26 พฤศจิกายน 2024

THE MASTER

ย่อโลกข่าวไว้ในมือคุณ

ส.ประกันวินาศภัยไทยจับมือส.ประกันวินาศภัยญี่ปุ่น ถกการฉ้อฉลในธุรกิจ ผ่านออนไลน์

ข่าวประกัน

สมาคมประกันวินาศภัยไทย (TGIA) ร่วมกับ สมาคมประกันวินาศภัยแห่งประเทศญี่ปุ่น (GIAJ) จัดสัมมนาออนไลน์ (Virtual Seminar) ข้ามประเทศขึ้นเป็นครั้งแรก ในหัวข้อ Countermeasures Against Motor Fraudulent Claims Taken by General Insurance Companies in Japan” เพื่อแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับมาตรการการจัดการปัญหาการฉ้อฉลในธุรกิจประกันภัยยานยนต์ในประเทศญี่ปุ่น แก่ผู้ประกอบการไทย รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการจัดสัมมนาออนไลน์ในครั้งนี้เป็นการต่อยอดความร่วมมือระหว่าง TGIA และ GIAJ ที่ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MOU) บูรณาการความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ความเชี่ยวชาญระหว่างกัน เพื่อยกระดับและเสริมความแข็งแกร่งในการทำงานของทั้งสองสมาคมฯ ให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น และร่วมกันส่งเสริมพัฒนาตลาดการประกันวินาศภัย พัฒนาเศรษฐกิจ รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งสองประเทศร่วมกัน

การสัมมนาดังกล่าวได้รับเกียรติจาก นาย Yuji Ito กรรมการผู้จัดการของ GIAJ กล่าวเปิดงาน โดยในช่วงแรกของการสัมมนา GIAJ โดย นาย Hiroto Watanabe รองผู้จัดการ ฝ่าย Claims Management ของบริษัท Tokio Marine & Nichido Fire Insurance Co., Ltd. ได้บรรยายให้ความรู้ในภาพรวมและแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการปัญหาเรื่องการฉ้อฉลในธุรกิจประกันวินาศภัย ทั้งในระดับบริษัทและระดับภาคธุรกิจประกันวินาศภัยของประเทศญี่ปุ่น โดยมีผู้แทนจากบริษัทประกันวินาศภัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมสัมมนารวม 70 คน หลังจากนั้นเป็นการสนทนากลุ่ม (Focus Group Discussion) สำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีผู้แทนจาก GIAJ, TGIA และผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เข้าร่วมประชุมรวม 22 คน เพื่อหารือเชิงลึกเกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการปัญหาเรื่องการฉ้อฉลในธุรกิจประกันวินาศภัย โดยนาย Yuji Ito กรรมการผู้จัดการของ GIAJ ได้แบ่งปันประสบการณ์ รวมถึงกล่าวถึงปัจจัยสู่ความสำเร็จในการบริหารจัดการเรื่องฉ้อฉลในภาคธุรกิจประกันวินาศภัยของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งประกอบด้วย 3 ประเด็นสำคัญ คือ

1. ความมุ่งมั่นตั้งใจจริงของผู้บริหารระดับสูงในการบริหารจัดการปัญหาเรื่องการฉ้อฉลในธุรกิจประวินาศภัยและการสร้างความตระหนักให้กับบุคลากรในองค์กรเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนร่วมกันในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ประสบผลสำเร็จ

2. การเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรในองค์กรให้สามารถประเมินมูลค่าความเสียหาย ค่าสินไหมทดแทนที่เหมาะสมกับวินาศภัยที่เกิดขึ้น การถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ระหว่างกันมากขึ้น จะนำไปสู่การประเมินค่าสินไหมทดแทนได้ดียิ่งขึ้น หรือแม้แต่การพิจารณาในขั้นตอนการรับประกันภัยก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

3. ความร่วมมือจากทั้งภาคธุรกิจ รวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและปราบปรามการฉ้อฉลในธุรกิจประวินาศภัย โดยการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน การขับเคลื่อนแนวทางการดำเนินงานร่วมกัน เพื่อแสดงให้เห็นถึงเครือข่ายในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ นาย Yuji Ito ยังได้กล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของการบริหารจัดการข้อมูลที่เกี่ยวข้องซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยระบุว่า ควรมีการนำระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) มาใช้ในการบริหารจัดการ โดยส่วนที่สำคัญที่สุดคือ “การสร้างฐานข้อมูลร่วมกันของภาคธุรกิจ” ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนของผู้เอาประกันภัย ข้อมูลการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยโดยรวม ซึ่งฐานข้อมูลจำนวนมากเหล่านี้จะทำให้ระบบการวิเคราะห์ข้อมูลมีความแม่นยำและน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น โดย นาย Yuji Ito ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ถึงแม้ว่าการลงทุนในการพัฒนาการบริหารจัดการข้อมูลที่นำระบบ AI มาใช้เช่นนี้จะมีค่าใช้จ่ายในช่วงแรกของการลงทุนและการดำเนินงานของระบบที่ค่อนข้างสูง แต่หากนำมาเปรียบเทียบกับค่าสินไหมทดแทนที่บริษัทจะต้องจ่ายให้กับกลุ่มผู้เอาประกันภัยที่ฉ้อฉลการประกันภัยไปนั้น กล่าวได้ว่า การลงทุนดังกล่าวมีความคุ้มค่าเป็นอย่างยิ่ง ยกตัวอย่างกรณีของประเทศญี่ปุ่นที่มีการนำระบบ AI มาใช้ในระบบตรวจจับการฉ้อฉล (Fraud Detection) ด้วยเงินลงทุนในระยะที่ 1-3 ประมาณ 180 ล้านเยน (ราว 60 ล้านบาท) และมีค่าใช้จ่ายดำเนินงานปีละกว่า 100 ล้านเยน (กว่า 30 ล้านบาท) ในขณะที่ในแต่ละปีประเทศญี่ปุ่นมีมูลค่าความเสียหายอันเกิดจากการฉ้อฉลประกันวินาศภัยกว่า 10 เท่าของค่าใช้จ่ายดำเนินงานของระบบดังกล่าว ดังนั้น จึงถือได้ว่าการนำระบบนี้มาใช้มีความคุ้มค่า

นายกี่เดช อนันต์ศิริประภา ผู้อำนวยการบริหารสมาคมประกันวินาศภัยไทย ให้ข้อมูลว่า สำหรับธุรกิจประกันวินาศภัยไทยนั้น ปัจจุบันทุกภาคส่วนต่างตระหนักถึงความสำคัญในการบริหารจัดการปัญหาเรื่องการฉ้อฉลประกันภัย เนื่องจากการฉ้อฉลประกันภัยนั้นนอกจากจะเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายแล้ว ยังส่งผลต่อต้นทุนในการประกอบธุรกิจสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น โดยบริษัทประกันภัยจะต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้กระทำการฉ้อฉล อีกทั้งจะยังส่งผลกระทบต่อผู้ทำประกันภัยที่มีความสุจริตใจที่ต้องการใช้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงในชีวิตและทรัพย์สินอีกด้วย ทั้งนี้ มูลค่าผลกระทบของการฉ้อฉลประกันภัยของธุรกิจประกันวินาศภัยในประเทศไทยนั้น ผู้เชี่ยวชาญในภาคธุรกิจระบุว่า อาจมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 10 ของมูลค่าการจ่ายค่าสินไหมทดแทนในแต่ละปี โดยมูลค่าของค่าสินไหมทดแทนโดยรวมของธุรกิจประกันวินาศภัยไทยในปี 2562 นั้นเท่ากับ 139,120 ล้านบาท จึงอาจประมาณการได้ว่ามูลค่าการฉ้อฉลในภาคธุรกิจฯ อาจสูงถึง 13,912 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 6 ของมูลค่าเบี้ยประกันภัยรับโดยตรง จึงนับเป็นผลกระทบที่ค่อนข้างสูงซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ควรที่จะมองข้ามไป

ในส่วนของสมาคมประกันวินาศภัยไทยนั้น นายกี่เดช อนันต์ศิริประภา ผู้อำนวยการบริหาร
สมาคมฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการให้ความร่วมมือกับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามมาตรการป้องกันและปราบปรามการฉ้อฉลประกันภัยแล้ว สมาคมประกันวินาศภัยไทยยังได้มีการศึกษาข้อมูล และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวกับหน่วยงานในภูมิภาคและภาคีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ สมาคมประกันวินาศภัยมาเลเซีย (PIAM) สมาคมประกันวินาศภัยสิงคโปร์ (GIA) รวมถึงสมาพันธ์ผู้ประกอบการประกันภัยฮ่องกง (HKFI) เป็นต้น ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ ล้วนนำระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยในการตรวจจับการฉ้อฉล (Fraud Detection) ในธุรกิจประกันภัยของตนเองเฉกเช่นเดียวกับกรณีของประเทศญี่ปุ่น จึงเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญว่านอกจากความมุ่งมั่นในการประกาศสงครามกับการฉ้อฉลอย่างจริงจังแล้ว ภาคธุรกิจประกันวินาศภัยไทยยังต้องนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาช่วยในการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลประกันภัยที่มีอยู่จำนวนมากเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการป้องกันการฉ้อฉลในภาคธุรกิจประกันวินาศภัยไทยต่อไปด้วย

————————————

Skip to content