ประกัน/MLMNEWS
ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ เปิดเวทีสัมมนารับฟังความคิดเห็นตามโครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาและเสนอแนะแนวทางการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมประกันภัยปรับเปลี่ยนองค์กร (Transformation) เป็น Digital Insurance ณ โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ (Grand Richmond Hotel) จังหวัดนนทบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลการศึกษาเสนอแนะแนวทางการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมประกันภัยปรับเปลี่ยนองค์กรเป็น Digital Insurance ในเบื้องต้น พร้อมทั้งเพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เช่น กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน สมาคมนายหน้าประกันภัยไทย สมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สมาคมฟินเทคแห่งประเทศไทย สภาองค์กรของผู้บริโภค สมาคมโรงพยาบาลเอกชน เป็นต้น โดยการสัมมนาเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง จัดขึ้น 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2565 และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2565
เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า สำนักงาน คปภ. มีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้อุตสาหกรรมประกันภัยปรับเปลี่ยนองค์กร (Transformation) เป็น Digital Insurance โดยได้จัดให้มีการ Kick Off โครงการนี้เมื่อช่วงเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา โดยที่ปรึกษาซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านกฎหมาย คณิตศาสตร์ประกันภัย บริหารความเสี่ยง ด้านการตลาด และด้าน IT ได้มีการทบทวนสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 กรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 แผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 4 รวมถึงกฎหมายประกันภัยของประเทศไทยที่เกี่ยวข้อง มีการนำข้อเสนอแนะของ World Bank และ IMF ในการประเมิน FSAP ด้านการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยมาพิจารณา มีการวิเคราะห์โครงสร้างตลาดประกันภัยทางเศรษฐศาสตร์ วิเคราะห์และเปรียบเทียบกับ Market Structure ในต่างประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม เป็นต้น และที่สำคัญได้มีการทำ Survey เกี่ยวกับ Digital Insurance ของบริษัทประกันภัยไทย และมีการสัมภาษณ์บุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้องในหลากหลายภาคส่วน ดังนั้น เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษาและเป็นการสร้างความเข้าใจเบื้องต้นให้กับผู้มีส่วนได้เสียกับอุตสาหกรรมประกันภัยไทย สำนักงาน คปภ. จึงได้จัดการสัมมนาเปิดรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวขึ้น ซึ่งเป็นการนำเสนอผลการศึกษาโดยอาจารย์พฤทธิพร นครชัย จากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายของที่ปรึกษาศศินทร์ฯ แบ่งเป็น 2 ด้าน คือ ด้านที่ 1 การกำกับดูแล เสนอแนะให้กำกับดูแลให้ผู้เล่นในอุตสาหกรรมมีสภาพแวดล้อมที่สามารถแข่งขันได้เท่าเทียมกัน อาทิ การเปิดเสรีให้มีการแข่งขันกับต่างประเทศ หรือการแข่งขันระหว่างบริษัทประกันภัยดิจิทัล และบริษัทประกันภัยแบบดั้งเดิม เช่น การขออนุมัติหรือการมี Fast Track ในการทดสอบผลิตภัณฑ์ และควรดึงดูดบริษัทประกันภัยต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศ รวมทั้งควรเพิ่มความยืดหยุ่นในการกำกับดูแลเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของธุรกิจและนวัตกรรมดิจิทัลในอนาคต โดยเสนอแนะให้สำนักงานฯ เร่งดำเนินการตามแผนการปรับการกำกับดูแล ให้เป็น Principle หรือ Objective Based มากขึ้น เช่น การกำกับดูแลแบบ Portfolio ตามระดับชั้นของความสามารถความเสี่ยงและความเข้มแข็งทางการเงินรวมทั้งขั้นตอนการอนุมัติผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยเน้นความเสถียรของระบบและความปลอดภัยมากกว่ารายละเอียดปลีกย่อย
ด้านที่ 2 แนวทางการส่งเสริมดิจิทัล อาทิเช่น ส่งเสริมให้มีผู้บริหารด้านดิจิทัลของบริษัทประกันภัยมาจากอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยแนวทางควรเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจในด้านเทคนิครวมถึง Mindset ของตลาดและการดำเนินธุรกิจดิจิทัลอย่างลึกซึ้ง รวมทั้งควรมีการสร้าง Platform กลาง ที่บริษัทประกันภัยสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น TFRS17 ที่มีการลงทุนสูง เป็นต้น โดยสำนักงาน คปภ. อาจเปิดโอกาสให้ Startup ที่มีความสามารถเข้ามาเป็นผู้จัดทำ Platform กลาง เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือการคำนวณอัตราเบี้ยประกันภัย ลดการฉ้อฉลประกันภัยและต้นทุนบริษัทประกันภัย ลดภาระในการแปลงข้อมูลเข้าสู่ระบบภายในสำนักงานฯ และลดการลงทุนด้านข้อมูลที่ซับซ้อน โดยอาจมีการเชื่อมต่อข้อมูลที่สำคัญในธุรกิจร่วมด้วย นอกจากนี้ สำนักงานฯ อาจพิจารณาการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนทักษะที่จำเป็น เช่น นักคณิตศาสตร์ประกันภัย โดยอาจมีโครงการ Actuary Junior และควรมีการประชุมกับภาคธุรกิจอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องเพื่อทราบความเป็นไปปัญหาและอุปสรรคในการหาทางออกหรือแก้ไขร่วมกัน ตลอดจนดำเนินการร่วมกับภาครัฐอื่น ๆ เพื่อดำเนินการในด้านต่าง ๆ เช่น การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับโรงพยาบาลเอกชน และแก้ไขกฎหมายที่ปลดข้อจำกัดทางด้านการดำเนินงานด้านดิจิทัล รวมไปถึงการควบรวมบริษัทประกันภัย เป็นต้น
“การสัมมนาครั้งนี้นอกจากเป็นเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมประกันภัยไทยแล้ว ยังเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นประสบการณ์เกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการธุรกิจประกันภัยในมิติต่าง ๆ และการพัฒนาองค์กรให้สามารถเผชิญกับบริบทของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงที โดยจากการแสดงความคิดเห็น มีข้อเสนอแนะในทิศทางที่สอดคล้องกันคือ เห็นความสำคัญที่บริษัทประกันภัยจะต้องปรับเปลี่ยนองค์กรเป็น Digital โดยควรมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในทุกกระบวนงานของระบบประกันภัย (End-to-End Process) และควรต้องให้ความสำคัญกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงเรื่อง IT Security โดยเห็นว่าที่ผ่านมาโครงการ OIC Sandbox ของสำนักงาน คปภ. เป็นประโยชน์อย่างมากต่อภาคธุรกิจประกันภัย สำหรับประเด็นที่เกี่ยวกับจำนวนของผู้ประกอบการในธุรกิจประกันภัยที่เหมาะสม ผู้เข้าร่วมงานสัมมนาเห็นว่าควรต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการผูกขาด และการแข่งขันในธุรกิจ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้เสียผลประโยชน์ และสำนักงาน คปภ. ควรมีการกำกับดูแลที่เป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ที่มาจากกลุ่ม Start-up เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ร่วมสัมมนาเห็นตรงกันว่าการควบรวมกิจการของบริษัทประกันภัย เป็นปัจจัยที่จะสร้างจุดแข็งให้กับบริษัทในการ Transform เป็น Digital Insurer เป็นต้นทั้งนี้ทีมที่ปรึกษาโครงการจะได้นำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้เข้าร่วมสัมมนาไปเพิ่มเติมและปรับปรุงผลการศึกษาให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นเพื่อจะได้ใช้เป็นแนวทางในการกำกับดูแลให้อุตสาหกรรมประกันภัยก้าวสู่การเป็น Digital Insurance อย่างแท้จริง และเกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
More Stories
วิริยะประกันภัย ร่วมสนับสนุนงาน iTIC Forum 2024 ผลักดันเทคโนโลยี AI เสริมวินัยจราจร
ธนชาตประกันภัย รับรางวัล CAC Change Agent Award 2024
ศูนย์ CIT จัดงาน “InsurTech Summit 2024”