ข่าวนวัตกรรม
ภูเก็ต – ‘บ้านปู เน็กซ์’ ผนึก 4 ภาคี ‘เทศบาลนครภูเก็ต’ ‘เทศบาลตำบลราไวย์’ ‘ชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต’ และ ‘แพลนเน็ต’ เดินหน้าแผนพัฒนาภูเก็ตสมาร์ทซิตี้เฟสที่ 1 ภายใต้โครงการ ‘ภูเก็ต ชุมชนน่าอยู่ สมาร์ท ปลอดภัย สุขใจทุกชีวิต’ นำ‘โซลูชันฉลาดวิเคราะห์’ (Smart Data Analytics) ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยรับวิถีชีวิตยุคใหม่ ครอบคลุม 3 ด้านสำคัญ ได้แก่ ภัยจากโรคระบาดโดยเฉพาะโควิด-19 อาชญากรรม และสิ่งแวดล้อม โดยติดตั้งระบบความปลอดภัยแบบครบวงจรทั้งระบบฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ นำร่อง 2 พื้นที่ บริเวณถนนถลาง-ซอยรมณีย์ และตำบลราไวย์ (บริเวณเทศบาล และแหลมพรหมเทพ) ชูรายแรกของไทยที่นำสมาร์ทคอมมูนิตี้ แพลตฟอร์ม (Smart Community Platform) และแอปพลิเคชัน มาใช้รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ ประมวลผล และควบคุมระบบด้วยเทคโนโลยี AI สร้างความมั่นใจให้คนในชุมชน และนักท่องเที่ยว พร้อมเตรียมเดินหน้านำโซลูชันอื่นๆ เติมเต็มการพัฒนาภูเก็ตสมาร์ทซิตี้ในฐานะเมืองต้นแบบให้สมบูรณ์ทุกมิติ
นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และบริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด กล่าวว่า “ในปี 2564 นี้ บ้านปู เน็กซ์ บริษัทลูกของบ้านปู ยังคงดำเนินงานภายใต้กลยุทธ์ Greener & Smarter โดยได้รวบรวมความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านโซลูชันพลังงานสะอาดมาพัฒนาต่อยอดเป็น ‘5 โซลูชันพลังงานฉลาด’ (Smart Energy Solutions) ประกอบด้วย ฉลาดวิเคราะห์ ฉลาดผลิต ฉลาดเก็บ ฉลาดใช้ และฉลาดหมุนเวียน เพื่อสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศสู่สมาร์ทซิตี้ได้อย่างเป็นรูปธรรม ประเดิมด้วยการนำ ‘โซลูชันฉลาดใช้’ ได้แก่ เรือท่องเที่ยวไฟฟ้า และสถานีอัดประจุไฟฟ้าไปให้บริการในแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่จังหวัดภูเก็ต ล่าสุดร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และชุมชน เดินหน้าโครงการใหญ่ ‘ภูเก็ต ชุมชนน่าอยู่ สมาร์ท ปลอดภัย สุขใจทุกชีวิต’ นำ ‘โซลูชันฉลาดวิเคราะห์’ มาใช้วิเคราะห์ประเด็นปัญหาของทั้ง 2 พื้นที่ และออกแบบระบบความปลอดภัยที่ตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละพื้นที่ โดยให้บริษัท แพลนเน็ต คอมมิวนิเคชั่น เอเชีย จำกัด (มหาชน) หรือ PLANET เป็นผู้ติดตั้งระบบฮาร์ดแวร์ และระบบปฏิบัติการอินเทอร์เน็ตออฟติงส์ (Internet of Things – IoT)
พร้อมกันนี้ยังนำสมาร์ทคอมมูนิตี้ แพลตฟอร์ม และแอปพลิเคชัน ซึ่งเป็นระบบซอฟต์แวร์ที่บ้านปู เน็กซ์พัฒนาขึ้นเป็นรายแรกของไทย มาใช้พัฒนาโครงการสมาร์ทซิตี้ดังกล่าว โดยแพลตฟอร์มนี้สามารถเชื่อมต่อระบบปฏิบัติการของอุปกรณ์อื่นๆ และทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์ และประมวลผลด้วย AI ส่งเข้าสู่ศูนย์ควบคุมส่วนกลาง (War room) ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถวางแผน และป้องกันสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ ส่วนแอปฯ สมาร์ทคอมมูนิตี้ จะเป็นตัวช่วยให้เจ้าหน้าที่ใช้ดูอุปกรณ์ต่างๆ ของระบบฯ เพื่อเฝ้าระวัง ตรวจสอบ และสั่งการได้ทุกที่ทุกเวลา” ระบบความปลอดภัยที่นำมาติดตั้งนี้ ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพเรื่องการเฝ้าระวังสถานการณ์โควิด-19 ครอบคลุม 5 ด้านตามมาตร การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ได้แก่ 1. นับจำนวนคน เพื่อจำกัดคนเข้าออก 2. ตรวจสอบความหนาแน่นของคนในพื้นที่ 3. ตรวจคัดกรองอุณหภูมิร่างกาย 4. ตรวจจับผู้ที่ไม่ใส่หน้ากากอนามัย 5. นำข้อมูลมาวิเคราะห์ไทม์ไลน์เบื้องต้นของผู้ที่เข้ามาในพื้นที่ และตรวจสอบผู้ที่สงสัยว่าติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถใช้แอปฯ ติดตามข้อมูลทั้งหมด พร้อมระบบแจ้งเตือนแบบเรียลไทม์ เมื่อพบความผิดปกติ และรายงานเหตุการณ์ไปยังศูนย์ควบคุมส่วนกลาง เพื่อควบคุมสถานการณ์ได้ทันเวลา “ระบบความปลอดภัยเหล่านี้ สอดรับกับแนวทางการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ด้านการปกครอง (Smart Governance) สิ่งแวดล้อม (Smart Environment) เศรษฐกิจ (Smart Economy) ความเป็นอยู่ (Smart Living) การเดินทางและขนส่ง (Smart Mobility) ซึ่งทุกระบบฯ ได้เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการแล้ว ทั้งนี้เราจะเดินหน้านำโซลูชันพลังงานฉลาดอื่นๆ พร้อมบริการที่ครบวงจรในราคาที่เหมาะสม มาเติมเต็มการพัฒนาภูเก็ตให้ก้าวสู่สมาร์ทซิตี้โดยสมบูรณ์ โดยเราจะวางภูเก็ตเป็นโครงการต้นแบบสมาร์ทซิตี้ครบวงจร ซึ่งเราจะนำโซลูชัน และแพลตฟอร์มนี้ไปประยุกต์ใช้กับโครงการสมาร์ทซิตี้อื่นๆ ในอนาคตต่อไป” นางสมฤดี กล่าวสรุป
More Stories
ชไนเดอร์ อิเล็คทริค จับมือ กรีนเยลโล่ ปรับโซลูชั่นระบบปรับอากาศใหม่ทั้งโรงงานเพื่อประสิทธิภาพที่ยั่งยืน
ไทยออยล์ ยืนยันใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการผลักดัน ให้ UJV – Samsung, Petrofac และ Saipem ชำระค่าตอบแทนค้างจ่ายให้กับผู้รับเหมาช่วง
“กกพ.” เคาะ ลดเงินประกันการใช้ไฟฯ สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ประวัติดี