กว่าที่สินค้าหรือผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นจะออกจำหน่ายสู่ท้องตลาดได้ ต้องมีการศึกษาปัจจัยต่าง ๆ อย่างละเอียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่มีวัตถุดิบจากสมุนไพรธรรมชาติ ต้องมีงานวิจัยมารองรับ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพ มีความปลอดภัย และได้มาตรฐานสากล
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในการกำหนดทิศทางและจัดสรรงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ เพื่อให้เกิดการสร้างองค์ความรู้และเกิดการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรมในการพัฒนาประเทศ โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน หนึ่งในนั้นคือ อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ซึ่งถือเป็นศูนย์รวมของการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ครบวงจร รวมถึงมีส่วนสนับสนุนให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและ
การนำเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์
น.ส.ทิพวัลย์ เวชชการัณย์ ผู้อํานวยการกลุ่มอุทยานวิทยาศาสตร์ กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.) สํานักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า แรกเริ่มของการก่อตั้งจนถึงปัจจุบันอุทยานวิทยาศาสตร์กระจายตัวไปตามภูมิภาคต่าง ๆ แต่หลายภาคส่วนยังเห็นว่า อุทยานวิทยาศาสตร์เป็นเพียงสถานที่สำหรับพาเด็ก ๆ ไปเที่ยวชมนิทรรศการวิทยาศาสตร์ แต่อันที่จริงแล้วอุทยานวิทยาศาสตร์เป็นสถานที่ที่มีความสำคัญในการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม สามารถยกระดับงานวิจัยให้ใช้ประโยชน์ได้จริง และเชื่อมโยงองค์ความรู้กับทุกภาคส่วน ซึ่งผู้ประกอบการสามารถนำผลงานวิจัยไปใช้ในเชิงธุรกิจหรือลงทุนวิจัยเองได้ และอุทยานวิทยาศาสตร์ทำงานตอบโจทย์สังคม ส่งเสริมให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
“อุทยานวิทยาศาสตร์เป็นสะพานเชื่อมระหว่างสถาบันวิจัยหรือมหาวิทยาลัยกับผู้ประกอบการ เพื่อนำเอาองค์ความรู้ งานวิจัยและทรัพยากรต่างๆ ที่มีอยู่ไปใช้ประโยชน์ในภาคธุรกิจหรือภาคสังคมและชุมชนได้จริง นอกจากนี้ยังช่วยตอบโจทย์ผู้ประกอบการที่มาใช้บริการ ด้วยการให้การช่วยเหลือทั้งด้านการทำธุรกิจและ
การพัฒนานวัตกรรม ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือช่วยเหลือผู้ประกอบการ อุทยานวิทยาศาสตร์ต้องผลักดันผู้ประกอบการให้ประสบความสำเร็จให้ได้” น.ส.ทิพวัลย์ กล่าว
ด้านนายวิสิษฐ กอวรกุล ประธานกรรมการ บริษัท เจดับบลิว เฮอร์เบิล จํากัด กล่าวว่า บริษัทวางแผนผลิตสินค้าจากสมุนไพรธรรมชาติหลายชนิดที่ช่วยแก้โรคเส้นโลหิตตีบตัน แต่ปัญหาคือสินค้าอาจมีสารพิษปนเปื้อนและยังไม่มีงานวิจัยรองรับ ต่อมาบริษัทก็ได้รับการสนับสนุนจากอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ จ.เชียงราย และคณะทีมวิจัย หลังจากใช้เวลา 3 ปี ในการพัฒนาสินค้าด้วยงานวิจัย ผลลัพธ์ที่ได้คือโรงงานของบริษัทได้มาตรฐานสากล สามารถผลิตสินค้าออกมาจำหน่ายได้ และเป็นที่ยอมรับจากหลากหลายองค์กร นอกจากนี้ผู้บริโภคยังสะท้อนกลับมาว่าสินค้ามีคุณภาพและช่วยแก้ไขปัญหาได้จริง สิ่งที่ท้าทายมากที่สุดในขั้นตอนการดำเนินงาน คือ งานวิจัย ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะนำพาสู่ความสำเร็จในธุรกิจ
ขณะที่ รศ. ดร.ชญาดา อาจารย์ประจำคณะสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย และนักพัฒนาธุรกิจผลิตภัณฑ์ บริษัท บัวบก สมุนไพรไทย จํากัด ได้กล่าวเสริมว่า เป้าหมายของการพัฒนางานวิจัยในครั้งนี้คือ ยกระดับสมุนไพรบัวบกจากชุมชนในตลาดเวชสำอาง โดยได้ทำงานร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น ในการขับเคลื่อนธุรกิจตามหลัก BCG Model และเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งวิธีการทำงานจะเน้นบทบาทการเป็นพี่เลี้ยงมากกว่าการอบรมเท่านั้น นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นเปลี่ยนความคิดของเกษตรกรผ่านแนวความคิด “พาดู พาทำ พาขาย” สร้างความยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ จนกระทั่งจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนขึ้นมา เพื่อเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ร่วมกัน สิ่งที่ยากที่สุด คือ ต้องกล้าออกมาจากความคิดเดิม
ให้ได้ก่อน กล้าที่จะยอมรับว่าเรายังมีจุดอ่อน ให้เกียรติคนอื่น ๆ และยอมรับศักยภาพของทุกคนในทีม
เวทีสัมมนาทางวิชาการ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2565 (TSRI Annual Symposium 2022) “ขับเคลื่อนภูมิภาคทั่วไทย ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” จึงเป็นเวทีที่ตอกย้ำว่า วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจและวิสาหกิจภูมิภาค สร้างอาชีพและรายได้ที่สามารถยกระดับฐานะ
ความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่นให้ดียิ่งขึ้น
More Stories
SCB WEALTH ปิดรอบพิเศษละครเวที “ฟ้าจรดทราย เดอะมิวสิคัล”
เคนยากุ จัดประชุมแผนกลยุทธ์ประจำปี 2568
เปิดแล้ว! ครั้งแรกกับ โดรนเทค เอเชีย 2024 งานที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานพาหนะไร้คนขับของอาเซียน กว่า 100 แบรนด์ชั้นนำ และคนในวงการร่วมเปิดมุมมองใหม่ผ่านการเสวนา ประชุม 15 หัวข้อน่าสนใจ และการสาธิตนวัตกรรมที่หลากหลาย