26 พฤศจิกายน 2024

THE MASTER

ย่อโลกข่าวไว้ในมือคุณ

พพ.ผนึก 7 องค์กรชั้นนำ เดินหน้าประหยัดพลังงาน

นำร่องส่งเสริมการสร้างเครือข่ายด้านอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่ง วางเป้าประหยัดไม่น้อยกว่า 10%

พลังงาน

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน ร่วมกับพันธมิตร
7 องค์กร จากหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือส่งเสริมการสร้างเครือข่ายด้านอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่ง

15 มิถุนายน 2565 ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย นายสมชาติ ตั้งลิขสิทธิ์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การส่งเสริมการสร้างเครือข่ายด้านอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่ง” กับเครือข่ายภาคีหน่วยงาน 7 แห่ง ประกอบด้วย นายศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) นายบุญชัย กาญจนพิมาย ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายธุรการและบริหารอาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทย นายธเนศ จิตรุ่งสาคร ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายปฏิบัติการผลิตหัวบันทึกและอ่านข้อมูลฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด นายวรเทพ สุวจนกร รองประธานกรรมการ บริษัท เอส.พี.อินเตอร์ มารีน จำกัด ดร.อภิรักษ์ ธีระวงศ์ไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ พี อาร์ โลจิซทิคซ จำกัด นายจตุรงค์ อุดมสิทธิกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท พิบูลย์คอนกรีต จำกัด และนายคมกริช มารมย์ ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลบริษัท น้ำมันศรีพลัง จำกัดณห้องบอลรูม 3 ชั้น 6โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่งระหว่าง พพ. และหน่วยงานทั้ง 7 แห่ง

ทั้งนี้ ดร.ประเสริฐ ได้กล่าวถึง “การส่งเสริมการสร้างเครือข่ายด้านอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่ง” ระหว่าง พพ. และหน่วยงาน 7 แห่ง ในครั้งนี้ว่า เป็นส่วนหนึ่งในการประสานความร่วมมือระหว่าง พพ. หน่วยงานภาครัฐ และภาคธุรกิจ เพื่อส่งเสริมองค์กร หรือผู้ประกอบการขนาดใหญ่ให้มีการดำเนินการอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่งอย่างเป็นรูปธรรมโดยโครงการนี้ได้กำหนดเป้าหมายการอนุรักษ์พลังงานในส่วนของภาคการขนส่งจากหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 7 แห่ง ทั้งในด้านขนส่งทางถนน ที่มีจำนวนรถขนส่งสินค้าและขนส่งพนักงานกว่า 6,000 คัน และการขนส่งสินค้าทางน้ำ ที่มีการใช้เรือขนส่งสินค้าและบริการกว่า 50 ลำ ซึ่งแนวทางการกำหนดมาตรการอนุรักษ์พลังงานเบื้องต้น ประกอบด้วย การวิเคราะห์ข้อมูลและจัดทำระบบบริหารจัดการโลจิสติกส์การขนส่งสินค้าและผู้โดยสารที่มีประสิทธิภาพ การเพิ่มทักษะในด้านการขับขี่และการใช้งานยานยนต์ เครื่องจักร และอุปกรณ์ด้านการขนส่งและโลจิสติกส์เพื่อการประหยัดพลังงาน การใช้เครื่องจักรอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับการใช้งาน รวมถึงการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งในส่วนของรถยนต์ รถบรรทุกสินค้า รถโดยสาร เครื่องจักรอุปกรณ์ขนถ่าย และเรือพลังงานไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งในการดำเนินโครงการมีเป้าหมายศักยภาพในการอนุรักษ์พลังงานในส่วนของการขนส่งในหน่วยงานได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10

สำหรับของความมุ่งหวังของการเข้าร่วมโครงการกับ พพ. ของผู้บริหารทั้ง 7 หน่วยงานนั้น นายศุภชัย ผู้ว่าการ PEA ให้ข้อมูลว่า PEA เป็นส่วนงานของรัฐที่ให้บริการจำหน่ายไฟฟ้าแก่ประชาชน มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่งของ PEA ก็จะเป็นการเริ่มต้นที่ดี และสามารถเป็นต้นแบบให้กับหน่วยงานอื่น ๆ ให้สามารถลดการใช้พลังงาน หรือส่งเสริมการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดย นายบุญชัย มีความเห็นว่า แม้ ธปท. จะเป็นหน่วยงานที่ไม่มีการใช้พลังงานในการขนส่งสินค้า แต่ก็มีการใช้รถขนส่งบุคลากรในหน่วยงานเพื่อการติดต่อประสานงาน หรือการประชุมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการร่วมโครงการนี้ จะช่วยให้ ธปท. สามารถเกิดแนวทางในการบริหารจัดการการขนส่งบุคลากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการรองรับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต และเป็นการสร้างความร่วมมือในการอนุรักษ์พลังงานของ ธปท. ต่อไป

ในส่วนของ นายธเนศ บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด (WD) ได้กล่าวว่า การใช้พลังงานในภาคการขนส่งของบริษัทนั้น มีการใช้เชื้อเพลิงในการขนส่งที่สูงมาก เพื่อใช้ใน การขนส่งพนักงานของบริษัทกว่า 1 หมื่นคน ซึ่งมีการใช้รถบัสโดยสารในการขนส่งพนักงานกว่า 160 คัน นอกจากนี้ บริษัทยังมีการขนส่งวัตถุดิบและสินค้าเป็นจำนวนมากอีกด้วย การเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริม
การอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่งของบริษัท ก็จะสามารถตอบโจทย์การอนุรักษ์พลังงาน หรือเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคการขนส่ง ทั้งในด้านการบริหารจัดการรถขนส่งพนักงานและรถขนส่งสินค้า รวมถึง
การส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าสำหรับบุคลากรของบริษัทได้

ด้านภาคการขนส่งทางน้ำ โดย นายวรเทพ กล่าวว่า บริษัท เอส.พี.อินเตอร์ มารีน จำกัด ได้มีการใช้พลังงานทั้งในส่วนของน้ำมันเชื้อเพลิง และไฟฟ้าในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าทางเรือค่อนข้างสูง ดังนั้น หากบริษัทสามารถดำเนินการบริหารจัดการการขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพ จากการที่มีแผนปฏิบัติการอนุรักษ์พลังงานด้านการขนส่งในหน่วยงานเองก็จะเป็นประโยชน์ได้อย่างมากจากการเข้าร่วมโครงการนี้

ทั้งนี้ ในด้านผู้ประกอบการรับขนส่งสินค้าจาก บริษัท เอ พี อาร์ โลจิซทิคซ โดย ดร.อภิรักษ์ ยังได้กล่าวว่า บริษัทได้มีการขนส่งสินค้าทางถนน ซึ่งมีกิจกรรมการขนส่งสินค้าที่หลากหลายจากท่าเรือไปยังโรงงานต่าง ๆ หลายพื้นที่ทั่วประเทศ และมีการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในปริมาณที่สูง ดังนั้น หลักการ และแนวทางการดำเนินงานเพื่อบริหารจัดการการขนส่งสินค้าจึงมีความสำคัญ เพื่อให้ผู้ประกอบการขนส่งสามารถอยู่ได้ภายใต้สภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ซึ่งบริษัทมีความคาดหวังว่า การมีแผนปฏิบัติการอนุรักษ์พลังงานด้านการขนส่งในหน่วยงานจะสามารถช่วยให้บริษัท และเครือข่ายผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กสามารถลดต้นทุนในด้านการขนส่งลงได้

ด้าน นายจตุรงค์ บริษัท พิบูลย์คอนกรีต จำกัด ได้กล่าวว่า การใช้พลังงานในส่วนของการขนส่งสินค้าให้กับลูกค้า รวมถึงกิจกรรมการขนส่งวัตถุดิบภายในโรงงานของบริษัท นับเป็นต้นทุนที่ต้องแบกรับในสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีการปรับตัวขึ้น ดังนั้น บริษัทได้คาดหวังว่า การเข้าร่วมโครงการนี้จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางให้เล็งเห็นโอกาสในการบริหารจัดการระบบการขนส่งสินค้าและบริการอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อมีการดำเนินงานจัดทำแผนปฏิบัติการอนุรักษ์พลังงานด้านการขนส่งในหน่วยงาน

และในส่วนของ บริษัท น้ำมันศรีพลัง จำกัด นั้น นายคมกริช ได้กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงทางถนนด้วยรถบรรทุกเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นการขนส่งสินค้าในประเทศเป็นหลัก มีการใช้พลังงานในการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงในปริมาณที่สูง ทั้งนี้ การเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายด้านอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่ง ของ พพ. จะเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะช่วยให้บริษัทสามารถปรับตัว เพื่อลดต้นทุนในด้านการขนส่งสินค้า และถือเป็นจุดเริ่มต้นในการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานกับหน่วยงานของกระทรวงพลังงานในอนาคต

ทั้งนี้ ดร.ประเสริฐ ได้กล่าวถึงภาพรวมการดำเนินโครงการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายด้านอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่งว่า หน่วยงาน ทั้ง 7 แห่ง จะเป็นหน่วยงานต้นแบบนำร่องที่ได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการอนุรักษ์พลังงานด้านการขนส่งในหน่วยงานของตนเอง ซึ่งสามารถใช้ในการกำกับดูแลควบคุมให้หน่วยงานมีการจัดการพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต ส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่งอย่างยั่งยืนต่อไป

Skip to content