ประกัน/MLMNEWS
ตามที่บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 และในวันที่ 18 พฤษภาคม 2565 ศาลฯ ได้มีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ แล้ว บริษัทฯ จึงได้กำหนดกรอบระยะเวลาประมาณการเพื่อฟื้นฟูกิจการในเบื้องต้น และขั้นตอนกระบวนการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมาย เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาสินไหมโควิด และสร้างความมั่นใจในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ต่อไป โดยมีรายละเอียดดังนี้
ประมาณการกรอบระยะเวลาดำเนินการการฟื้นฟูกิจการในเบื้องต้น
ลำดับ | การดำเนินการ | กรอบระยะเวลาดำเนินการ (ประมาณการ)* |
1 | บริษัท สินมั่นคงประกันภัยฯ ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาล | 17 พฤษภาคม 2565 |
2 | ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ และกำหนดวันนัดพิจารณา ลูกหนี้อยู่ในสภาวะบังคับชั่วคราว หรือ สภาวะพักการชำระหนี้ (Automatic Stay) | 18 พฤษภาคม 2565 |
3 | ศาลจัดส่งคำร้องขอฟื้นฟูกิจการให้บรรดาเจ้าหนี้ | ประมาณเดือนมิถุนายน 2565 |
4 | ศาลนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ | 15 สิงหาคม 2565 |
5 | ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผน | ประมาณเดือนตุลาคม 2565 |
6 | ประกาศคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนในหนังสือพิมพ์และราชกิจจานุเบกษา (หลังจากศาลมีคำสั่งตามข้อ 5 ประมาณ 1 เดือน) | ประมาณเดือนพฤศจิกายน 2565 |
7 | เจ้าหนี้ต้องดำเนินการยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในระยะเวลา 1 เดือนนับจากวันโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผน | ประมาณเดือนธันวาคม 2565 |
8 | ผู้ทำแผนจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการและส่งแผนฟื้นฟูกิจการภายใน 3 เดือนนับจากวันโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผน (ขอขยายได้ 2 ครั้งๆ ละไม่เกิน 1 เดือน) | ประมาณเดือนมีนาคม 2566 |
9 | เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นำส่งแผนฟื้นฟูกิจการให้กับเจ้าหนี้ | ประมาณเดือนเมษายน 2566 |
10 | เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาลงมติออกเสียงในแผนฟื้นฟูกิจการ | ประมาณเดือนพฤษภาคม 2566 |
11 | ศาลล้มละลายพิจารณาคำสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ | ประมาณเดือนมิถุนายน 2566 |
12 | ผู้บริหารแผนดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ | กรกฎาคม 2566 เป็นต้นไป |
*หมายเหตุ: กรอบระยะเวลาดำเนินการนี้เป็นการประมาณการเบื้องต้นและภายใต้สมมุติฐานที่ดีที่สุด ทั้งนี้ กรอบระยะเวลาดำเนินการอาจมีการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมและจำเป็น
กระบวนการฟื้นฟูกิจการ
ขั้นตอนกระบวนการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมาย มีขั้นตอนโดยคร่าว ดังนี้
- วันที่ 17 พฤษภาคม 2565 ลูกหนี้ (กล่าวคือ บริษัท สินมั่นคงประกันภัยฯ) ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาล ภายหลังจากได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากสำนักงาน คปภ.
- วันที่ 18 พฤษภาคม 2565 ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการไว้พิจารณา
ทั้งนี้ ศาลกำหนดนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการวันที่ 15 สิงหาคม 2565 เวลา 9:00 น. และจะได้ประกาศวันเวลานัดไต่สวนในหนังสือพิมพ์ กับให้ส่งสำเนาคำร้องขอแก่เจ้าหนี้ทั้งหลายเท่าที่ทราบ ก่อนวันนัดไต่สวน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีโอกาสได้พิจารณาคำร้องขอฟื้นฟูกิจการได้
ภายหลังจากศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ลูกหนี้อยู่ในสภาวะบังคับชั่วคราว หรือ สภาวะพักการชำระหนี้ (Automatic Stay) ซึ่งเป็นมาตรการในการคุ้มครองกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ และคุ้มครองประโยชน์โดยรวมของเจ้าหนี้ทั้งหลายและเพื่อความเป็นธรรม ตามมาตรา 90/12 แห่งพ.ร.บ. ล้มละลายฯ เช่น ห้ามเจ้าหนี้รายใดรายหนึ่งฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งหรือบังคับทรัพย์สินของลูกหนี้ ห้ามฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลาย ห้ามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการของลูกหนี้ หรือสั่งให้ลูกหนี้หยุดประกอบกิจการ และห้ามมิให้ลูกหนี้จำหน่าย จ่าย โอน หรือกระทำการใด ๆ ที่ก่อให้เกิดภาระในทรัพย์สิน นอกจากเป็นการกระทำที่จำเป็นเพื่อให้การดำเนินการค้าตามปกติของลูกหนี้ดำเนินต่อไปได้ เป็นต้น
- ศาลไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ และคำคัดค้านของเจ้าหนี้ (หากมี) และพิจารณามีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้
หากไม่มีการคัดค้านผู้ทำแผนที่ลูกหนี้เสนอและศาลเห็นสมควรให้ฟื้นฟูกิจการ ศาลจะมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และมีคำสั่งแต่งตั้งผู้ทำแผนที่ลูกหนี้เสนอ ซึ่งอำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ และบรรดาสิทธิตามกฎหมายของผู้ถือหุ้น (ยกเว้นสิทธิที่จะได้รับเงินปันผล) จะตกแก่ผู้ทำแผนที่ได้รับการแต่งตั้งจากศาล
- เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ (จพท.) จะประกาศคำสั่งศาลล้มละลายในหนังสือพิมพ์และในราชกิจจานุเบกษา เจ้าหนี้ในหนี้เงินซึ่งมีหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ จะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในระยะเวลา 1 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผนดังกล่าว
กระบวนการสอบสวนคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ จะดำเนินการโดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และเมื่อมีคำสั่งเกี่ยวกับคำขอรับชำระหนี้เป็นประการใด เจ้าหนี้หรือผู้มีส่วนได้เสียในสำนวนหนี้ อาจอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไปยังศาลได้
- ผู้ทำแผนจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อยื่นส่งต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ภายใน 3 เดือนหลังจากการโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผนในราชกิจจานุเบกษา
- เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จัดการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการ และรายงานผลการประชุมต่อศาล
- ศาลกำหนดวันนัดพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการ
โดยในกรณีที่ที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติเห็นชอบด้วยแผน ศาลจะพิจารณาว่าแผนฟื้นฟูกิจการเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดรวมถึงเป็นธรรมแก่เจ้าหนี้ทั้งหลายหรือไม่ และหากเห็นสมควร ศาลจะมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ
ในกรณีที่ศาลจะมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ประกาศคำสั่งศาลเห็นชอบด้วยแผนในราชกิจจานุเบกษา แผนที่ได้รับความเห็นชอบนี้จะมีผลผูกพันเจ้าหนี้ทุกราย ตามมาตรา 90/60 และบรรดาสิทธิและอำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ รวมถึงหน้าที่ในการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ จะตกแก่ผู้บริหารแผนซึ่งได้แก่บุคคลที่แผนฟื้นฟูกิจการที่เจ้าหนี้เห็นชอบนั้นกำหนดไว้ ตามมาตรา 90/59
- ผู้บริหารแผนมีหน้าที่ดำเนินการฟื้นฟูกิจการตามแผน
ผู้บริหารแผนมีหน้าที่ดำเนินการฟื้นฟูกิจการตามแผน รวมถึงการดำเนินธุรกิจ การจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ และรายงานการปฏิบัติตามแผนต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทุก ๆ3 เดือน โดยระยะเวลาการดำเนินการตามแผนต้องไม่เกิน 5 ปี
- เมื่อการฟื้นฟูกิจการสำเร็จลุล่วงตามแผน ศาลจะพิจารณามีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ
ในการนี้ ลูกหนี้จะกลับมาดำเนินกิจการต่อไปได้ตามเดิม ทั้งนี้ การดำเนินการฟื้นฟูกิจการสำเร็จ
More Stories
ทิพยประกันภัย ชวนถอดรหัสความสำเร็จ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำครบวงจรแห่งแรกของไทย พลิกฟื้นปากพนัง สู่อู่ข้าวอู่น้ำเมืองคอน
กรุงไทย–แอกซ่า ประกันชีวิต คว้ารางวัล “ขวัญใจมหาชน” ในโครงการ “ตลาดทุนไทย ร่วมส่งพลังความรู้ สู่ประชาชน เฟสที่ 2”
กรุงเทพประกันชีวิต ส่งต่อความ “ใส่ใจ” ให้เยาวชนไทย เดินหน้าโครงการ CSR “สานฝันจากพี่สู่น้อง” ปี 2567