1 พฤศจิกายน 2024

THE MASTER

ย่อโลกข่าวไว้ในมือคุณ

“หอการค้าไทย – จีน” ชี้ภาพรวมการค้าเพิ่มขึ้น 16%

Business

“หอการค้าไทย – จีน” เผยภาพรวมการค้าระหว่างไทยและจีนช่วงสองเดือนแรกของปีเพิ่มขึ้น 16% ขณะที่การนำเข้าจากจีนที่ขยายตัวถึง 21.73% ส่งผลให้ไทยเสียเปรียบดุลการค้ากว่า 6,800 ล้านบาท

นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย – จีน เปิดเผยถึงภาพรวมการค้าระหว่างไทย – จีน ภายในงานพบปะสังสรรค์สื่อมวลชนว่า ถึงแม้ว่าในขณะนี้ประเทศจีนจะยังไม่เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเพราะผลพวงจากสถานการณ์โควิด แต่ในด้านการค้าระหว่างไทยและจีนยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และประเทศจีนยังคงเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย เป็นเวลา 9 ปี ติดต่อกัน

โดยช่วงสองเดือนแรกของปีนี้ นับตั้งแต่เดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ การค้าระหว่างไทยและจีน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 16% คิดเป็นมูลค่า 17,095 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือมีสัดส่วน 18% ของมูลค่าการค้ารวมทั้งหมดของไทย ส่วนการส่งออกไปจีน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.78% และการนำเข้าจากจีนขยายตัว 21.73% ส่งผลประเทศไทยเสียเปรียบดุลการค้า 6,815 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงสองเดือนแรกของปีนี้

นายณรงค์ศักดิ์ ระบุว่า ถึงแม้ประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายใหม่ๆเช่น ผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และภาวะเงินเฟ้อ แต่ในด้านการค้าระหว่างไทยกับจีนแล้ว ยังมีโอกาสที่จะขยายตัวได้อีกมาก ทั้งด้านการใช้ประโยชน์จาก ความตกลงอาร์เซป ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565  เป็นต้นมาในช่วงสองเดือนแรกของปี 2565 นี้ มีรายงานจากกรมการค้าต่างประเทศของไทยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ผู้ประกอบการไทยมีการใช้ประโยชน์จากความตกลงอาร์เซป ส่งออกไปยังตลาดหลักคือ ญี่ปุ่น 540.36 ล้านบาท / จีน 453.95 ล้านบาท / และเกาหลีใต้ 171.21 ล้านบาท / และมีการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น

ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้ส่งออกไทยไปจีนภายใต้ความตกลงอาร์เซป ส่วนใหญ่ได้รับการลดภาษีในระดับที่เท่ากับกรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – จีน  คือ เป็น 0% แต่เนื่องจากความตกลงอาร์เซป มีข้อกำหนดเรื่องการตรวจปล่อยสินค้าที่ชัดเจน คือ กรณีที่เป็นสินค้าเน่าเสียง่าย จะได้รับการตรวจปล่อยพิธีการศุลกากรภายใน 6 ชั่วโมง และสำหรับสินค้าทั่วไปให้การตรวจปล่อยภายใน 48 ชั่วโมง

จึงคาดว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการส่งออกของไทยมาขอให้สิทธิภายใต้อาร์เซปกันมากขึ้น เนื่องจากสามารถวางแผนการนำเข้าส่งอออกสินค้าล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำมากขึ้น  โดยเฉพาะสินค้าผลไม้สด เช่น ทุเรียนสด ฝรั่ง มะม่วง มังคุด ลำไย ลิ้นจี่  เงาะ ลางสาด มะพร้าวทั้งกะลา ตลอดจน มันสำปะหลัง รถยนต์ และยานยนต์ขนส่งบุคคล เป็นต้น

ขณะที่ การเชื่อมโยงโครงการรถไฟความเร็วสูง จีน-ลาว-ไทย เป็นโอกาสที่สำคัญในการส่งเสริมกระจายสินค้าไทยเข้าไปยังประเทศจีนอีกช่องทางหนึ่ง โดยเฉพาะพื้นที่มณฑลตอนในของจีน นอกจากนี้ จากการเยือนจีนของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย เมื่อวันที่ 2 เมษายน ทางรัฐบาลจีนยังเน้นความสำคัญ

“การเร่งรัดก่อสร้างทางรถไฟจีน – ไทย ให้เชื่อมต่อกับทางรถไฟจีน – ลาว” ซึ่งจะสนับสนุนการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพด้านบริการโลจิสติกส์ของประเทศ ต่อไป

อย่างไรก็ตาม การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้ประกออบการชาวจีนโลก (WCEC) สมัยที่ 16 หอการค้าไทย – จีน เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 – 22 พฤษภาคม 2566 ที่ กรุงเทพมหานคร ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ประกอบการชาวจีนจากทั่วโลก กว่า 3,000 คน เข้าร่วมประชุม และสำรวจลู่ทางการค้าการลงทุน และการท่องเที่ยวในประเทศไทยจะมีส่วนช่วยสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยหลังจากการระบาดของโควิด

Skip to content