พร้อมเผยแนวการสอนวิศวะ #Dek66 ผุด ‘Discussion Class’ กระตุ้นการเรียนรู้เด็ก Gen Z
ม.ธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) 3 สิงหาคม 2565 – คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Thammasat School of Engineering) หรือ TSE รุดปรับบทบาท “สถาบันการศึกษา” สู่ “เพื่อนซี้ต่างวัยของ Gen Z” ช่วงวัยที่มาพร้อมความกล้าคิด กล้าทำ ตั้งคำถาม รองรับการเรียนวิศวกรรมยุคใหม่ ประเดิมปีการศึกษา 2566 เปิดคลาสเรียนออนไซต์ “Discussion Class” หรือห้องเรียนเพื่อการอภิปราย สำหรับรายวิชาที่เกี่ยวเนื่องกับทักษะวิชาชีพ เน้นเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้แสดงความคิดเห็นและซักถามกับผู้สอนได้ หนุนกระตุ้นการเรียนรู้เด็ก Gen Z’เสริมทักษะการปรับตัวให้พร้อมก้าวสู่โลกการทำงาน คู่ขนานกับรูปแบบออนไลน์อย่าง “e-Learning” (อีเลิร์นนิ่ง) ที่เน้นรายวิชาศึกษาทั่วไปที่สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้
ทั้งนี้ การเปิดตัวโฉมใหม่ วิศวะฯ อินเตอร์ มธ. ในงาน TEP-TEPE : The Next Concept of Engineering Education ปฐมบทใหม่ของการเรียนวิศวกรรมเชิงบูรณาการ กำลังจะจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม 2565 เวลา 13.00 – 15.00 น. ณ TSE co-working Space ชั้น 1 วิศวะฯ มธ. (ศูนย์รังสิต) โดยผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.engr.tu.ac.th และ Facebook Fanpage ของ TSE ที่ www.facebook.com/ENGR.THAMMASAT
รองศาสตราจารย์ ดร.นภดล อุชายภิชาติ รองคณบดีฝ่ายบริหารหลักสูตรนวัตกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) เผยว่า ปัจจุบันเด็กเจนแซด (Gen Z) มาพร้อมความกล้าในการแสดงความคิดเห็น ตั้งคำถาม และค้นคว้าหาความรู้ในหลากหลายช่องทางได้อย่างชาญฉลาดและแตกต่าง ด้วยเทคโนโลยีในยุคปัจจุบันที่เอื้อต่อการสืบค้นข้อมูลบนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้อย่างไร้ขีดจำกัด สถาบันการศึกษา จึงจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อดึงศักยภาพของคนรุ่นใหม่มาต่อยอด พร้อมทั้งส่งเสริมการเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้นเสมือนเป็น “เพื่อนซี้ Gen Z” (เพื่อนซี้เจนแซด) รับการเรียนยุคใหม่ ผ่านการเปิดโอกาสให้เด็กรุ่นใหม่ได้ตั้งคำถาม โดยมีผู้สอนคอยสนับสนุนเพื่อพัฒนาศักยภาพ (coaching) และนำไปสู่การค้นพบทางออกที่เหมาะสม ซึ่งนอกจากจะช่วยส่งเสริมศักยภาพนักศึกษาให้เด่นชัดแล้ว ยังมีส่วนสำคัญในการลดช่องว่างและสร้างความใกล้ชิดระหว่างคณาจารย์กับนักศึกษา
รองศาสตราจารย์ ดร.นภดล กล่าวต่อว่า ในปีการศึกษา 2566 นี้ TSE ได้พัฒนารูปแบบการเรียนการสอน ที่ผสมผสานจุดเด่นของการเรียนออนไลน์ (Online) ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบของเด็ก Gen Z ที่มีประสบการณ์การเรียน และนำไปใช้ร่วมกับการเรียนออนไซต์ (On-site) จึงเป็นที่มาของการสอนแนวใหม่ ที่เน้นการผสมผสาน ช่วยกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนแนวคิด การนำเสนอ รวมถึงการต่อยอดทักษะและกระบวนการแก้ปัญหาต่าง ๆ ด้วยหลักวิศวกรรม ซึ่งถือว่าเป็นข้อดีของ TSE ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้แสดงความคิดเห็นและซักถามกับอาจารย์ผู้สอนภายในห้องเรียนอย่างเปิดกว้าง ตลอดจนเป็นการสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ การปรับตัวของคนรุ่นใหม่ในบริบทการเรียนและการทำงานในอนาคต ที่มีโอกาสพบเจอกับผู้คนที่หลากหลาย อีกทั้ง TSE ยังมีการสอนออนไลน์ในรูปแบบ “e-Learning” (อีเลิร์นนิ่ง) ที่ช่วยให้นักศึกษาเข้าถึงองค์ความรู้ได้อย่างอิสระ โดยมุ่งเน้นในรายวิชาศึกษาทั่วไปที่นักศึกษาสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองจากที่บ้าน
นอกจากนี้ TSE ยังได้สนับสนุนเทคโนโลยีการเรียนรู้แก่นักศึกษาด้านการปฏิบัติเชิงวิศวกรรม เพื่อส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไปในสถานการณ์โควิด-19 ทดแทนการปฏิบัติการในห้องแล็บ โดย TSE ได้นำซอฟต์แวร์ในการคำนวณงานทางวิศวกรรมชั้นสูง อาทิ MATLAB และอื่น ๆ เพื่อให้นักศึกษามีความรู้ความเข้าใจ สามารถสร้างแบบจำลอง อาทิ การเรียนรู้การสร้างระบบ AI (เอไอ) หรือแมชชีน เลิร์นนิ่ง (Machine Learning) ได้ด้วยตนเองจากที่บ้านผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีของนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ในยุคปัจจุบัน ที่สามารถเข้าถึงและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ มาช่วยแก้ไขปัญหาด้านวิศวกรรมหรือช่วยในการเก็บข้อมูลต่างๆ ได้อย่างสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น อันจะช่วยหล่อหลอมให้บัณฑิตสามารถก้าวสู่การเป็น “วิศวกรคุณภาพ” ที่พร้อมตอบโจทย์การทำงานของโลกอนาคต
“ในอนาคตอันใกล้นี้ TSE เตรียมปรับปรุงหลักสูตรใหม่รองรับเทรนด์วิศวกรรมในยุคต่อไป ที่มิได้มุ่งเจาะทักษะหรือความเชี่ยวชาญเพียงสาขาเดียวเท่านั้น ผ่านการวิเคราะห์เทรนด์การเรียนวิศวกรรม การเชื่อมโยงหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม สู่การพัฒนาบัณฑิต TSE ให้มีความครบเครื่องและพร้อมก้าวสู่โลกการทำงานในอนาคต อย่างไรก็ดี ปัจจุบันการเรียนวิศวกรรมศาสตร์ มีความสนุกมากขึ้นกว่าในอดีต จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ซอฟต์แวร์ต่างๆ ที่ช่วยให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึง หรือพัฒนาสิ่งที่คิดออกเป็นรูปธรรม อีกทั้งยังเป็นกลไกขับเคลื่อนการทำงานในกระบวนการต่างๆ ได้อย่างมืออาชีพ ซึ่ง TSE พร้อมแล้วในการเปิดรับน้อง ๆ ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เข้ามาเรียนรู้ด้านวิศวกรรมยุคใหม่ ที่เตรียมเปิดตัวต่อสื่อมวลชน พร้อมเปิดเผยรายละเอียดภายในงาน TEP-TEPE : The Next Concept of Engineering Education ปฐมบทใหม่ของการเรียนวิศวกรรมเชิงบูรณาการ ในวันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม 2565 เวลา 13.00 – 15.00 น. ณ TSE co-working Space ชั้น 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) ซึ่งน้อง ๆ ที่สนใจสามารถติดตามรายเอียดเกี่ยวกับการเปิดตัวปฐมบทใหม่ของการเรียนวิศวกรรมเชิงบูรณาการของ TSE สามารถรับชมการถ่ายทอดสดได้ทาง Facebook Live ที่เพซบุ๊คแฟนเพจ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” รองศาสตราจารย์ ดร.นภดล กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ การเปิดตัวโฉมใหม่ วิศวะฯ อินเตอร์ มธ. ในงาน TEP-TEPE : The Next Concept of Engineering Education ปฐมบทใหม่ของการเรียนวิศวกรรมเชิงบูรณาการ กำลังจะจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม 2565 เวลา 13.00 – 15.00 น. ณ TSE co-working Space ชั้น 1 วิศวะฯ มธ. (ศูนย์รังสิต) โดยผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.engr.tu.ac.th และ Facebook Fanpage ของ TSE ที่ www.facebook.com/ENGR.THAMMASAT
More Stories
ททท. เตรียมจัดงานเฟสติวัลครั้งยิ่งใหญ่ “ใส่ไทย เฟสติวัล”
“เมสัน” เนรมิตพื้นที่สุดแสนโรแมนติก สะกดทุกอารมณ์
อโกด้าเผย หาดใหญ่คว้าแชมป์เมืองท่องเที่ยวที่คุ้มค่าที่สุดในไทย ช่วงเทศกาลส่งท้ายปี