ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันมีการพัฒนาเพิ่มศักยภาพในการทำงานทำให้การรักษาผู้ป่วยในภาวะวิกฤต มีโอกาสรอดชีวิตรวมถึงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ในสภาวะฉุกเฉิน เทคโนโลยีทางการแพทย์มักถูกนำมาใช้กับผู้ป่วยอย่างทันท่วงที เพื่อแข่งกับนาทีชีวิต ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ เครื่องเอคโม่ (ECMO) หรือที่หลายคนเรียกว่า “ปอดเทียม หรือหัวใจเทียม” จากการนำเครื่องเอคโม่มาใช้ในการปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างรอบด้าน ทำให้โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ได้รับรางวัล ELSO Award of Excellence in Extracorporeal Life Support ในปี 2022 ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับทีมเอคโม่ จากสถาบันที่มี ECMO service ทั่วโลก โดยพิจารณาจากผลสัมฤทธิ์ในการแลผู้ป่วยด้านต่างๆ ซึ่งมีทั้งหมด 7 ด้าน ด้วยกัน โรงพยาบาลส่วนใหญ่จะอยู่ในทวีปอเมริกาและยุโรป
นพ.อรรถภูมิ สู่ศุภอรรถ ศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก ผู้ช่วยผู้อำนวยการ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวว่า เครื่องเอคโม่ ECMO (Extracorporeal Membrane Oxygenation) เป็นเครื่องที่ใช้พยุงปอดและหัวใจ ด้วยการดึงเลือดออกจากตัวผู้ป่วยแล้วนำมาฟอกผ่านเครื่องโดยจะมีการควบคุมอุณหภูมิและออกซิเจน ซึ่งตัวเครื่องจะทำหน้าที่คล้ายกับปั๊มน้ำส่งคืนเลือดกลับเข้าไปในร่างกาย สามารถทำงานทดแทนปอดและหัวใจได้ ในกรณีที่ปอดและหัวใจไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ “หลักการทำงานของเครื่องจะดึงเลือดออกจากตัวคนไข้ ด้วยการใส่ท่อพลาสติกที่มีขนาดใหญ่เท่าหัวแม่มือผ่านหลอดเลือดตามแขน คอ หรือขา ในบางกรณีอาจใส่ตรงเข้าไปในหัวใจก็ได้โดยการเปิดหน้าอกเข้าไป แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะใส่จากที่ขาหนีบขึ้นไปถึงหัวใจ ซึ่งการใส่จะต้องไม่ทำอันตรายกับหลอดเลือดและไม่ไปทะลุเข้าหัวใจ”ท่อที่ใส่นี้จะใส่อย่างน้อย 2 ท่อ ท่อหนึ่งจะเป็นการเอาเลือดออกจากร่างกาย ส่วนอีกท่อหนึ่งจะเอาเลือดกลับเข้าร่างกาย เมื่อเอาเลือดออกจากร่างกายเข้ามาในตัวเครื่องแล้ว ตัวเครื่องจะเติมออกซิเจนแล้วมีการปรับอุณหภูมิให้เหมาะสม ในการปรับอุณหภูมิ อย่างในกรณีที่คนไข้มีไข้ หรือในกรณีที่คนไข้หัวใจหยุดเต้นมาเป็นเวลานาน ต้องการให้อุณหภูมิในร่างกายต่ำเพื่อที่จะรักษาเซลล์ในสมอง ก็จะใช้การควบคุมอุณหภูมิจากตัวเครื่อง ส่วนการเติมออกซิเจน ในบางกรณีเจอคนไข้โรคปอดที่ทำให้ปอดไม่ยอมทำงาน เช่น การติดเชื้อโควิด-19 โดยคนไข้โควิด-19 บางส่วน มีเชื้อโรคเข้าไปทำลายปอดทำให้ปอดหยุดทำงานไปชั่วขณะหนึ่ง อาจจะเป็นอาทิตย์ๆ การใช้เครื่องตัวนี้ก็จะช่วยได้ โดยมีการเติมออกซิเจนเข้าไปทดแทนปอด ก็คือ ดึงเอาเลือดออกมาแล้วเติมออกซิเจนข้างนอกด้วยการผ่านตัวปั๊มแล้วส่งกลับคืนเข้าสู่ร่างกายอีกทีหนึ่ง ซึ่งจะพบได้ในคนไข้โรคปอด ไม่ว่าจะเป็นปอดติดเชื้อ ปอดเกิดการอักเสบจากสาเหตุต่างๆ ก็สามารถใช้เครื่องตัวนี้ช่วยชีวิตคนไข้ได้เมื่อเติมออกซิเจนเสร็จก็ต้องผ่านตัวปั๊ม โดยตัวปั๊มจะมีหน้าตาเหมือนกรวยจะทำการปั่นเลือดแล้วคืนกลับเข้าสู่ร่างกายคนไข้ ซึ่งตัวปั๊มนี้สามารถใช้ทดแทนการทำงานของหัวใจได้ ฉะนั้น ในกรณีหัวใจไม่ยอมเต้น เช่น หัวใจวาย หรือคนไข้ที่หลอดเลือดหัวใจตีบที่ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายแล้วไม่ยอมทำงาน ก็สามารถใช้เครื่องมือนี้ทดแทนการทำงานของหัวใจได้เช่นกัน “ในระหว่างที่นำคนไข้มาปั๊มหัวใจ หรือสวนหัวใจ
รวมทั้ง ทำการรักษา เตรียมการผ่าตัด สามารถใช้เครื่องมือนี้ซื้อเวลาให้คนไข้มีความดันอยู่ในหลอดเลือดในปริมาณที่พอจะเลี้ยงสมองและอวัยวะต่างๆ ได้ก่อน”สำหรับประสิทธิภาพในการทำงานของเครื่องนี้ว่า“หากไส้กรอง หรือ Membrane นี้มีการทำงานที่ยืนยาวมากขึ้น จะสามารถใช้ทดแทนปอดในคนไข้ที่มีความจำเป็นที่จะใช้ปอดเทียมในระยะยาวๆ ได้ เช่น โรคถุงลมโป่งพองชนิดที่ว่าไม่สามารถฟื้นตัวได้ด้วยตัวเอง หรือปอดเป็นพังผืดชนิดที่ไม่กลับมาแล้ว บางรายต้องอาศัยการผ่าตัดเปลี่ยนปอดแต่ก็หาผู้บริจาคได้ยาก ซึ่งถ้าท่อตัวนี้สามารถใช้ได้ยาวนานขึ้น หลายๆ เดือน หรือเป็นปี ก็จะช่วยในการรักษาผู้ป่วยได้”
โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่มีปริมาณของบุคลากรที่จะเข้ามาร่วมดูแลคนไข้ที่มีความซับซ้อนค่อนข้างมาก และมีความพร้อมเพรียงกันทุกแผนก ทั้งสาขาที่หายากในหลายๆ สาขา บางครั้งเจอปัญหายากในคนไข้บางราย แต่ได้ที่ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านเรื่องนั้นมาช่วยดูแลก็ทำให้ผ่านพ้นปัญหายากๆ ไปได้
การนำเครื่องเอคโม่มาใช้ในการปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ป่วยโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ได้รับรางวัล ELSO Award of Excellence in Extracorporeal Life Support ในปี 2022 ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับทีมเอคโม่ จากสถาบันที่มี ECMO service ทั่วโลก ซึ่งมี 7 ด้าน เริ่มจาก Systems Focus คือ ลักษณะของศูนย์บริการ การดูแลคนไข้ จัดระบบเป็นอย่างไร มีจำนวนบุคลากรจำนวนเพียงพอหรือไม่ ด้าน Environmental Focus เรื่องของจำนวนห้องไอซียู อุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ ด้าน Workforce Focus จะเป็นเรื่องของจำนวนบุคลากร
ด้าน Knowledge Management เรื่องของการแลกเปลี่ยนความรู้ในโรงพยาบาล การแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างแพทย์และบุคลากรต่างๆ เช่น มีการประชุม มีการปรึกษาหารือกันอย่างต่อเนื่อง
ด้าน Quality Focus จะเป็นเรื่องผลสัมฤทธิ์ในการดูแลคนไข้ มีการลงข้อมูลว่าคนไข้รายนี้ใส่เครื่องเอคโม่เมื่อไร การใส่เป็นอย่างไร รวมทั้ง มีการลงฐานข้อมูล ซึ่งฐานข้อมูลนี้จะต้องเอาผลไปเทียบกับผลของ ECMO service อื่นๆ ทั่วโลกด้วย เพื่อจะเป็นส่วนหนึ่งในคะแนนที่จะนำมาพิจารณา
ด้าน Process Optimization ดูว่าการทำงานของทีมสอดคล้องกับคำแนะนำที่ให้มาหรือไม่ โดยทางการแพทย์จะมีงานวิจัยออกมาใหม่ๆ ทุกปี ทางทีมเอคโม่ของเราก็เอาความรู้พวกนี้มาปรับการทำงานของทีม ไม่ใช่ว่า 5 ปีก่อนทำอย่างไรปัจจุบันก็ทำอย่างเดิม แต่จะต้องมีการปรับปรุงเป็นระยะๆ
สุดท้าย Patient & Family Focus ไม่ใช่ดูแลแต่คนไข้แต่ต้องดูแลไปถึงครอบครัวของคนไข้ด้วย บางครั้งต้องมีการเอานักจิตวิทยา จิตแพทย์เข้ามาอยู่ในทีม ในบางเคส เพื่อที่จะให้แน่ใจว่าทั้งตัวผู้ป่วยและญาติสามารถร่วมไปกับการรักษาของทางทีมแพทย์ได้ โดยจะต้องมองภาพใหญ่ ภาพรวมทั้งหมด
รพ.ที่ได้รับรางวัลส่วนใหญ่จะอยู่ในทวีปอเมริกาและยุโรป เช่น Mayo Clinic Rochester, Oregon Health & Science University, The Royal Brompton Hospital, University of Pittsburgh Medical Center, Boston Children’s Hospital, Cleveland Clinic, Duke University Hospital, Massachusetts General Hospital, Northwestern Memorial Hospital, Stanford Hospital and Clinics, The University of Chicago Medical Center
ในแถบเอเชียตะวันออก โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ นับเป็นแห่งที่ 3 ถัดจาก National Taiwan University Hospital และ Chonnam National University Hospital ที่ได้รางวัลนี้
ภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้น หัวใจ นับเป็นอวัยวะหนึ่งที่เกิดภาวะวิกฤตขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่เลือกสถานที่ ยิ่งในสภาวการณ์ปัจจุบันของประชากรในประเทศไทย ที่มีคนก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยมากขึ้น จึงทำให้มีสัดส่วนของคนไข้ที่เป็นโรคหัวใจมากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นเงาตามตัว ตามสัดส่วนแล้วผู้ชายจะเริ่มเป็นโรคหัวใจได้เร็วกว่าผู้หญิง โดยจะเริ่มตั้งแต่อายุ 40 ปี ขึ้นไป ในขณะที่ ด้วยสรีระ ฮอร์โมน กายภาพของผู้หญิงทำให้ปกป้องร่างกายของผู้หญิงได้ดีกว่า จึงทำให้ผู้หญิงกว่าจะเริ่มเป็นโรคหัวใจจริงๆ จะเห็นได้ในวัย 60 ปีขึ้นไป
“ในปัจจุบันการทำงานมีความเครียดมากขึ้น มีการแข่งขันกันสูง รวมทั้ง อาหารการกินที่หันเหไปรับประทานเลียนแบบชาติทางตะวันตกมากขึ้น ทำให้ร่างกายมีไขมันเพิ่มขึ้น อีกทั้ง การกินดีอยู่ดีของประชากรไทยในบางส่วนที่พอทำงานหนักก็อยากจะรับประทานมากขึ้นซึ่งมีผลต่อหลอดเลือดและหัวใจ ทำให้ทุกวันนี้เราเห็นคนไข้ที่เป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้น”
เด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 15 ปี โรคหัวใจที่พบจะเป็นโรคหัวใจแต่กำเนิด ซึ่งหลีกเลี่ยงและแก้ไขไม่ได้ โดยในเด็กเกิดใหม่ 100 คน จะมี 0.5-1 % ที่มีความผิดปกติของหัวใจโดยกำเนิดในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ปัจจุบันเด็กเกิดน้อยลงอัตราการเกิดของโรคก็น้อยลงไปด้วยตรงกับข้ามกับผู้ใหญ่ที่มีอายุเฉลี่ยสูงขึ้นตามวัยก็จะพบการอุบัติของโรคหัวใจเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ส่วนประชากรไทยที่มีอายุ 15- 40 ปี วัยกลางๆ จะเจอโรคลิ้นหัวใจรูมาติกค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นธรรมดาของประเทศกำลังพัฒนาที่จะเจอกับปัญหานี้ด้วยกันทั้งนั้น โดยโรคลิ้นหัวใจรูมาติกเกิดจากการรับยาฆ่าเชื้อที่ไม่เพียงพอ มีการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิดทำให้มีปฏิกิริยาต่อร่างกาย ต่อลิ้นหัวใจ ซึ่งการเกิดของโรคจะใช้เวลาเป็นสิบๆ ปี และมักจะแสดงอาการในช่วงอายุ 30-40 ปี ก็เลยทำให้ลิ้นหัวใจเสียหายจนกระทั่งใช้งานไม่ได้ หากเป็นมากก็ต้องเปลี่ยนลิ้นหัวใจ โดยในแต่ละปีทั่วประเทศไทยจะมีผู้ป่วยเปลี่ยนลิ้นหัวใจประมาณ 3-4 พันคน
ส่วนในวัย 50 ปีขึ้นไป จะไปเน้นหนักที่ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ด้วยอายุที่มากขึ้น ร่วมกับ การสูบบุหรี่ หรือมีประวัติเป็นโรคเบาหวาน มีประวัติไขมันสูง มีประวัติหลอดเลือดเสื่อม ก็จะส่งผลทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบ พอหลอดเลือดหัวใจตีบเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่ได้ กล้ามเนื้อหัวใจก็ตาย ถ้าไปตีบในตำแหน่งที่สำคัญมากๆ เป็นทางหลัก ก็จะไม่มีเลือดไปเลี้ยงหัวใจทั้งแถบ คนไข้ก็จะเสียชีวิตทันที รวมทั้ง ความเสื่อมของร่างกาย หากไม่เป็นโรคของลิ้นหัวใจตีบในช่วงนี้ก็จะไปเป็นในวัย 70-80 ปี สืบเนื่องมาจากความเสื่อมของร่างกาย โดย 2-3% ของประชากรวัย 70 ปีขึ้นไป จะเป็นโรคนี้
โรคหัวใจในผู้ใหญ่ที่เจอบ่อยจะมีปัจจัยมาจาก การเสื่อมของหลอดเลือด ซึ่งมีสาเหตุหลักๆ คือ จากความดันโลหิตสูงนานๆ ซึ่งการที่ความดันสูงบ่อยครั้งเกิดจากการรับประทานอาหารเค็มหรือหวาน หรือปล่อยให้ร่างกายมีไขมันสูงนานๆ พนังหลอดเลือดจะแข็งและทำให้ความดันสูง หรือในคนที่เป็นเบาหวานแล้วไม่ควบคุมน้ำตาลให้ดี ก็จะทำให้เกิดการเสื่อมของหลอดเลือดได้เร็ว
การที่หลอดเลือดเสื่อมนั้น จะไม่ได้เสื่อมแค่หัวใจ แต่จะเสื่อมทั้งร่างกาย เพียงแต่ว่าเวลาแสดงออกมาจะแสดงออกมาที่อวัยวะสำคัญๆ ก่อน เช่น หัวใจ ไต สมอง เราจึงเห็นบางคนนั่งกินข้าวอยู่ดีๆ ล้มฟุบไปเลย หมดสติ หัวใจวาย แน่นอนว่าส่วนหนึ่งมาจากหลอดเลือดหัวใจอุดตันกะทันหัน หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือว่าเสียชีวิตโดยที่ยังไม่ทันได้มาที่โรงพยาบาล เพราะไม่เคยตรวจร่างกายมาก่อนจึงไม่รู้ว่าเกิดการเสื่อมของหลอดเลือด
อาการเบื้องต้นของโรคหัวใจ คือ การเหนื่อยง่าย สามารถสังเกตตัวเองได้เช่น การขึ้นบันได 3 ชั้น เมื่อก่อนขึ้นสบายๆ โดยไม่ต้องหยุดพัก แต่วันนี้เดินแค่ชั้นเดียวก็ต้องยืนหอบแล้ว หากมีอาการอย่างนี้ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย สำหรับการดูแลตัวเองให้ห่างไกลโรคหัวใจ สามารถทำได้โดย ในส่วนของการรับประทาน ไม่รับประทานอาหารที่มีไขมันสูง หรือใส่น้ำมันเยอะ หลีกเลี่ยงของทอด อาหารเค็ม ใครที่ชอบใส่พริก ใส่โซเดียมเยอะๆ 2-3 ช้อน ต้องลดปริมาณการใส่ให้น้อยลง แล้วหันไปรับประทานอาหารที่มีรสชาติจืด ถ้าเปลี่ยนได้จะเป็นเรื่องที่ดีต่อหัวใจ
คนที่เป็นเบาหวานจะต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี หลีกเลี่ยงการกินแป้ง การกินน้ำตาลมากๆ ใน 1 มื้อ ต้องลดปริมาณลง โดยเฉลี่ยๆ ให้เท่าๆ กันในทุกมื้อ น้ำตาลจะได้ไม่สูง
รวมทั้ง มีการออกกำลังกาย ครั้งละครึ่งชั่วโมง อย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ เพื่อให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงอยู่ตลอด โดยจะต้องพิจารณาในเรื่องของวัยและสภาพร่างกายของแต่ละคน เช่น ในคนที่น้ำหนักตัวมากจะให้ไปวิ่งก็คงไม่ไหว จะต้องทำกิจกรรมที่ไม่ลงน้ำหนักในข้อเข่า เพื่อหลีกเลี่ยงการเสื่อมของข้อเข่า แนะนำให้ว่ายน้ำหรือปั่นจักรยานก็จะช่วยได้ หากไม่ถนัดให้หันไปเดินเร็ว โดยเริ่มจากการเดินธรรมดาก่อนไปจนถึงเดินเร็ว พร้อมกับการควบคุมปริมาณอาหารไปด้วย ตลอดจน ทำจิตใจให้แจ่มใส หลีกเลี่ยงหรือลดความเครียดให้น้อยลง เพราะการทำงานหนัก เครียดมากๆ ส่งผลให้มีความดันโลหิตสูงอยู่บ่อยๆ ซึ่งจะส่งผลต่อหัวใจ ควรหาวิธีคลายเครียดมาใช้ ซึ่งแต่ละคนจะเลือกวิธีคลายเครียดที่แตกต่างกันไป อย่าง เล่นกีฬา บางคนนั่งสมาธิ บางคนชอบดูหนัง ดูละคร ลองเลือกหามุมที่ตนเองทำแล้วรู้สึกสบายที่สุด เพื่อจะได้เป็นการบาลานซ์ชีวิตให้เกิดความพอดี
ทางด้านแผนการรักษาโรคหัวใจให้กับผู้ป่วย หากสุดทางแล้วรักษากันไม่ได้จริงๆ วิวัฒนาการทางการแพทย์ในปัจจุบันก็ยังมีอีกขั้นหนึ่ง คือ การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ การใส่หัวใจเทียมที่ทดแทนหัวใจจริง โดยมีหลักการทำงานคล้ายกับเครื่องเอคโม่เพียงแต่ว่าจะย่อส่วนของเครื่องเข้าไปอยู่ในร่างกายของคน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือผู้ป่วย ยิ่งถ้าผู้ใช้มีความชำนาญ ใช้ได้อย่างเหมาะสม ถูกเวลา ยิ่งเพิ่มโอกาสรอด ช่วยกู้คืนชีวิตให้กลับคืนมาได้ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ รพ.หัวใจกรุงเทพ โทร. 080-1919019 Contact Center โทร. 1719 หรือ Heart Care LINE Official : @hearthospital
More Stories
โรบินส์วูด กอล์ฟ คลับ สนามกอล์ฟระดับเวิลด์คลาสในโครงการเรนวูด ปาร์ค
ททท. ร่วมลงนาม MOU กับ วีซ่า ผู้นำการให้บริการการชำระเงินดิจิทัลระดับโลก ยกระดับการท่องเที่ยวด้วยนวัตกรรมทางการเงิน
ฉลองชื่นมื่น ครบรอบ 1 ขวบปี ‘โก โฮลเซลล์’