KEY SUMMARY
รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้มีบทบาทส่งเสริมการเดินทางเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ รวมทั้งขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งภาคก่อสร้าง และธุรกิจอื่น ๆ
เส้นทางที่รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้พาดผ่านมีความหลากหลาย รวมถึงเชื่อมโยงการเดินทางกับรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ ทั้งสายที่เปิดให้บริการแล้ว และที่มีแผนการก่อสร้างเพิ่มเติม โดยนอกจากจะส่งเสริมให้เกิดการเดินทางเชื่อมโยงทั่วทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑลแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จากการสร้างเม็ดเงินสะพัดเข้าสู่ภาคก่อสร้าง อีกทั้ง การพัฒนาพื้นที่จะกระตุ้นให้ตลาดที่อยู่อาศัยตามพื้นที่เส้นทางที่พาดผ่านมีความคึกคักขึ้น นอกจากนี้ ธุรกิจอื่น ๆ เช่น ค้าปลีก ท่องเที่ยว ยังได้รับอานิสงส์จากผู้เดินทางสัญจรที่เพิ่มขึ้น
ภาคก่อสร้างรับอานิสงส์จากเม็ดเงินส่วนใหญ่กว่า 66% ของมูลค่าโครงการโดยรวม หรือ 8.2 หมื่นล้านบาท เป็นค่างานก่อสร้างและวางระบบราง
เม็ดเงินจากการก่อสร้างและระบบรางรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้จะทยอยเข้าสู่ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างไปตามกิจกรรมการก่อสร้างที่ดำเนินการแล้วเสร็จ ตั้งแต่ปี 2022-2027 โดย EIC ประเมินว่า จะมีเม็ดเงินจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้เข้าสู่ธุรกิจก่อสร้าง โดยเฉพาะในช่วงปี 2024-2026 ราว 60,306 ล้านบาท หรือคิดเป็น 73% ของมูลค่างานก่อสร้างและวางระบบราง จากอัตราความก้าวหน้าของการก่อสร้างที่เร่งตัวขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นงานก่อสร้างอุโมงค์ โครงสร้างยกระดับ และสถานี โดยเริ่มมีงานวางระบบรางบางส่วน
การก่อสร้างไม่เพียงแต่เป็นโอกาสแก่ผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่เท่านั้น แต่เม็ดเงิน 6.4 หมื่นล้านบาท ยังกระจายไปถึงผู้รับเหมาก่อสร้าง SMEs รวมถึงธุรกิจวัสดุก่อสร้าง
ผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ ได้ส่งต่องานก่อสร้างที่ซับซ้อนไม่มากให้แก่ผู้รับเหมาช่วง (Subcontract) ที่เป็น SMEs รวมถึงผู้ผลิต และผู้ค้าวัสดุก่อสร้างล้วนได้รับอานิสงส์จากความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างปริมาณมาก ทั้งปูนซีเมนต์ เหล็ก สายไฟ สายเคเบิล วัสดุด้านสถาปัตยกรรม โดย EIC ประเมินว่า เม็ดเงิน 63,883 ล้านบาท หรือคิดเป็น 78% ของมูลค่างานก่อสร้างและวางระบบราง จะกระจายไปยังผู้รับเหมาก่อสร้าง SMEs รวมถึงผู้ผลิต และผู้ค้าวัสดุก่อสร้าง
อย่างไรก็ดี ผู้รับเหมาก่อสร้างอาจเผชิญความท้าทาย ทั้งต้นทุนวัสดุก่อสร้าง และแรงงาน รวมถึงความล่าช้าในการก่อสร้าง
การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้จะหนุนให้ผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่มี Backlog เพิ่มเติม รวมถึงเพิ่มประสบการณ์การก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ เป็นปัจจัยหนุนต่อการเข้าประมูลโครงการภาครัฐขนาดใหญ่ในอนาคต อย่างไรก็ตาม ผู้รับเหมาก่อสร้างอาจเผชิญความท้าทาย ทั้งต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่พุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหล็ก และปูนซีเมนต์ รวมถึงต้นทุนแรงงานยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้น นอกจากนี้ การส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างที่ล่าช้า อาจส่งผลให้การดำเนินการก่อสร้างในภาพรวมของโครงการไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้อีกด้วย
รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้มีความสำคัญอย่างไร ?
รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดการเดินทางเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) หรือโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ มีระยะทางประมาณ 23.6 กิโลเมตร และมีจำนวนสถานีรวม 17 สถานี แบ่งเป็นรูปแบบทางใต้ดินจำนวน 10 สถานี และทางยกระดับจำนวน 7 สถานี โดยแนวเส้นทางพาดผ่านพื้นที่มีความหลากหลาย ตั้งแต่สถานที่ราชการ สถานศึกษา โรงพยาบาล แหล่งพาณิชยกรรม แหล่งท่องเที่ยว ไปจนถึงแหล่งที่อยู่อาศัย
ทั้งนี้เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้เชื่อมโยงการเดินทางกับรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ ทั้งรถไฟฟ้าสายที่เปิดให้บริการแล้ว ได้แก่ สายสีเขียวอ่อน (สุขุมวิท) สายสีน้ำเงิน (ท่าพระ-เตาปูน-หลักสอง) และสายสีม่วงเหนือ (เตาปูน–บางใหญ่) โดยการเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างสายสีม่วงเหนือ และสีม่วงใต้ ส่งผลให้เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วงตลอดเส้นทางจะครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ นอกจากนี้ เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ยังเชื่อมโยงการเดินทางกับรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ ที่มีแผนการก่อสร้างเพิ่มเติมในอนาคต เช่น สายสีแดง (หัวลำโพง-มหาชัย) และสายสีส้ม (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) กล่าวได้ว่า รถไฟฟ้าสายสีม่วงจะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดการเดินทางเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล ให้มีความสะดวกสบาย และรวดเร็วมากขึ้นในอนาคต
นอกจากนี้ รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งภาคก่อสร้าง และธุรกิจอื่น ๆ เช่น ที่อยู่อาศัย ค้าปลีก การท่องเที่ยว โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้แบ่งเป็น 6 สัญญา ครอบคลุมการก่อสร้างเส้นทางของโครงการ ตั้งแต่สถานีเตาปูนไปจนถึงสถานีครุในจำนวน 5 สัญญา และการวางระบบรางตลอดแนวเส้นทางโครงการจำนวน 1 สัญญา โดยปัจุบันการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ทยอยส่งมอบพื้นที่
และผู้รับเหมาก่อสร้างได้เริ่มเข้าพื้นที่ก่อสร้างจริงแล้ว โดยเริ่มต้นจากงานรื้อย้ายสาธารณูปโภคในพื้นที่สาธารณะ ของหน่วยงานราชการต่าง ๆ เช่น ถนน ทางเท้า ซึ่งเป็นพื้นที่ในช่วงต้นสายของโครงการ เพื่อเปิดพื้นที่สำหรับการก่อสร้าง ในขั้นตอนต่อไป
รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้เป็นโครงการเมกะโปรเจกต์ด้านคมนาคมที่มีมูลค่าโครงการโดยรวมสูงถึงราว 124,320 ล้านบาท ในจำนวนนี้เม็ดเงินส่วนใหญ่กว่า 66% ของมูลค่าโครงการโดยรวม หรือ 82,082 ล้านบาท เป็นค่างานก่อสร้างและวางระบบราง รองลงมาเป็นค่ารถไฟฟ้าและระบบ 19% ของมูลค่าโครงการโดยรวม หรือ 23,679 ล้านบาท ค่าเวนคืนที่ดินและสำรวจอสังหาริมทรัพย์ 13% ของมูลค่าโครงการโดยรวม หรือ 15,945 ล้านบาท และอีก 2% ของมูลค่าโครงการโดยรวม หรือ 2,614 ล้านบาท เป็นค่าบริษัทที่ปรึกษา ครอบคลุมการบริหารโครงการ/ควบคุมงานก่อสร้างโยธา และการกำกับการดำเนินงานโครงการ
กล่าวได้ว่า รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ตั้งแต่การก่อสร้างและวางระบบราง ซึ่งจะมีเม็ดเงินสะพัดเข้าสู่ภาคก่อสร้างตั้งแต่ปี 2022-2027 อีกทั้ง ธุรกิจอื่น ๆ ยังได้รับอานิสงส์จากการพัฒนารถไฟฟ้าในระยะข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นตลาดที่อยู่อาศัยทั้งแนวราบ และคอนโดมิเนียม ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า และพื้นที่ใกล้เคียง ที่น่าจะกระตุ้นความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยได้จากทั้ง Real demand และนักลงทุน จึงเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยสามารถระบายที่อยู่อาศัยคงค้าง หรือพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ ๆ ได้ รวมถึงราคาที่ดินตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า และพื้นที่ใกล้เคียงยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากการพัฒนาพื้นที่ จึงกล่าวได้ว่า รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้จะมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นตลาดที่อยู่อาศัยตามพื้นที่เส้นทางที่พาดผ่านให้คึกคักขึ้น ท่ามกลางการฟื้นตัวช้าของตลาดที่อยู่อาศัยในภาพรวม
นอกจากนี้ เมื่อปี 2018 รฟม. ได้ประเมินไว้ว่า หลังจากรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้เปิดให้บริการแล้ว น่าจะมีจำนวนผู้โดยสารไม่ต่ำกว่า 200,000 คน/วัน ประกอบกับพื้นที่เส้นทางที่รถไฟฟ้าพาดผ่านมีความหลากหลาย ตั้งแต่สถานที่ราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สถานศึกษา โรงพยาบาล แหล่งพาณิชยกรรม แหล่งท่องเที่ยว ไปจนถึงที่อยู่อาศัย อีกทั้ง ยังเชื่อมโยงการเดินทางกับรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ ได้โดยสะดวก ย่อมส่งผลให้ธุรกิจต่าง ๆ ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า และพื้นที่ใกล้เคียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจค้าปลีก และการท่องเที่ยว ยังได้รับอานิสงส์จากจำนวนผู้เดินทางสัญจรที่เพิ่มขึ้น
ภาคก่อสร้างได้รับอานิสงส์จากการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้อย่างไร ?
โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้มีความก้าวหน้าในการดำเนินการเป็นลำดับ ประกอบกับเม็ดเงินส่วนใหญ่กว่า 66% ของมูลค่าโครงการโดยรวม หรือ 82,082 ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้างและวางระบบราง จึงกล่าวได้ว่าภาคก่อสร้างจะเป็นธุรกิจกลุ่มแรก ๆ ที่ได้รับอานิสงส์จากการดำเนินการโครงการนี้ ทั้งนี้ภาคก่อสร้างมี Supply chain ที่เกี่ยวข้องหลากหลายธุรกิจ เช่น รับเหมาก่อสร้าง ผลิต และค้าวัสดุก่อสร้าง บริการด้านเครื่องจักรก่อสร้าง บริษัทที่ปรึกษา ส่งผลให้การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้จะก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และกระจายเม็ดเงินไปสู่ธุรกิจเหล่านี้ รวมถึงยังก่อให้เกิดการจ้างงานตั้งแต่ปี 2022 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มดำเนินการก่อสร้าง ไปจนถึงปี 2027 ซึ่งเป็นปีที่สิ้นสุดการก่อสร้าง และเริ่มเปิดให้บริการ
ทั้งนี้การเปิดประมูลงานก่อสร้างและระบบรางโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ มีข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้เข้าประมูลในด้านต่าง ๆ เช่น ทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ มูลค่าโครงการก่อสร้างเฉลี่ยต่อปีขั้นต่ำในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ประสบการณ์ในการเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างหลักของโครงการก่อสร้างภาครัฐ จากข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้เข้าประมูลดังกล่าว เป็นโอกาสให้ผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่เข้าประมูลในฐานะผู้รับเหมาก่อสร้างหลักของโครงการ โดยผู้รับเหมาก่อสร้างที่ชนะการประมูลมีทั้งรูปแบบบริษัทรายเดียว และกิจการร่วมค้า (Joint venture)
EIC มองว่า การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ จะช่วยหนุนให้มูลค่าการก่อสร้างโครงการเมกะโปรเจกต์คมนาคมขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ในอดีตมูลค่าการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วนเกินครึ่งของมูลค่า การก่อสร้างโครงการเมกะโปรเจกต์คมนาคม และการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้ามีบทบาทสำคัญที่หนุนให้มูลค่าการก่อสร้างเมกะโปรเจกต์คมนาคมขยายตัวตั้งแต่ในช่วงปี 2017-2019 เนื่องจากเป็นช่วงที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าพร้อมกันหลายสาย ทั้งสายที่มีการก่อสร้างต่อเนื่องมาจากในอดีต ได้แก่ สายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) และสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต) ต่อมาในปี 2017 ได้มีการเริ่มต้นก่อสร้างสายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-หลักสอง) และสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี) รวมถึงในปี 2018 ยังมีการเริ่มต้นก่อสร้างสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) เพิ่มเติม ซึ่งการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ เหล่านี้ หนุนให้มูลค่าการก่อสร้างเมกะโปรเจกต์คมนาคมโดยรวมในช่วงปี 2017-2019 ขยายตัวอย่างโดดเด่น EIC มองว่า การเริ่มต้นก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ จะช่วยหนุนให้มูลค่าการก่อสร้างโครงการเมกะโปรเจกต์คมนาคมในปี 2022 ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง คาดว่าในปี 2023 จะมีความคืบหน้าในการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) และการเปิดประมูลสายสีแดง ทั้งแดงเข้ม และแดงอ่อนหลายเส้นทาง ซึ่งการเปิดประมูลและการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ ดังกล่าว จะยังคงมีบทบาทสำคัญที่หนุนให้มูลค่าการก่อสร้างเมกะโปรเจกต์คมนาคมขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต
บทวิเคราะห์โดย… https://www.scbeic.com/th/detail/product/purpleline-14072
ท่านผู้นำเสนอบทวิเคราะห์
กัญญารัตน์ กาญจนวิสุทธิ์, นักวิเคราะห์อาวุโส, Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
กีรติญา ครองแก้ว, นักวิเคราะห์, Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
EIC Online: www.scbeic.comhttp://www.scbeic.com
Line : @scbeic
More Stories
วีเอชดี ส่ง เมอริช คอฟฟี่ ชิงตลาดกาแฟสุขภาพ 3.4 หมื่นลบ.
BDMS Wellness Clinic คว้ารางวัล CEO of the Year 2024 จาก Bangkok Post
SOLUX Clinic เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ ตอกย้ำความสวยที่มีระดับ (พรีเมียม)