26 พฤศจิกายน 2024

THE MASTER

ย่อโลกข่าวไว้ในมือคุณ

ประเทศไทยเปิดฉากการประชุมของสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 นำภาคเอกชนยกระดับเศรษฐกิจแห่งเอเชีย-แปซิฟิก

  • ประเทศไทยเริ่มต้นบทบาทเจ้าภาพการประชุม APEC Business Advisory Council 2022 (ABAC 2022) อย่างเป็นทางการ ชูแนวคิด Embrace Engage Enable ต่อยอดโอกาสแห่งการกลับมาร่วมผนึกกำลังผลักดันความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของภูมิภาค
  • การปูทางสู่อนาคตที่ดีกว่าของเอเชีย-แปซิฟิก ด้วยกลยุทธ์ 5 ด้าน ได้แก่ การบูรณาการทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ดิจิทัล MSMEs ความยั่งยืน และเศรษฐกิจการเงิน
  • การเตรียมนำ 8 ข้อเสนอแนะ เพื่อยกระดับการรวมกลุ่มภูมิภาคและศักยภาพของธุรกิจทุกขนาด ยื่นต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีการค้าเอเปค 21-22 พฤษภาคมนี้

กรุงเทพมหานคร,​ 12 พฤษภาคม 2565 – ผู้นำภาคเอกชนแห่งเอเชีย-แปซิฟิก เปิดตัวการประชุมของสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค หรือ APEC Business Advisory Council (ABAC) ภายใต้การเป็นเจ้าภาพของประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ตอกย้ำความยึดมั่นต่อประชากรกว่า 4.3 พันล้านคนของภูมิภาค และความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันภายใต้กรอบกลยุทธ์ 5 ด้าน ได้แก่ การบูรณาการทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ดิจิทัล MSMEs ความยั่งยืน และเศรษฐกิจการเงิน เพื่ออนาคตที่ดียิ่งกว่าของภูมิภาค

APEC Business Advisory Council (ABAC) ประกอบด้วยสมาชิกหลักจำนวน 63 คน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยผู้นำของแต่ละเขตเศรษฐกิจ (3 คนต่อหนึ่งเขตเศรษฐกิจ จาก 21 เขตเศรษฐกิจของเอเชีย-แปซิฟิก) โดยในทุกปี สมาชิกของ APEC Business Advisory Council จะรวมตัว ณ การประชุมของสภาฯ จำนวน 4 ครั้ง และงาน APEC CEO Summit จำนวน 1 ครั้ง เพื่อร่วมหารือ และแลกเปลี่ยนมุมมองด้านธุรกิจและความท้าทายทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เพื่อพัฒนาบทสรุปคำแนะนำประจำปีที่จะยื่นเสนอต่อผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค

ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพการประชุมสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 นี้ คุณสุพันธุ์ มงคลสุธี ได้ดำรงตำแหน่งประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 ซึ่งผลักดันการจัดงานด้วยแนวคิด EMBRACE ENGAGE ENABLE พร้อมเปิดรับโอกาสการกลับมาร่วมประชุมของผู้นำภาคเอกชนในสถานที่จริง (Onsite) เป็นปีแรกนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ นับเป็นความภาคภูมิใจและเป็นเกียรติที่ทุกภาคส่วนของประเทศไทยควรน้อมรับ เพราะเป็นโอกาสในการแสดงศักยภาพ จุดแข็ง และเสน่ห์ที่มีเอกลักษณ์ของประเทศ และการร่วมระดมความคิดเพื่อขยายขีดจำกัดของภูมิภาค ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงทางภาคธุรกิจของภูมิภาคและโลกที่สำคัญ

คุณสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 กล่าวว่า “สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค หรือ APEC Business Advisory Council ไม่เพียงแต่เป็นตัวแทนของภาคธุรกิจจาก 21 เขตเศรษฐกิจของเอเชีย-แปซิฟิกเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวแทนของประชาชน ผู้ที่ทำให้ธุรกิจของเราต่างดำเนินอยู่ได้ในวันนี้ ความท้าทายทางเศรษฐกิจและสังคมต่างๆ อาทิ เหตุโรคระบาด และเหตุการณ์ระหว่างประเทศ ได้สร้างผลกระทบไปทั่วโลก ทั้งด้านการดำเนินธุรกิจ ด้านวิถีชีวิตของผู้คน และด้านการเติบโตของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ด้วยเหตุนี้ร่วมมือระหว่างสมาชิกของ APEC Business Advisory Council จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพื่อพัฒนาบทสรุปคำแนะนำที่สะท้อนความต้องการของผู้คนในภูมิภาคอย่างแท้จริง และนำยื่นเสนอต่อผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคในช่วงปลายปี 2022”

การดำเนินการประชุม APEC Business Advisory Council 2022 นั้นได้ผ่านวาระการประชุมไปแล้ว 2 ครั้ง คือครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 15-18 กุมภาพันธ์ ณ ประเทศสิงคโปร์ และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 25-28 เมษายน ณ เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา โดยการประชุมครั้งที่ 3 จะมีขึ้นในวันที่ 26-29 กรกฎาคม ณ ประเทศเวียดนาม ส่วนการประชุมครั้งที่ 4 จะมีขึ้น ณ​ วันที่ 13-16 พฤศจิกายน ณ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย นอกจากนี้ ประเทศไทยยังจะเป็นเจ้าภาพการจัดงาน APEC CEO Summit 2022 ระหว่างวันที่ 16-18 พฤศจิกายน อีกด้วย

ดร.​พจน์​ อร่ามวัฒนานนท์ ประธาน APEC CEO Summit 2022 และผู้แทนสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 ไทยกล่าวว่า “ประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพ APEC CEO Summit เมื่อปี 2003 และในปีนี้ APEC CEO Summit 2022จะมีขึ้นอีกครั้งที่ประเทศไทย ภายใต้แนวคิด “EMBRACE ENGAGE ENABLE” โดยจะเป็นการจัดงานแบบ onsite เป็นครั้งแรก หลังจากที่มีระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ประเทศไทยมีความพร้อมในการต้อนรับผู้นำด้านธุรกิจ วิทยากรชั้นนำของโลก และซีอีโอกว่า 1,500 คนจากทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่จะเดินทางมาแลกเปลี่ยนมุมมองด้านเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โปรแกรมที่จะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 16-18 พฤศจิกายน 2022 จะประกอบด้วยการอภิปราย การนำเสนอ และการเจรจาในประเด็นต่างๆ ซึ่งจะส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สมดุล ยั่งยืน และครอบคลุม”

APEC Business Advisory Council 2022 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ดำเนินการประชุมเพื่อผลักดันความก้าวหน้าของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกทั่วทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ โดยแบ่งเป็น 5 คณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนกลยุทธ์ 5 ด้าน ได้แก่ การบูรณาการทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Economic Integration), การเสริมสร้างศักยภาพด้านดิจิทัล (Digital), การส่งเสริมความพร้อมของธุรกิจในทุกขนาด (MSMEs and Inclusiveness),ความก้าวหน้าเชิงวิถีปฏิบัติด้านความยั่งยืน (Sustainability) และระบบการเงินที่มีโครงสร้างยืดหยุ่นและสภาพแวดล้อมตอบโจทย์ (Finance & Economics) โดยผลการหารือจากแต่ละรอบการประชุมจะนำไปสู่การพัฒนาบทสรุปข้อเสนอแนะเพื่อยื่นต่อผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคในช่วงปลายปี 2022

สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 ได้หารือความคืบหน้าในประเด็นสำคัญต่างๆ ครั้งล่าสุด ณ การประชุมครั้งที่ 2 ที่ประเทศแคนาดา โดยจากการประชุมครั้งดังกล่าว ตัวแทนภาคเอกชนได้เตรียมคำแนะนำ 8 ประการ เพื่อยื่นเสนอต่อที่ประชุมของคณะรัฐมนตรีการค้าเอเปค ในวันที่ 21-22 พฤษภาคม 2022 นี้ โดยประกอบด้วย ข้อเสนอแนะเพื่อกระชับการบูรณาการทางเศรษฐกิจของภูมิภาค (1) การเตรียมความพร้อมรับมือกับโรคระบาดในอนาคต (2) การตระหนักถึงการวางแนวทางเพื่อบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ FTAAP (3) สนับสนุนองค์การการค้าโลก และระบบการค้าแบบพหุภาคี (4) การสร้างความเข้มแข็งให้กับการค้าบริการ (5) การเปิดด่านชายแดนอีกครั้งด้วยการเดินทางที่ปลอดภัยและราบรื่น และข้อเสนอแนะเพื่อให้ธุรกิจมีการเติบโตอย่างยั่งยืน ไม่หยุดนิ่ง และครอบคลุม (6) การจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน ผ่านมาตรการทางการค้าและเศรษฐกิจ (7) การพัฒนาธรรมาภิบาลด้านดิจิทัลให้สูงขึ้น และ (8) การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการ MSMEs ในตลาดต่างประเทศ

ทั้งนี้ คำแนะนำที่มีความเร่งด่วนสูงสุดมี 3 ประการ คือ ด้านความมั่นคงด้านอาหาร ด้านดิจิทัล และด้านการค้าเสรีในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP)

ดร.​พจน์​ อร่ามวัฒนานนท์ ประธาน APEC CEO Summit 2022 และผู้แทนสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 ไทย กล่าวว่า “ความท้าทายต่างๆ ในวันนี้ ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของประเด็นความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน และความจำเป็นที่เราจะต้องเร่งพัฒนาระบบเศรษฐกิจให้มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) และมีระบบอาหารที่ยั่งยืน มีผลิตภาพ และโปร่งใสมีสมดุล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่พลังงานและอาหารมีราคาแพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

คุณกอบศักดิ์​ ดวงดี, ผู้แทน สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 ไทย กล่าวว่า “เศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคที่จะหมุนเวียนและเติบโตได้อย่างก้าวหน้า ก็ต่อเมื่อมีการค้าดิจิทัล และอีคอมเมิร์ซ ที่ไหลลื่น มีเสถียรภาพ เชื่อถือได้ บริหารจัดการได้จากทุกที่ และใช้งานได้อย่างครอบคลุมทั่วถึงทุกเขตเศรษฐกิจ โดยเอเปคจำเป็นต้องผลักดันด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) และโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูล (Data infrastructure)”

คุณมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์, ผู้แทนสำรอง สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 ไทย กล่าวเสริมว่า “FTAAP เป็นสิ่งที่ APEC Business Advisory Council ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดย FTAAP เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของ APEC Putrajaya Vision 2040 ในการนี้ APEC Business Advisory Council มีความเชื่อมั่นว่าการส่งเสริมระบบการค้าแบบเปิดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และการขจัดมาตรการกีดกันทางการค้า จะนำมาซึ่งการเจริญเติบโตและความเจริญรุ่งเรืองที่ยั่งยืนและครอบคลุมมาสู่ทุกเขตเศรษฐกิจในภูมิภาค รวมถึงจะช่วยเพิ่มมาตรฐานการครองชีพของประชาชนในภูมิภาคเอเปคต่อไป”

ภายใต้ความภาคภูมิใจของประเทศไทยกับวาระการเป็นเจ้าภาพการประชุมสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 ที่สำคัญนี้ คุณสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 กล่าวปิดท้ายว่า “ในฐานะประธานและประชาชนคนหนึ่งที่เป็นส่วนหนึ่ง(EMBRACE) ของวาระที่สำคัญยิ่งนี้ ผมมีความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะผลักดันการมีส่วนร่วม (ENGAGE) และการทำให้เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเกิดความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรม (ENABLE) และขณะเดียวกัน ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพ เราจะทำหน้าที่อย่างเต็มภาคภูมิเพื่อให้ทุกท่านเห็นได้ว่า เราในฐานะตัวแทนจะร่วมผลักดันข้อเสนอแนะที่สำคัญต่อเวทีโลกเพื่อผลประโยชน์ที่ยั่งยืนร่วมกันระหว่างเราทุกคน”

Skip to content