมีเพียงพอที่จะจ่ายกรมธรรม์ประกันภัยโควิดทุกฉบับ ที่บริษัทฯ ได้ให้ความคุ้มครองไว้

            นายอมร ทองธิว กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าธุรกิจประกันวินาศภัยทั้งระบบต่างเจอโจทย์ที่ยากที่สุด เพราะต้องเผชิญกับอุบัติภัยใหม่ “โรคโควิด-19” ที่ยังคงดำเนินต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 2 แต่ด้วยประสบการณ์ในการบริหารจัดการของวิริยะประกันภัย และการพัฒนาเทคโนโลยีให้ก้าวทันอยู่ตลอดเวลา ทำให้วิริยะประกันภัยสามารถบริหารจัดการและก้าวผ่านโจทย์ที่ท้าทายนี้ไปได้อย่างเข้มแข็งและมั่นคง ดั่งเห็นได้จากการได้รับความไว้วางใจจากผู้เอาประกันภัย ทำให้วิริยะประกันภัยยังคงเป็นผู้นำที่มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับหนึ่งของธุรกิจประกันวินาศภัยมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 30 โดยในปี 2564 วิริยะประกันภัยมีเบี้ยประกันภัยรับรวมทั้งสิ้นประมาณ 38,800 ล้านบาท มีอัตราเติบโต 1.56%  แยกเป็นเบี้ยประกันภัยรถยนต์ (Motor) 33,400 ล้านบาท และเบี้ยประกันภัยที่ไม่ใช่รถยนต์ (Non-Motor) 5,400 ล้านบาท และยังคงมีกำไรสุทธิประมาณ 500 ล้านบาท

                ในปี 2565 แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น แต่วิริยะประกันภัยได้มีการประเมินความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา และจากการประมาณการในสถานการณ์การระบาดที่เลวร้ายที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ วิริยะประกันภัยก็มีสินทรัพย์สภาพคล่องและเงินกองทุน เพียงพอที่จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนในกรมธรรม์ประกันภัยโควิดทุกฉบับ ที่บริษัทฯ ได้ให้ความคุ้มครองไว้ ด้วยปรัชญาในการทำธุรกิจของเรา นั่นก็คือ ความเป็นธรรม คือ นโยบาย” นายอมรกล่าว

                ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2564 วิริยะประกันภัยมีสินทรัพย์รวม 77,500 ล้านบาท และมีอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องสูงถึง 600.51% มีเงินกองทุนประมาณ 41,400 ล้านบาท ในขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมาย อยู่ในระดับสูงเกินกว่ามาตรฐานที่สำนักงานคปภ. กำหนดไว้ถึง 170%

นายอมร ได้เปิดเผยต่อไปอีกว่า สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2565 วิริยะประกันภัยจะดำเนินงานภายใต้กลยุทธ์ “Data-Driven Innovation : เข้าใจ เข้าถึง เคียงข้างคุณทุกความเสี่ยงภัย”  อันเป็นกลยุทธ์ที่เกิดจากคณะผู้บริหารของบริษัทฯ เห็นพ้องกันว่าจากเหตุการณ์วิกฤตโควิดในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ทำให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไปอย่างมากและยังส่งผลกระทบไปถึงภาวะเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในภาวะหดตัว กำลังซื้อลดลง วิริยะประกันภัยจึงเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบสนองผู้เอาประกันภัยให้ทันต่อสถานการณ์ โดยการนำ Data-Driven Innovation มาใช้

“วิริยะประกันภัย เป็นบริษัทประกันภัยขนาดใหญ่ เป็นอันดับ 1 ของตลาด ก่อตั้งมากว่า 75 ปี มีลูกค้าประมาณ 8 ล้านกรมธรรม์ เราจึงสามารถนำข้อมูลมากมายที่เก็บสะสมมาตลอด เพื่อคำนวณและประมาณการหาความคุ้มครองที่เหมาะสมกับผู้เอาประกันภัยกลุ่มต่าง ๆ ได้เสมอ ด้วยเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสม พร้อมให้ความคุ้มครองด้วยความเป็นธรรมตลอดอายุกรมธรรม์ แม้ว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์ของเราครอบคลุมความคุ้มครองทั้งชีวอนามัยของคน ทรัพย์สิน และความรับผิด รวมถึงผู้บริโภคสามารถนำมาใช้บริหารความเสี่ยงมากกว่า 60 ผลิตภัณฑ์ จนกล่าวได้ว่า วิริยะประกันภัยเคียงข้างคุณได้ทุกความเสี่ยงภัย” นายอมรกล่าว

                โดยในด้านประกันภัยรถยนต์นั้น นายอมรเปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้พัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้ตรงต่อความต้องการของกลุ่มเป้าหมายหลากหลายผลิตภัณฑ์ด้วยกัน อาทิ ประกันภัยรถยนต์ประเภท 5 (2+, 3+) ระยะสั้น ซึ่งลูกค้าสามารถเลือกซื้อความคุ้มครองแบบไม่เต็มปีได้, ผลิตภัณฑ์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 3 รวมความคุ้มครองความเสียหายต่อรถ กรณีรถชนรถฝ่ายถูก เพื่อตอบสนองลูกค้าที่ต้องการทำประกันภัย ป.3 เป็นหลัก แต่ไม่ต้องการมีปัญหาในการจัดซ่อมรถ และติดตามเรียกร้องจากคู่กรณีหากถูกชน  โดยบริษัทฯ จะเป็นคนดูแลการจัดซ่อมรถให้ลูกค้า และสวมสิทธิ์ไปเรียกร้องจากคู่กรณีเอง, ผลิตภัณฑ์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 5 (2+) ซ่อมห้าง เพื่อตอบสนองลูกค้าในช่วงโควิด ที่ยังเป็นรถใหม่ อายุไม่เกิน 5 ปี แต่ต้องการประหยัดค่าเบี้ยประกันจากประกันภัยประเภท 1 ทำประกันแบบ 2+ แทน และผลิตภัณฑ์เพื่อสนองรับความต้องการผู้คนในแต่ละภูมิภาคได้เป็นการเฉพาะ แตกต่างทั้งเงื่อนไขความคุ้มครอง และเบี้ยประกันภัย นอกจากนี้ภายในปีนี้ บริษัทฯ มีแผนจะออกผลิตภัณฑ์ประกันรถยนต์ ซึ่งคิดราคาเบี้ยตามพฤติกรรมการขับขี่หรือตามลักษณะการใช้รถ เพิ่มมาอีก 1-2 ผลิตภัณฑ์

                ส่วนทางด้านประกันภัยที่ไม่ใช่รถยนต์ (Non-Motor)  โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ประกันภัยอุบัติเหตุและสุขภาพนั้น ในปี 2565 นี้ บริษัทฯ จะออกผลิตภัณฑ์ให้ตอบสนองความต้องการรายบุคคลหรือเรียกได้ว่าสามารถสนองรับการตลาดแบบ Personalization ผลิตภัณฑ์ความคุ้มครองเฉพาะตัวและตรงข้อเท็จจริงของแต่ละบุคคล 

                “จากกลยุทธ์ “เข้าใจ เข้าถึง เคียงข้างคุณทุกความเสี่ยงภัย” ของเราในปี 2565 ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ เรามั่นใจว่าเราจะสามารถบรรลุเป้าหมายในการ สร้างความพึงพอใจ สร้างความผูกพันและทำให้ลูกค้ามั่นใจว่าสามารถพึ่งพาบริษัทฯเพื่อเป็นหลักในการจัดการความเสี่ยงของตนเองได้แม้ว่าจะเผชิญวิกฤตในหลาย ๆ ด้านด้วยกัน อันจะนำมาซึ่งความไว้ใจจากผู้เอาประกันภัยที่จะสนับสนุนให้วิริยะประกันภัยเติบโตอย่างยั่งยืนไปตลอดปีนี้ “

                ส่วนทางด้าน นายสยม โรหิตเสถียร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยถึงการความสำเร็จในการให้บริการสินไหมทดแทนว่า ในปีที่ผ่านมาวิริยะประกันภัยได้ขยายศูนย์บริการสินไหมทดแทนออกไปมากมาย ทั้งในศูนย์การค้า ปั๊มน้ำมัน อาคารพาณิชย์ตามย่านชุมชน และย่านการจราจรหนาแน่นที่มักจะเกิดอุบัติเหตุบ่อย ๆ ตลอดไปถึงการใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีมาใช้อย่างเช่น การบริการเคลมออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือของลูกค้าเพียงเครื่องเดียว ด้วยระบบ VDO CALL ( VClaim on VCall)

                “อย่างไรก็ตามหัวใจสำคัญที่สุดของบริการสินไหมที่สร้างชื่อเสียงให้กับเรา คือ พนักงานสำรวจอุบัติเหตุ หรือพนักงานเคลมนั่นเอง ไม่ว่าเทคโนโลยีจะก้าวล้ำนำสมัยเพียงใด หัวใจของงานบริการก็ยังคงต้องพึ่งบุคลากรเป็นหลักสำคัญ  โดยเฉพาะงานบริการสินไหม ณ จุดเกิดเหตุบนท้องถนน ซึ่งเป็นสถานการณ์ยามคับขันที่ผู้เอาประกันภัยต้องการความมั่นใจในการดูแลของพนักงาน  สำหรับวิริยะประกันภัยเราให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับกระบวนการสรรหา และพัฒนาพนักงานตรวจสอบอุบัติเหตุ เราพิถีพิถันในทุกขั้นตอน  ตั้งแต่กำหนดคุณสมบัติ การทดสอบ การคัดเลือก การฝึกฝนอบรมหลักสูตร ทั้งหลักสูตร พ.ร.บ.จราจร ความคุ้มครองตามเงื่อนไขกรมธรรม์ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรที่ถ่ายทอดและพัฒนาจากประสบการณ์โดยตรงของพนักงานเคลมรุ่นพี่ ๆ ที่สั่งสมมายาวนาน”

                นายสยมกล่าวต่อไปอีกว่า ในเรื่องของการใช้ Big Data มาเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการสินไหมทดแทนนั้น  วิริยะประกันภัยได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ และได้สรรหานวัตกรรมและโมเดลที่ทันสมัยในการบริหารจัดการข้อมูลมาเพื่อยกระดับความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง มีการเชื่อมโยงโครงสร้างธุรกิจด้วยข้อมูล รวมถึงสนับสนุนส่งเสริมให้ผู้บริหารและพนักงานทุกฝ่าย ทุกระดับ สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ เพื่อประกอบการตัดสินใจในทุกขั้นตอนของการทำงาน เพื่อบรรลุเป้าหมายของบริษัทฯ ไปด้วยกัน

                “วิริยะประกันภัยมีข้อมูลมากมายเนื่องจากเราให้บริการลูกค้ากว่าล้านกรมธรรม์ต่อปี ข้อมูลการทำประกันภัยของลูกค้าที่สะสมมาต่อเนื่องกันหลายปี จึงมีจำนวนมากมายมหาศาล โดยเฉพาะสถิติข้อมูลการเกิดเหตุ ลักษณะการเกิดเหตุ ช่วงเวลาเกิดเหตุ พื้นที่เกิดเหตุ ข้อมูลเหล่านี้ช่วยให้เราบริหารจัดการงานสินไหมของบริษัทฯ ให้มีความแม่นยำ ลดระยะเวลาและขั้นตอนการทำงาน เพื่อให้ผู้เอาประกันภัยได้รับบริการที่สะดวกรวดเร็ว

                อีกทั้งยังได้นำข้อมูลลักษณะการเกิดเหตุไปใช้ประโยชน์ทางสังคมผ่านหลากหลายโครงการ เพื่อรณรงค์ช่วยลดและบรรเทาความรุนแรงของอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยการเข้าไปมีส่วนร่วมสนับสนุนจัดทำโครงการกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ต่าง ๆ กับหน่วยงานราชการและองค์กรสาธารณะต่าง ๆ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการขนส่งทางบก เป็นต้น”

                นอกจากนี้นายสยมยังได้เปิดเผยถึงศักยภาพและความพร้อมรองรับการรับประกันภัยที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (EV) ว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ที่เห็นคนไทยให้ความสำคัญตื่นตัวกับการใช้รถยนต์พลังงานเชื้อเพลิง ลดปริมาณฝุ่นควัน และไอเสียในอากาศ ปัจจุบันวิริยะประกันภัยรับประกันรถยนต์ EV อยู่แล้ว แต่ด้วยสัดส่วนการใช้รถ EV ของไทยยังมีจำนวนน้อย โดยข้อมูลรถยนต์ EV จดทะเบียนเดือน ก.พ. 65 เฉพาะรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง มีจำนวน 5,400 คัน วิริยะประกันภัยรับประกันไว้ประมาณ 700 คัน (13%)  อย่างไรก็ตามด้วยแนวโน้มความนิยมและกระแสการตอบรับรถยนต์ EV ของผู้ใช้คนไทยเริ่มเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าหลายค่ายดังที่ทยอยเปิดตัวอีกนับสิบแบรนด์ วิริยะประกันภัยเราเตรียมความพร้อมรองรับประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้ามาร่วม 4 ปี ตั้งแต่วิวัฒนาการมาจากรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด โดยร่วมมือกับผู้ผลิตและผู้แทนจำหน่ายชั้นนำ ในการเติมเต็มการให้บริการผู้ใช้รถยนต์ EV อย่างครบวงจร ด้วยการวางแผนจัดโครงสร้างเบี้ยประกัน จัดระบบสินไหมการซ่อม การจัดบริการอะไหล่ เพื่อให้ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้ามั่นใจในการขับขี่ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสิ่งแวดล้อมสะอาดด้วยพลังงานไฟฟ้า

สำหรับแนวทางการพัฒนาช่องทางการขายของวิริยะประกันภัยนั้น นายดลเดช สัจจวีระกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวชี้แจงในประเด็นนี้ว่า ตัวแทนและนายหน้าประกันภัยที่มีอยู่ประมาณเกือบ 10,000 คน ยังเป็นช่องทางขายที่สำคัญของบริษัทฯ เพราะเบี้ยประกันภัยที่ได้รับมาทั้งหมดกว่า 50% ได้มาจากการทำงานอย่างหนักหน่วงของตัวแทนและนายหน้าประกันภัย ดังนั้นการส่งเสริมการพัฒนาเพื่อยกระดับมาตรฐานวิชาชีพ บริษัทฯ จึงให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสนับสนุนให้ตัวแทนและนายหน้า สามารถปรับตัวเข้าสู่ยุคของข้อมูลข่าวสารและการเข้าสู่สังคมดิจิทัล และสามารถใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะการนำสื่อสังคมออนไลน์เข้ามาใช้สนับสนุนงานขาย การประชาสัมพันธ์ การให้ความรู้ด้านประกันภัยแก่ลูกค้า และประชาชนทั่วไป 

“ปัจจุบันบริษัทฯ ได้สร้างเครื่องไม้เครื่องมือเพื่อสนับสนุบการทำงานและเชื่อมการทำงานร่วมกับตัวแทนและนายหน้าอย่างมากมาย อาทิ Facebook ตัวแทนสัมพันธ์ และ Line ตัวแทนสัมพันธ์ เพื่อสนับสนุนงานขายของตัวแทน/นายหน้า  การสร้าง Facebook Group ห้องสมุดตัวแทนสัมพันธ์ เป็นที่รวบรวมเอกสารต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้สำหรับงานขาย เพื่อให้สามารถดาวน์โหลดไปใช้ได้ทันที เช่น โบว์ชัวร์ แผ่นพับ แบนเนอร์ ผลิตรายการ “รู้ไปด้วยกัน” ผ่าน Facebook Live เพื่อให้ความรู้ในเรื่องผลิตภัณฑ์ประกันภัย Update ข้อมูลข่าวสาร รวมถึงสาระความรู้ที่จะเป็นประโยชน์กับตัวแทน/นายหน้าของบริษัท  การจัดตั้งห้องสนทนาบน LINE Open Chat เพื่อให้เกิดชุมชนตัวแทน/นายหน้าของบริษัทฯ ในการสอบถามข้อสงสัย แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างบริษัทฯ กับตัวแทน/นายหน้า และระหว่างตัวแทน/นายหน้าด้วยกันเอง ฯลฯ”

นายดลเดชได้เปิดเผยต่อไปอีกว่า ส่วนช่องทางการขายทั้งแบบออนไลน์และแบบออฟไลน์อื่น ๆ บริษัทฯ มีให้บริการอย่างครบครัน เพื่อที่จะตอบสนองความต้องการของลูกค้าตามวิถีการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นจุดบริการในห้างสรรพสินค้า เพื่อรองรับวิถีชีวิตของผู้คนในเมืองใหญ่ที่ชอบการจับจ่ายใช้สอยต่าง ๆ ในห้างสรรพสินค้า www.Viriyah.com  และ Platform ออนไลน์ต่าง ๆ สำหรับผู้ที่มีวิถีชีวิตอยู่บนโลกออนไลน์ หรือที่เรียกกันว่า ชาวดิจิทัล (Digital Native)

“ในปี 2565 นี้ เพื่อให้การให้บริการประกันภัยครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศอย่างแท้จริง บริษัทฯ จึงเปิดโอกาสให้คนใหม่ ๆ ได้เข้ามาสู่การเป็นตัวแทนประกันวินาศภัยที่มีคุณภาพ ส่งเสริมให้ร่วมธุรกิจกับบริษัทฯ ในทุกพื้นที่ ซึ่งนับตั้งแต่วันนี้ จำนวนตัวแทนและนายหน้าจะมีครอบคลุมทุกจังหวัดทุกอำเภอ และอาจจะครอบคลุมทุกตำบลทั่วประเทศ” นายดลเดชกล่าว 

ส่วนแผนงานด้านการประกันภัยที่ไม่ใช่รถยนต์หรือ Non-Motor  นางฐวิกาญจน์ เตชทวีทรัพย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน)  ได้เปิดเผยว่า ถึงแม้บริษัทจะเจอภาวะวิกฤตโควิดที่หนักหน่วงในช่วงปีที่ผ่านมา แต่ผลการดำเนินงานของ Non- Motor ในปี 2564 ยังคงเติบโตได้ถึง 12.17% ด้วยเบี้ยประกันภัย 5,400 ล้านบาท และบริษัทฯยังคงสามารถขยายอัตราส่วนประกันภัย Non-Motor เพิ่มเป็น 13.98% ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ 

“เฉพาะประกันภัยสุขภาพในปี 2564 เรา ได้เติบโตขึ้น 102% ในส่วนของเบี้ยประกันภัย 851 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ทำให้ Market Share เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.7% ซึ่งเติบโตจากปี 2563 ที่มี Market Share อยู่ที่ 3.3% ก็ต้องขอบคุณลูกค้าทุกท่านที่ให้ความไว้วางใจ

นางฐวิกาญจน์ เปิดเผยต่อไปอีกว่า เป้าหมายหลักปี 2565 ของ Non-Motor ก็จะยังคงเพิ่มสัดส่วนประกันภัย Non-Motor เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่เราวางไว้ โดยมุ่งเน้น พัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการ ด้วยนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงรายบุคคล รวมถึงทรัพย์สินต่าง ๆ อย่างเช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งนอกจากการดูแลทางด้านผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพและการบริการลูกค้าด้านต่าง ๆ แล้ว  บริษัทฯ ยังได้ขยายการดูแลต่อไปยังสุขภาพของรถยนต์ด้วย โดยเมื่อต้นปีนนี้เอง  บริษัทฯ ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ คือ “ประกันภัยการขยายเวลารับประกันสำหรับอะไหล่รถยนต์” หรือ “Extended Warranty” ด้วยแนวคิดที่ว่าหากประกันภัยรถยนต์คุ้มครองอุบัติเหตุ ประกันภัยนี้ก็จะคุ้มครองสุขภาพของรถคุณ ซึ่งแผนนี้ออกแบบให้คุ้มครองต่อเนื่องได้ทันทีเมื่อระยะการรับประกันจากผู้ผลิตสิ้นสุดลง ซึ่งให้ความคุ้มครองสูงสุด 14 กลุ่มอะไหล่หลักและชิ้นส่วน

ส่วนทางด้านการพัฒนาบริการ  บริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นพัฒนาระบบ Core System เพื่อรองรับการเติบโตของประกันภัยสุขภาพและอุบัติเหตุอย่างต่อเนื่อง รวมถึงพัฒนาระบบ CRM และ การใช้ Data-Driven เข้ามาช่วย เพื่อให้เราตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงไปถึงมีการเปิดตัวแคมเปญ Get Healthy เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าของเราได้ให้ความสำคัญของการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน ซึ่งมุ่งเน้นให้คำแนะนำการปรับพฤติกรรมการบริโภค ด้วยการดูแลอย่างใกล้ชิดของนักโภชนาการและบุคลากรทางการแพทย์  ซึ่งจากการดำเนินงานมาตั้งแต่ต้นปีได้รับการสนองรับเกินคาด ลูกค้าได้ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก และผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจจากผู้เข้าร่วมโครงการ

นอกจากนี้ เรายังมีโครงการ Healthy Life ได้วางแผนต่อยอดในการให้คำแนะนำด้านสุขภาพหรือประเด็นโรคที่น่าสนใจในหัวข้อต่าง ๆ  ผ่าน Doctor’s Talk ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมะเร็ง  PM 2.5  โอไมครอน และอีกหลากหลายประเด็นที่น่าสนใจที่จะตามมา เช่น ออฟฟิศซินโครม  Long Covid หรือ Mental Health Issues

“ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ด้วยความตั้งใจของเราที่จะดูแลลูกค้าทุกท่านอย่างเต็มรูปแบบเพื่อประโยชน์สูงสุดของสุขภาพลูกค้าของบริษัทฯทุกคน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการพัฒนาเหล่านี้จะตอบโจทย์และช่วยให้ลูกค้าของเราใช้ชีวิตด้วยความเบาใจ ไร้กังวล” นางฐวิกาญจน์ กล่าวในที่สุด

Skip to content