31 ตุลาคม 2024

THE MASTER

ย่อโลกข่าวไว้ในมือคุณ

อพท. ปั้น “เกาะหมาก” ต้นแบบแหล่งท่องเที่ยวที่มีแผนจัดการขยะการท่องเที่ยว

เสนอประกาศพื้นที่พิเศษ 3 แห่ง เล็งศึกษาอีก 7 แห่ง ปีนี้

Lifestyle

อพท. ปั้น “เกาะหมาก” ต้นแบบแหล่งท่องเที่ยวที่มีแผนจัดการขยะการท่องเที่ยวของประเทศไทย
เป้า 5 ปี ยกระดับประเทศไทยขึ้นอันดับดัชนีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก นำไปสู่แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนที่ช่วยสร้างและกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน เผย 3 พื้นที่จ่อเข้าคิวประกาศพื้นที่พิเศษปีนี้ ระบุเนื้อหอมหลายพื้นที่แจ้งความประสงค์ขอรับการประกาศเป็นพื้นที่พิเศษ ปีนี้ขอดันชุมชนต้นแบบเพิ่ม 27 แห่ง และผลักดัน 15 ชุมชนที่พัฒนาแล้วเข้าสู่การตลาดท่องเที่ยว

        นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า ในปี 2565 จะดำเนินงานตามนโยบายของนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และยุทธศาสตร์ชาติ ผลักดัน“เกาะหมาก” จังหวัดตราด ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบ Circular Economy ซึ่งมีการคัดแยกและแปรรูปขยะจากการท่องเที่ยว โดยใช้นวัตกรรมต่างๆ ดำเนินการ แล้วนำกลับไปใช้ประโยชน์ โดยทุกฝ่ายได้เข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการ เพื่อนำเสนอให้ เกาะหมาก เป็นต้นแบบแหล่งท่องเที่ยวที่มีแผนจัดการขยะการท่องเที่ยว ตามหลักการ Circular Economy ของประเทศไทย

โดย อพท. มีเป้าหมายภายในปี 2570 จะพัฒนาและยกระดับแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบของประเทศไทยให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนนำไปสู่การสร้างรายได้ และกระจายรายได้สู่ชุมชน ด้วยการพัฒนาระบบนิเวศและโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่พิเศษอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับดัชนีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการเดินทางและการท่องเที่ยว (Travel & Tourism Competitiveness Index: TTCI) ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในประเด็นด้านทรัพยากรธรรมชาติ และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันยังเป็นจุดอ่อนของประเทศไทย รวมถึงการตั้งเป้าหมายมีจำนวนเมืองและชุมชนที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม ตลอดจนอัตราการขยายตัวของการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เพิ่มขึ้น ขยายภาคีเครือข่ายการพัฒนา สร้างชุมชนต้นแบบด้านการท่องเที่ยวให้เกิดรายได้และมีการกระจายรายได้ที่ดี และเป็นหน่วยงานที่มีธรรมาภิบาลและความเป็นเลิศในการเป็นต้นแบบด้านท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของประเทศ

***เตรียมประกาศพื้นที่พิเศษ 3 แห่ง ***

ด้านภารกิจการประกาศพื้นที่พิเศษ อพท. มีพื้นที่เตรียมเสนอ 3 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ลุ่มนํ้าทะเลสาบสงขลา (จังหวัดสงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช) พื้นที่จังหวัดเชียงราย และพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า จังหวัดสมุทรปราการ และยังมีพื้นที่แจ้งความประสงค์ขอรับการประกาศเป็นพื้นที่พิเศษฯ ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการ จำนวน 7 พื้นที่ ประกอบด้วย จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพะเยา พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม จังหวัดราชบุรี จังหวัดตรัง และอำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ โดยทุกพื้นที่เตรียมการประกาศฯ อพท. จะดำเนินการภายใต้กระบวนการการมีส่วนร่วมกับภาคีพัฒนาทุกภาคส่วน ตั้งแต่กระบวนการศึกษาและประเมินศักยภาพแหล่งท่องเที่ยว การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ โดยการประกาศพื้นที่พิเศษของ อพท. ต้องได้รับความยินยอมจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) พ.ศ 2546 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ. ศ. 2562 มาตรา 3 และมาตรา 35 

เบื้องต้น ในปีงบประมาณ 2565 นี้ พื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาและพื้นที่จังหวัดเชียงราย ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ พพท. เรียบร้อยแล้ว และจะนำเสนอคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ หรือ ท.ท.ช. พิจารณาให้ความเห็นชอบการประกาศเป็นพื้นที่พิเศษฯ เร็วๆนี้ ส่วนพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า จังหวัดสมุทรปราการ อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการตามลำดับต่อไป

***จับมือยูเนสโก ยกระดับท่องเที่ยวยั่งยืน***

งานด้านการพัฒนายกระดับความสามารถทางการแข่งขันให้กับแหล่งท่องเที่ยวในระดับนานาชาติ ในปี 2565-2566 เตรียมเสนอ จังหวัดน่าน และจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่พิเศษของ อพท. ต่อยูเนสโก ให้เข้าเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ (UCCN) การยกระดับแหล่งท่องเที่ยวโดยใช้เกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ GSTC จะผลักดัน เกาะหมาก เป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก หรือ Green Destinations Top 100 เพื่อย้ำความสำเร็จที่ อพท. วางเป้าหมายให้เกาะหมากเป็นแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบ Circular Economy ของประเทศไทย และผลักดันสู่การได้รับการรับรองมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวตามเกณฑ์มาตรฐาน Green Destinations ระดับโลกในปี 2570

สำหรับมิติด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ อพท. ได้ร่วมกับยูเนสโก จัดทำเครื่องมือการประเมินผลการบริหารจัดการนักท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งมรดกโลก หรือ VMAST (Visitor Management, Assessment and Strategy Tool) ในการจัดการแหล่งมรดกโลกของประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งที่ผ่านมา อพท. เป็นหน่วยงานแรกของประเทศไทยที่นำเครื่องมือการประเมินและพัฒนากลยุทธ์การจัดการนักท่องเที่ยวฯ มาใช้ในการวิเคราะห์ศักยภาพด้าน Supply Side ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับแหล่งท่องเที่ยวทุกพื้นที่ ไม่ได้จำกัดเฉพาะพื้นที่มรดกโลก

*** เพิ่มชุมชนต้นแบบ 27 แห่ง***

สำหรับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและชุมชน ในปี 2565 อพท. ตั้งเป้าพัฒนาศักยภาพตามมาตรฐาน ท่องเที่ยวโดยชุมชน จำนวน 27 ชุมชน พร้อมกับผลักดันชุมชนที่ผ่านการพัฒนาแล้วเข้าสู่ตลาดอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และตลาดจัดประชุมและนิทรรศการไม่น้อยกว่า 15 ชุมชน ครอบคลุม 6 พื้นที่พิเศษและ 15 เขตพัฒนาการท่องเที่ยว (คลัสเตอร์)

สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2564 แหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ของอพท. ได้รับเลือกเป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก หรือ Green Destinations Top 100 จำนวน 2 แหล่ง คือ เมืองเก่าน่าน จังหวัดน่าน และเมืองเก่าสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย  และอีก 1 แห่งคือ จังหวัดเพชรบุรี ได้รับเลือกเข้าเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร (Gastronomy) ของยูเนสโก  รวมทั้งน่านยังได้รับรางวัล PATA Gold Awards 2021 จากหลักสูตร CBT Integrated สาขา Human Capital Development Initiative ซึ่งเป็นรางวัลระดับนานาชาติ จากสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก หรือ PATA ชุมชนที่ อพท. พัฒนา ได้รับรางวัลส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว หรือกินรี (Thailand Tourism Awards 2021) จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จำนวน 27 ชุมชน และการที่องค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ

(UNWTO) ประกาศให้ชุมชนบ่อสวก จังหวัดน่าน เป็นหมู่บ้านที่มีศักยภาพระดับโลก โดยได้รับการบรรจุใน Upgrade Programme ภายใต้รางวัล UNWTO Best Tourism Villages 2021

***ชุมชนที่รับการพัฒนาสร้างมูลค่าได้สูงขึ้น***

        นอกจากนั้น ในปี 2564 อพท. ยังได้ทำการประเมินผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน (Social Return On Investment: SROI) โดยเก็บข้อมูลจากชุมชนนำร่อง 10 แห่ง พบว่าโครงการที่ดำเนินการขับเคลื่อนมาเป็นระยะเวลานาน สามารถสร้างมูลค่าผลกระทบที่สูง เนื่องจากมีการลงทุนส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนอย่างต่อเนื่อง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียย่อมมีอัตราการยอมรับมาตรการโครงการและนำไปปฎิบัติมากขึ้น เช่น ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลตะเคียนเตี้ย จ.ชลบุรี และชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวตำบลกกสะทอน จ.เลย ที่สามารถสร้างผลกระทบทางสังคมได้สูงถึง 5.44 ล้านบาท (มูลค่า ณ ปีฐาน 2556) และ 6.59 ล้านบาท (มูลค่า ณ ปีฐาน 2556) ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยสำคัญ 3 ด้าน คือ (1) มีการลงทุนในกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนอย่างต่อเนื่อง (2) มีการผลักดันเพื่อกระจายรายได้ไปสู่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในห่วงโซ่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวท้องถิ่น และ (3) ระยะเวลาในการสร้างผลประโยชน์นาน   

อย่างไรก็ตาม 10 ชุมชนนำร่อง ที่ อพท. ดำเนินการสำรวจ ได้แก่ 1.วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวชุมชนบ้านท่าระแนะ จ.ตราด 2.วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวโดยชุมชน ตำบลไม้รูด จ.ตราด 3.ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลตะเคียนเตี้ย จ.ชลบุรี 4.ชมรมเครือข่ายส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนคุ้งบางกะเจ้า จ.สมุทรปราการ 5.ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนเมืองโบราณทวารวดีอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี 6.ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนเมืองเก่าสุโขทัย จ.สุโขทัย 7.วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเกษตรริมโขง ประมงพื้นบ้านเชียงคาน จ.เลย 8.ชุมชนไทดำนาป่าหนาด จ.เลย 9.วิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวเชิงเกษตรนิเวศอำเภอภูหลวง จ.เลย และ 10.ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนกกสะทอน จ.เลย  

Skip to content