19 พฤศจิกายน 2024

THE MASTER

ย่อโลกข่าวไว้ในมือคุณ

เลขาธิการ คปภ. เดินหน้าเต็มสูบ เร่งคลอด “NIB” ศูนย์บริหารข้อมูลด้านการประกันภัยแห่งชาติ

ย้ำชัด..! ควบรวมฐานข้อมูล “ประกันชีวิต-วินาศภัย” สู่ Big data ช่วยยกระดับและเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมประกันภัยในระดับสากล

ประกัน/MLMNEWS

ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2565 สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริม           การประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ร่วมกับคณะที่ปรึกษาจากศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท บีเทค เทค คัมพะนี จำกัด เปิดเวทีประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง กรณีการจัดตั้งศูนย์บริหารข้อมูลด้านการประกันภัยแห่งชาติ ภายใต้หัวข้อ “พลิกโฉมการเข้าถึงข้อมูลด้านประกันภัยกับแนวทางการจัดตั้ง National Insurance Bureau : ก้าวต่อไปของประกันภัยไทยเพื่ออนาคต
ที่ยั่งยืน” ณ โรงแรม เจดับบลิว แมริออท กรุงเทพฯ โดยผ่านช่องทางการประชุมออนไลน์ (Zoom Meeting) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสรุปแนวทางในการจัดตั้งศูนย์บริหารข้อมูลด้านการประกันภัยแห่งชาติที่เหมาะสมและเป็นศูนย์กลางข้อมูลด้านประกันภัยของประเทศไทย อีกทั้งสามารถให้บริการด้านข้อมูลหรือบริการด้านอื่นที่เกี่ยวข้องแก่ประชาชน ภาคธุรกิจประกันภัย ตลอดจน หน่วยงานภาครัฐ หรือภาคเอกชนอื่นที่เกี่ยวข้องได้อย่างรวดเร็ว
มีประสิทธิภาพ ช่วยยกระดับการดำเนินกิจการของอุตสาหกรรมประกันภัย และเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมประกันภัยในระดับสากล

เลขาธิการ คปภ. เป็นประธานกล่าวเปิดเวทีประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกรณีการจัดตั้งศูนย์บริหารข้อมูลด้านการประกันภัยแห่งชาติ โดยมีความสำคัญตอนหนึ่งว่า สำนักงาน คปภ. ได้จัดทำระบบฐานข้อมูลการประกันภัย (Insurance Bureau System : IBS) ซึ่งได้พัฒนาฐานข้อมูลประกันวินาศภัยเสร็จแล้ว และอยู่ระหว่างพัฒนาฐานข้อมูลประกันชีวิตตามแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2564-2568)
แต่เนื่องจากสภาพแวดล้อมภายนอก กฎระเบียบต่าง ๆ และเทคโนโลยีดิจิทัลที่เกิดการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้การเชื่อมโยงข้อมูลในเชิงบูรณาการกับฐานข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการนำข้อมูลด้านประกันภัยต่าง ๆ ภายในระบบฐานข้อมูลการประกันภัยมาประมวลและวิเคราะห์เพื่อการใช้ประโยชน์ด้านต่าง ๆ เป็นไปอย่างจำกัด ด้วยเหตุนี้ สำนักงาน คปภ. จึงเห็นควรที่จะต้องดำเนินการผลักดันการจัดตั้งศูนย์บริหารข้อมูลด้านการประกันภัยแห่งชาติ National Insurance Bureau (NIB) ในระยะต่อไป เพื่อเป็นสิ่งที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มต่อภาคธุรกิจประกันภัยและต่อผู้บริโภคเป็นอย่างมาก เพราะ NIB จะเป็นศูนย์ที่รวมข้อมูลประกันภัย ทั้งประกันวินาศภัย และประกันชีวิต จากระบบ IBS ทั้งสองระบบ โดยสิ่งที่ต้องคำนึงถึง คือ ต้องไม่ก่อให้เกิดภาระในการส่งข้อมูลซ้ำซ้อนหลายทาง ทั้งโดยการส่งให้ NIB แล้วยังต้องส่งให้ IBS โดยข้อมูลที่ส่งไปต้องถูกออกแบบให้เป็นข้อมูลที่มีการ Cleansing หรือการจัดระเบียบของข้อมูล และมีคุณภาพ

(Data Quality) เพื่อให้พร้อมสำหรับนำ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ และ Machine Learning มาใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์ข้อมูล ให้ได้ผลลัพธ์ที่ช่วยป้องกัน ช่วยในการตัดสินใจเชิงรุก และช่วยคาดการณ์เกี่ยวกับการประกันภัยล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำมากขึ้น รวมทั้งเอื้อให้เกิดธุรกิจใหม่ ๆ เช่น InsurTech (Insurance Technology), หรือ RegTech (Regulatory Technology), และ SupTech (Supervisory Technology) ตลอดจน HealthTech (Health Technology) ที่ต้องให้ความสำคัญ ซึ่งจำเป็นต้องพัฒนามาตรการในการกำกับดูแลที่จำเป็นและเกี่ยวข้องต่อไป

ในการเสนอการจัดตั้ง NIB นั้น ได้มีการศึกษาแนวทางการจัดตั้ง NIB ในหลาย ๆ ประเทศที่ประสบความสำเร็จ ทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร ไอร์แลนด์ ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ และอินเดีย ที่มีความพยายามในการจัดตั้งศูนย์บริหารและพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านการประกันภัยแห่งชาติ ซึ่งมีรูปแบบการจัดตั้งที่หลากหลายทั้งในรูปแบบที่ดำเนินการโดยหน่วยงานภาครัฐที่เป็นหน่วยงานราชการ หน่วยงานอิสระหรือกึ่งราชการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ และหน่วยงานภาคเอกชนที่ได้รับการมอบหมายอำนาจหน้าที่ตามกฎระเบียบของประเทศ เป็นต้น

โดยระบบฐานข้อมูลที่มีการจัดเก็บ รวบรวม และแลกเปลี่ยนระหว่างหน่วยงานที่เป็นสมาชิกมีทั้งการให้บริการที่เป็นขอบเขตเฉพาะเจาะจง เช่น การประกันภัยภาคบังคับ และการให้บริการข้อมูลที่มีความครอบคลุมทั้งการประกันวินาศภัยและการประกันชีวิต

จากการรับฟังความคิดเห็นในที่ประชุมเห็นตรงกันว่าควรสนับสนุนการจัดตั้ง NIB ในประเทศไทยเพื่อเสริมสร้างความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมประกันภัยของไทยทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทผู้รับประกันภัย นายหน้าประกันภัย ตัวแทนประกันภัย ผู้เอาประกันภัย ตลอดจนหน่วยงานผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการประกันภัยแต่ละประเภทครอบคลุมทั้งประกันวินาศภัย ประกันชีวิต และประกันสุขภาพ โดยในอนาคต NIB สามารถต่อยอดการให้บริการไปสู่ InsurTech และ FinTech โดยการใช้ประโยชน์จาก Big Data และเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทวีความสำคัญเพิ่มขึ้นในสังคมไทยและสังคมโลก การให้ NIB มีอำนาจตามกฎหมายในการขอข้อมูลจากกิจการประกันภัยตามรูปแบบ มาตรฐาน และเงื่อนไขที่กำหนดได้ (คล้ายกรณีบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ที่มีกฎหมายรองรับการจัดตั้ง) และการจัดตั้ง NIB จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งหน่วยงานกำกับดูแล อุตสาหกรรมประกันภัย นายหน้าประกันภัย ตัวแทนประกันภัย และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ที่ประชุมฯ มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะในการขับเคลื่อน NIB เช่น การทำงานของ NIB ควรมีการเสริมกับการดำเนินงานของโครงการพัฒนาฐานข้อมูลการประกันภัย IBS ของสำนักงาน คปภ. การดำเนินงานของ NIB ในช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transition Period) การพิจารณาความเหมาะสมของการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการเข้าถึงข้อมูล NIB การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ถือกรมธรรม์ และการประชาสัมพันธ์ข้อมูลบางประเภทที่ได้จัดเก็บอยู่แล้วเพื่อให้ประชาชนผู้ถือกรมธรรม์ได้รับทราบและสามารถใช้ประโยชน์ได้

“ผมเชื่อมั่นว่า การจัดตั้ง NIB จะก่อให้เกิดศูนย์กลางข้อมูลด้านประกันภัยของประเทศไทย และสามารถให้บริการด้านข้อมูลหรือบริการด้านอื่นที่เกี่ยวข้องแก่ประชาชน ภาคธุรกิจประกันภัย ตลอดจน หน่วยงานภาครัฐ หรือภาคเอกชนอื่นที่เกี่ยวข้องได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ช่วยยกระดับการดำเนินกิจการของอุตสาหกรรมประกันภัย และเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมประกันภัยในระดับสากล” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

Skip to content