26 พฤศจิกายน 2024

THE MASTER

ย่อโลกข่าวไว้ในมือคุณ

กรมธุรกิจพลังงาน เผยภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 7 เดือน ทุกกลุ่มเพิ่มขึ้นจากมาตรการภาครัฐที่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจ

พลังงาน

สถานการณ์การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงรอบ 7 เดือนของปี 2565 (มกราคม-กรกฎาคม)
นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยเดือนมกราคม – กรกฎาคม 2565 อยู่ที่ 151.04 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.5 โดยการใช้กลุ่มดีเซลเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.2 น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เพิ่มขึ้นร้อยละ 69.5 น้ำมันเตาเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.9 LPG เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 และการใช้ NGV เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 การใช้กลุ่มเบนซินเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 ขณะที่น้ำมันก๊าดลดลงร้อยละ 3.2 ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาภาพรวมความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการภาครัฐที่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจ อาทิ การผ่อนคลายการเดินทางเข้า-ออกประเทศ การเปิดสถานบันเทิง การปรับลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเดือนมกราคม – กรกฎาคม 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 29.80 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกัน ของปีก่อน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.4) สำหรับการใช้แก๊สโซฮอล์ 91 แก๊สโซฮอล์ อี20 และเบนซินลดลงมาอยู่ที่ 7.00 ล้านลิตร/วัน 5.63
ล้านลิตร/วัน และ 0.54 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ ขณะที่การใช้แก๊สโซฮอล์ 95 และแก๊สโซฮอล์ อี85 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 15.66 ล้านลิตร/วัน และ 0.97 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ


การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลเดือนมกราคม – กรกฎาคม 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 73.44 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 16.2) การใช้ที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นผลจากมาตรการช่วยเหลือโดยตรึงราคาให้ไม่เกิน 30-35 บาท/ลิตร จนถึง เดือนกันยายน 2565 สำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 การใช้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 64.92 ล้านลิตร/วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 75.9) น้ำมันดีเซล
หมุนเร็วธรรมดา ปริมาณการใช้ลดลงมาอยู่ที่ 2.86 ล้านลิตร/วัน และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 มีปริมาณการใช้ 0.20 ล้านลิตร/วัน ทั้งนี้ น้ำมันดีเซลหมุนเร็วมีสัดส่วนผสมไบโอดีเซลขั้นต่ำที่ร้อยละ 5-6 ทั้ง 3 เกรด และด้วยราคาที่ใกล้เคียงกันจึงส่งผลให้ปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 ปรับตัวสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับน้ำมันดีเซลหมุนเร็วชนิดอื่น การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เดือนมกราคม – กรกฎาคม 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 7.59 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 69.5) เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการการบินและการเดินทางเข้า-ออกประเทศ โดยผู้เดินทางที่ถือสัญชาติไทยและชาวต่างชาติไม่ต้องลงทะเบียนผ่านระบบ Thailand Pass สามารถเดินทางเข้าได้ตามปกติ ไม่ต้องกักตัว แต่ต้องแสดงเอกสารรับรองการได้รับวัคซีนครบ หรือผลตรวจ RT-PCR / Professional ATK ที่ออกภายใน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง โดยไม่ต้องมีประกันสุขภาพ

การใช้ LPG เดือนมกราคม – กรกฎาคม 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 18.17 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.4) เนื่องจากการใช้ในทุกภาคเพิ่มขึ้น โดยภาคขนส่งเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.13 ล้านกก./วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 23.6) ภาคปิโตรเคมี เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 8.27 ล้านกก./วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.4) ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.03 ล้านกก./วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.2) และภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.74 ล้านกก./วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.2)
การใช้ NGV เดือนมกราคม – กรกฎาคม 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 3.39 ล้านกก./วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.6) อย่างไรก็ตาม เนื่องจากราคาก๊าซ NGV ที่ปรับตัวสูงขึ้น ภาครัฐจึงได้ขอความร่วมมือ ปตท. ขยายระยะเวลาการคงราคาขายปลีกก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ที่ 15.59 บาท/กิโลกรัม และราคาขายปลีก NGV สำหรับรถแท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ 13.62 บาท/กิโลกรัม จนถึงวันที่ 15 กันยายน 2565 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนทุกภาคส่วน
การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเดือนมกราคม – กรกฎาคม 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 1,031,582 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.5) เนื่องจากความต้องการใช้เพิ่มมากขึ้น โดยการนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 963,155 บาร์เรล/วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.7) โดยมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 108,453 ล้านบาท/เดือน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 103.5)
สำหรับการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และ LPG) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 68,427 บาร์เรล/วัน คิดเป็นมูลค่าการนำเข้ารวม 5,843 ล้านบาท/เดือน การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปเดือนมกราคม – กรกฎาคม 2565 เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน น้ำมันก๊าด และ LPG โดยปริมาณส่งออกลดลงมาอยู่ที่ 172,104 บาร์เรล/วัน (ลดลง ร้อยละ 6.3) คิดเป็น มูลค่าส่งออกรวม 22,370 ล้านบาท/เดือน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 84.6) เนื่องจากความต้องการใช้ที่ชะลอตัวตามการแพร่ระบาด COVID-19 ในบางประเทศ

Skip to content