พร้อมเดินหน้าแก้หนี้ ด้วยหลักสูตร Financial Literacy บริหารเงินดี มีทางรอด
Business
กรุงเทพฯ 12 เมษายน 2565 – กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เร่งช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาสภาพคล่องทางธุรกิจ ผ่านนโยบายดีพร้อมแคร์ (DIPROM CARE) มุ่งเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจ ด้วยสินเชื่อระยะสั้น ดีพร้อมเปย์ (DIPROM Pay) ทางเลือกช่วยธุรกิจฝ่าทางตัน โดยให้กู้ รายละไม่เกิน 5 ล้านบาท ดอกเบี้ยก้าวหน้าคงที่ กำหนดชำระไม่เกิน 3 ปี คาดช่วยให้กิจการได้ไปต่อไม่น้อยกว่า 30 กิจการ พร้อมเดินหน้าเกมส์แก้หนี้เอสเอ็มอีด้วยดีพร้อมปลอดหนี้ (DIPROM Financial Literacy) หลักสูตรออนไลน์ปั้นทักษะการเงินผู้ประกอบการ บริการบัญชี บริหารต้นทุน โดยตลอด 3 ปีของการดำเนินการ สร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินให้กับผู้ประกอบการได้จำนวน 1,221 กิจการ พร้อมติวเข้มผู้ประกอบการเข้าถึง
แหล่งสินเชื่อ ทั้งภาครัฐและเอกชน 142 ล้านบาท ครบเครื่องเรื่องแก้หนี้ที่ดีพร้อม
ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ทิศทางเศรษฐกิจและการเติบโต
ของภาคอุตสาหกรรมเริ่มส่งสัญญาณดีขึ้น ผู้ประกอบการคุ้นชินกับสภาพของความเป็นปกติใหม่ หลายธุรกิจ มีความพร้อมที่จะบุกตลาดทั้งในและต่างประเทศ แต่ก็พบว่าผู้ประกอบการบางส่วนยังไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ เนื่องจากประสบปัญหาหนี้สินสะสม อันเนื่องมาจากการวางแผนการเงินที่ไม่รัดกุม ประกอบกับการแพร่ระบาด ที่ยืดเยื้อ สถานะหนี้สินสะสมในภาคครัวเรือนจึงสูงกว่าร้อยละ 90 ของจีดีพี ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่เงินทุน ไม่เพียงพอ ต้องชะลอการดำเนินการ และบางส่วนตัดสินใจหยุดดำเนินกิจการ โดยเพื่อเป็นการเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ให้สามารถก้าวต่อไปได้ในสมรภูมิธุรกิจ ตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ไม่ต้องการทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะผู้รับผิดชอบโดยตรงที่ดูแลผู้ประกอบการในทุกระดับทั่วประเทศ จึงได้สั่งการไปยังทุกหน่วยงานในกำกับ ให้เร่งหาวิธีการส่งเสริมแหล่งเงินทุนและการเข้าถึงโอกาสในการพัฒนา
ดีพร้อม ในฐานะหน่วยงานที่สนับสนุน และส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จึงได้ขับเคลื่อนนโยบายดีพร้อมแคร์ (DIPROM CARE)ช่วยเหลือผู้ประกอบการในทุกมิติ โดยมุ่งหวังผลทั้งในระยะสั้น เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ที่ทันท่วงที และในระยะยาวเพื่อสร้างรากฐานความมั่นคงให้เกิดขึ้น ส่งเสริมผู้ประกอบการอย่างตรงจุด ซึ่งประกอบด้วย
- ดีพร้อมเปย์ (DIPROM Pay) โครงการสินเชื่อระยะสั้น ให้ผู้ประกอบการได้อุ่นใจ มีเงินทุนเพียงพอสำหรับการดำเนินธุรกิจในระยะเร่งด่วน ซึ่งวางกรอบวงเงินสินเชื่อไว้ 30 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี (SMEs)ที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการของดีพร้อม ในช่วงปีงบประมาณ 2564 – 2565 โดยสามารถกู้ได้ไม่เกินคนละ 5 ล้านบาท
ดอกเบี้ยคงที่แบบขั้นบันได ภายในระยะเวลา 3 ปี ร้อยละ 3–5 ตามลำดับ ซึ่งสามารถยื่นขอรับพิจารณาสินเชื่อได้ที่ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทร. 0 2430 6865 – 66 ต่อ 1051 – 1052 ได้ตั้งแต่วันนี้ – 30 เมษายน 2565 - ดีพร้อมปลอดหนี้ (DIPROM Financial Literacy) โครงการอบรมออนไลน์เพื่อเสริมสร้างทักษะ
การรู้เท่าทันสภาพการเงิน การบริหารจัดการเงินทุน การทำบัญชีสำหรับเจ้าของธุรกิจ รวมทั้ง
การเตรียมความพร้อมเพื่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อติดอาวุธและสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินที่ดีให้กับผู้ประกอบการ แก้ปัญหาหนี้สินสะสม ถือเป็นการแก้ปัญหาหนี้เอสเอ็มอีในระยะยาว
ซึ่งผู้ประกอบการที่สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมอบรมได้ที่ https://learning.dip–sme–academy.com/
ดร.ณัฐพล กล่าวเสริมว่า เมื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีทักษะเชี่ยวชาญในการบริหารการเงิน รวมทั้ง สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้แล้วก็จะสามารถสร้างสภาพคล่องให้เกิดขึ้น รวมทั้งวางแผนวิธีรักษาสภาพคล่อง เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องทางธุรกิจ ซึ่งเป็นปัจจัยทางตรงที่จะรักษาอัตราการจ้างงาน ทั้งยังมีส่วนช่วยให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ โดยดีพร้อมตั้งเป้าให้ผู้ประกอบการได้รับการพิจารณาสินเชื่อระยะสั้นดีพร้อมเปย์ (DIPROM Pay)ไม่น้อยกว่า 30 ราย และผู้ประกอบการกว่า 1,221 กิจการ มีทักษะความเชี่ยวชาญด้านการเงิน ซึ่งตลอดระยะเวลา 3 ปี ของการดำเนินการ ดีพร้อม ได้ช่วยให้ผู้ประกอบเข้าถึงสินเชื่อของทั้งหน่วยงานภาครัฐ และธนาคารเอกชน รวมมูลค่ากว่า 142 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี นอกจากโครงการสินเชื่อระยะสั้น ดีพร้อมเปย์ (DIPROM Pay) แล้ว ดีพร้อมยังมี
กองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สินเชื่อกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ 2560 และเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย ซึ่งสามารถขอรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นอกจากนี้ หากผู้ประกอบการมีโมเดลนวัตกรรม ทางธุรกิจที่มีศักยภาพก็สามารถเข้ารับการส่งเสริมเพื่อสร้างโอกาสในการร่วมลงทุนได้เช่นกัน ซึ่งดีพร้อมมีเครือข่ายภาคเอกชนที่พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการอยู่เป็นจำนวนมาก
ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
โทรศัพท์ 0 2430 6865–66 ต่อ 4 และติดตามข้อมูลข่าวสารและความเคลื่อนไหวได้ที่ www.facebook.com/dipromindustry หรือ www.diprom.go.th
More Stories
แม่โขง ดันซอฟต์พาวเวอร์ค็อกเทลไทยสู่สากล ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 กับงาน Mekhong The Spirit Competition 2024
แม่โขง ดันซอฟต์พาวเวอร์ค็อกเทลไทยสู่สากล ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 กับงาน Mekhong The Spirit Competition 2024
เคอีเอ็กซ์ ยกระดับบริการเรียกรถเข้ารับพัสดุถึงบ้าน สร้างความสะดวกแบบใหม่