26 พฤศจิกายน 2024

THE MASTER

ย่อโลกข่าวไว้ในมือคุณ

Wellness Tourism การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ยูนิคอร์นใหม่เศรษฐกิจไทย “ยุคโควิด”

 ก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 กระแสการดูแลสุขภาพเริ่มเป็นที่สนใจของผู้คนเพิ่มมากขึ้น เรื่อยๆ    และการระบาดของเชื้อไวรัส ยิ่งกลายเป็นตัวกระตุ้นกระแสรักสุขภาพมากขึ้นเป็นเท่าทวีคูณไปทั่วโลก เพราะมนุษย์เริ่มตระหนักว่า หนึ่งในวิธีสำคัญที่จะต่อสู้กับเชื้อโรคผู้รุกราน นั่นก็คือ การทำให้ตัวเราแข็งแรง มีเกราะป้องกันที่มีคุณภาพที่สุด มีภูมิต้านทานสูงขึ้น ซึ่งการจะได้มาซึ่งสิ่งเหล่านี้ ต้องอาศัยความมีวินัย ความรู้ ในการหมั่นบำรุง ดูแลร่างกายของเราอยู่เสมอ เพราะกว่าจะได้รับสุขภาพดี ต้องใช้เวลา

                ปัจจัยอีกข้อหนึ่งที่ทำให้การดูแลสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญมากขึ้นและมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นก็คือ หลายประเทศทั่วโลกกำลังทยอยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ หรือ UN ในปี ค.ศ. 2020 ทั่วโลกมีประชากรผู้สูงอายุเกิน 60 ปี เฉลี่ยประมาณ 13.5% หรือเป็นจำนวนประมาณ 1,049 ล้านคนทั่วโลก และจะเพิ่มเป็น 21% หรือ 2,100 ล้านคนในปี ค.ศ. 2050 สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2564 เรามีผู้สูงอายุที่อายุเกิน 60 ปี ราวๆ 13 ล้านคน หรือประมาณ 20% ถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก และมีการประเมินว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า ปี พ.ศ. 2575 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสูงสุดคือ มีคนอายุเกิน 60 ปี สูงถึง 28% ซึ่งแน่นอนย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศไปในวงกว้าง ทั้งภาคเศรษฐกิจ ภาคสังคมและระดับครอบครัว

                “เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่” หมอแอมป์ – นพ.ตนุพล วิรุฬหการุญ นายกสมาคมแพทย์ฟื้นฟูสุขภาพและส่งเสริมการศึกษาโรคอ้วน กรุงเทพ (BARSO) และประธานคณะผู้บริหาร บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก (BDMS Wellness Clinic) กล่าวแสดงความกังวล “เพราะเมื่อผู้สูงอายุมากขึ้น แต่คนเกิดน้อยลง คนวัยทำงานจึงลดจำนวนลงด้วย ทำให้ต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อมาเลี้ยงดูทั้งครอบครัว ไม่ใช่แค่ ภรรยา สามีและลูก แต่รวมถึงคุณพ่อคุณแม่ ไปจนถึงรุ่นปู่ย่าตายาย”

ในปี พ.ศ. 2564 ประเทศไทยมีอัตราการเกิดน้อยกว่าอัตราการเสียชีวิต สิ่งนี้ส่งผลกระทบในวงกว้าง ตั้งแต่ระดับเล็กจนไปถึงระดับใหญ่ เมื่อประเทศมีคนทำงานน้อยลง ศักยภาพในการเดินหน้าผลักดันประเทศก็จะน้อยลงตามไปด้วย การจัดเก็บภาษี การจัดเก็บรายได้ก็จะน้อยลง ต้องพึ่งพาการนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศมากขึ้น ดังนั้นย่อมดีกว่า หากมีการวางแผนดูแลสุขภาพตัวเราและผู้ใหญ่ในบ้าน ให้อายุมากขึ้นแบบมีคุณภาพ ร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรครุมเร้า และช่วยเหลือตัวเองได้

                ปัจจัยอีกข้อหนึ่งที่ผลักดันให้มนุษย์หลายคนหันกลับมาวางแผนดูแลสุขภาพ ตั้งแต่ยังไม่เจ็บป่วย ก็คือโรคที่เกิดจากน้ำมือตัวเรา หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ Non-communicable diseases (NCDs)’ กลุ่มโรคนี้เป็นปัจจัยกระตุ้นให้คนทั้งโลกเริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพ

คุณหมอแอมป์อธิบายว่า “เพราะกลุ่มโรค NCDs เปรียบเสมือน เพชฌฆาตเงียบ ที่ค่อยๆ คืบคลานเข้ามา แอบซ่อนเข้ามาในรูปแบบต่างๆ เช่น การนอนน้อย ความเครียดสะสม การรับประทานอาหารไม่ดี ไม่มีประโยชน์ เช่น  อาหารหวานจัด มันจัด เค็มจัด เนื้อสัตว์แปรรูป น้ำตาล High Fructose Corn Syrup (HFCS) ไขมันทรานส์ ไขมันอิ่มตัว การไม่ออกกำลังกาย การขยับตัวน้อยๆ ไปจนถึงสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษต่างๆ สุรา บุหรี่ และฝุ่นละออง PM 2.5 เป็นต้น”  

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก หรือ WHO รายงานว่า ในปี พ.ศ. 2563 ผู้เสียชีวิตทั่วโลกจากกลุ่มโรค NCDs สูงถึง 71% หรือเป็นจำนวน 41 ล้านคนทั่วโลก และ WHO ยังรายงานอีกว่า ในปี พ.ศ. 2562 คนไทยเสียชีวิตด้วยกลุ่มโรค NCDs สูงถึง 76.58% มากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก หรือนับเป็นจำนวนเท่ากับ 351,880 คน “หากคำนวณง่ายๆ ทุกๆ 1 ชั่วโมง จะมีผู้เสียชีวิตจากโรค NCDs สูงถึง 44 คน” คุณหมอ แอมป์แสดงความกังวล

                กลุ่มโรค NCDs หรือ กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ประกอบไปด้วยโรคต่างๆ ที่ส่วนใหญ่ เกิดมาจากหลายปัจจัย ทั้งพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิต แต่สิ่งที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ด้วยตัวเอง ตั้งแต่วันนี้คือ ‘วิถีชีวิต’ ขึ้นอยู่กับการประพฤติปฏิบัติตัวของเรา กลุ่มโรค NCDs ประกอบไปด้วย

  1. โรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก หรือ Stroke โรคนี้คร่าชีวิตประชากรไทยเป็นอันดับหนึ่งในตระกูลโรค NCDs               2. โรคเบาหวาน 3. โรคความดันโลหิตสูง 4. โรคหลอดเลือดหัวใจ 5. โรคมะเร็งหลายชนิด 6. โรคทางเดินหายใจและปอด และ 7. โรคสุดท้าย คือ โรคอ้วน

                จากข้อมูลทั้งหมดที่กล่าวมา ทำให้ “กระแสการดูแลสุขภาพ” เติบโตไปทั่วโลก สถาบันโกลบอลเวลเนส (Global Wellness Institute; GWI) ประเมินมูลค่าเศรษฐกิจสุขภาพทั่วโลก (Global Wellness Economy) พบว่ามีการเติบโตขึ้นอย่างมากตลอดหลายปีที่ผ่านมา มูลค่าการตลาดทางด้านสุขภาพทั่วโลก ในปี พ.ศ. 2560 อยู่ที่ 4.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ในปี พ.ศ. 2562 ขยับสูงขึ้นมาอยู่ที่ 4.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ  เฉลี่ยเติบโต ประมาณ 6-7 % ทุกปีติดต่อกันมาตลอดหลายปี จนมาถึงช่วงโควิดระบาด ส่งผลกระทบให้การเดินทางยากขึ้น หลายประเทศมีการปิดเส้นทางการเดินทาง ต้องอยู่แต่ในประเทศตัวเอง เพื่อการควบคุมโรค ทำให้มูลค่ารวมของกระแสธุรกิจทางด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้นมาตลอด 10 ปี ร่วงลงไป ในปี พ.ศ. 2563 ร่วงลงมาอยู่ที่ 4.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ 

Skip to content