Business
กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 0.75% เป็น 1.00% ต่อปี โดยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ตามแรงส่งของภาคท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังอยู่ในระดับสูงจากการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แม้แรงกดดันด้านอุปทานจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มคลี่คลาย โดยแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อยังใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ก่อนหน้า คณะกรรมการจึงเห็นว่าการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังเป็นแนวทางการดำเนินนโยบายที่เหมาะสม และในกรณีที่แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้ คณะกรรมการพร้อมจะปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เหมาะสมต่อไป
กนง. ประเมินเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง 3.3% และ 3.8% ในปี 2022 และ 2023 ตามลำดับตามแรงส่งของภาคท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ โดยภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ดีกว่าคาดจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อีกทั้ง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วถึงมากขึ้น ทั้งในมิติสาขาธุรกิจ โดยเฉพาะภาคบริการ และในมิติรายได้ที่เริ่มกระจายตัวดีขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจโลกชะลอลงกว่าคาด ซึ่งจะส่งผลต่อภาคการส่งออกแต่ไม่กระทบต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในภาพรวม
กนง. คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2022 และ 2023 จะอยู่ที่ 6.3% และ 2.6% ตามลำดับ
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับลดลงตามราคาน้ำมันโลกและปัญหาห่วงโซ่อุปทานทยอยคลี่คลาย ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2022 และ 2023 คาดว่าจะอยู่ที่ 2.6% และ 2.4% ตามลำดับ โดยสูงขึ้นจากการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ด้านค่าจ้างแรงงานปรับเพิ่มขึ้นในบางภาคธุรกิจและบางพื้นที่ที่ขาดแคลนแรงงาน แต่ยังไม่เห็นสัญญาณการปรับเพิ่มขึ้นในวงกว้าง นอกจากนี้ แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังมีจำกัดเนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังอยู่ระหว่างการฟื้นตัว ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย โดยจะต้องติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการส่งผ่านต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้น หากผู้ประกอบการเผชิญกับแรงกดดันด้านต้นทุนหลายด้านพร้อมกัน
กนง. ประเมินว่า ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพและภาวะการเงินยังผ่อนคลาย
แม้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทยอยปรับสูงขึ้น แต่ต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนโดยรวมยังเอื้อต่อการระดมทุน ขณะที่ค่าเงินบาทปรับอ่อนค่าเร็วและต่อเนื่องสอดคล้องกับสกุลเงินในภูมิภาคตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ โดยการอ่อนค่าของเงินบาทไม่ส่งผลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ นอกจากนี้ ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ยังมีผู้ประกอบการ SMEs ในบางสาขาธุรกิจที่ฟื้นตัวช้าและครัวเรือนรายได้น้อยบางกลุ่มที่ยังอ่อนไหวต่อค่าครองชีพ ส่งผลให้คณะกรรมการเห็นว่าควรดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเห็นความสำคัญของการมีมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง
IMPLICATIONS
EIC คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะอยู่ที่ 1.25% ณ สิ้นปี 2022 และ 2% ณ สิ้นปี 2023 คาดว่า กนง. มีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้กระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อในระยะต่อไป แม้จะมีแนวโน้มผ่อนคลายลงบ้างตามปัจจัยด้านอุปทาน เช่น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่จะลดลงตามอุปสงค์โลกที่ชะลอลง ช่วยให้เงินเฟ้อทยอยปรับลดลงอย่างช้า ๆ แต่จะยังสูงกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในปีหน้า เนื่องจากราคาพลังงานในประเทศและราคาอาหารที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงการส่งผ่านต้นทุนของผู้ผลิตไปยังราคาสินค้ากลุ่มอื่นที่จะมีมากขึ้น โดย EIC คาดว่า กนง. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ในการประชุมเดือนพฤศจิกายน 2022 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 1.25% สำหรับในปี 2023 EIC คาดว่า กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องอีก 3 ครั้ง ครั้งละ 0.25% และทรงตัวที่ระดับ 2% ณ สิ้นปีการทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไปจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งคาดว่าจะกลับไปสู่ระดับก่อนเกิด COVID-19 ได้ในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2023 (รูปที่ 1) อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยจะยังอยู่ต่ำกว่าระดับศักยภาพไปอีก 1-2 ปี จากแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่ลึกและหนี้ที่สูงขึ้น
EIC มองว่า กนง. ไม่จำเป็นต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเหมือนประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว เนื่องจากวัฏจักรเศรษฐกิจไทยเพิ่งเริ่มฟื้นตัว แรงกดดันด้านอุปสงค์ต่อเงินเฟ้อยังไม่มากเท่ากลุ่มประเทศที่เศรษฐกิจฟื้นตัวก่อนหน้าแล้ว นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีรอยแผลเป็นจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ลึกกว่ากระทบหนี้ครัวเรือนไทยและรายได้ของภาคธุรกิจกลุ่มเปราะบาง เช่น ภาคบริการ และภาคอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ที่ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้า ด้วยเหตุนี้ แนวทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไปจะช่วยให้ครัวเรือนและธุรกิจกลุ่มเปราะบางสามารถปรับตัวได้ และลดความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ในระยะต่อไปที่มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในช่วง COVID-19 (เช่น การผ่อนเกณฑ์การจัดชั้นหนี้เสีย) จะสิ้นสุดลง
นอกจากนี้ EIC มองว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในขนาดที่มาก แม้จะช่วยลดแรงกดดันต่อการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้างในระยะสั้น แต่จะไม่สามารถทำให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าสวนทิศทางเงินดอลลาร์สหรัฐได้ นอกจากนี้เงินบาทที่อ่อนค่าลงมากยังไม่ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินไทยอย่างมีนัย โดยเสถียรภาพตลาดการเงินไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี (อาทิ เงินทุนเคลื่อนย้ายไม่ได้ไหลออกมาก ดัชนีตลาดหุ้นไทยไม่ได้ปรับลดลงมาก) การส่งผ่านผลกระทบค่าเงินบาทอ่อนสู่เงินเฟ้อไทยก็ยังมีจำกัด ดังนั้น การขึ้นดอกเบี้ยแรงเพื่อช่วยลดแรงกดดันการอ่อนค่าของเงินบาทจะไม่คุ้มกับความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ค่าเงินบาทเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่าอย่างมากในเดือนนี้ โดย EIC คาดว่า ในระยะ 1-2 เดือนข้างหน้า เงินบาทจะยังผันผวนในกรอบ 37.5-38.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้การอ่อนค่าของเงินบาทสอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาค ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นถึง 5% ในเดือนกันยายน เนื่องจาก
ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องตลอดปีนี้และปีหน้าโดยจากคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Medain dot plot) ของคณะกรรมการ FOMC ล่าสุดที่สะท้อนว่า Fed funds rate จะอยู่ที่ 4.4% ณ สิ้นปี 2022 และ 4.6% ณ สิ้นปี 2023 ตามลำดับ โดย Fed ได้สื่อสารชัดเจนถึงความมุ่งมั่นที่จะดูแลให้เงินเฟ้อกลับสู่กรอบเป้าหมายที่ 2% แม้จะส่งผลให้เศรษฐกิจและตลาดแรงงานชะลอตัวมากขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนปรับเพิ่มคาดการณ์ Terminal rate สู่ 4.6% (จากระดับก่อนประชุม FOMC ที่ 4.3%) ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทั้งระยะสั้นและระยะยาวของสหรัฐฯ ปรับสูงขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบกว่าสิบปี ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับแข็งค่าขึ้นสู่ 114 (จากก่อนประชุม FOMC ที่ 110) EIC คาดว่า Fed มีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 75 bps ในเดือนพฤศจิกายน และ 50 bps ในเดือนธันวาคม ส่งผลให้ Fed funds rate ณ สิ้นปีนี้อยู่ที่ 4.25-4.5% เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ยังสูงกว่ากรอบเป้าหมายของ Fed ที่ 2% อยู่มาก โดยเฉพาะเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังเร่งตัวต่อเนื่องและกระจายไปในหลายหมวดสินค้าและบริการ ประกอบกับตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง สำหรับปี 2023 EIC คาดว่า Fed funds rate จะขึ้นไปสู่ระดับสูงสุด (Terminal rate) ที่ upper bound 4.75% ในไตรมาส 1 และ Fed มีแนวโน้มคงดอกเบี้ยระดับนี้ตลอดปี
- เศรษฐกิจโลกเผชิญความเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยเพิ่มขึ้น (Global recession risk) ส่งผลให้ความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ดอลลาร์สหรัฐมีมากขึ้น
- ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงนโยบายการเงินผ่อนคลายต่อเนื่อง และส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะยังไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า ส่งผลให้เงินเยนปรับอ่อนค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐ
- ความกังวลต่อนโยบายการคลังของสหราชอาณาจักร ที่ประกาศ Tax cut plan เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอาจส่งผลให้เงินเฟ้อเร่งตัว และทำให้ Bank of England จำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินตึงตัวขึ้นอีก นอกจากนี้ ยังจะส่งผลต่อความยั่งยืนทางการคลังในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยปรับสูงขึ้นเร็ว ส่งผลให้ค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิงเทียบดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
- เศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มอ่อนแอต่อเนื่อง จากราคาก๊าซธรรมชาติที่สูงขึ้น ปัญหาหนี้สูง รวมถึงการเมืองในอิตาลี ซึ่งกดดันให้ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของเยอรมนีและอิตาลีเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดความกังวลต่อปัญหา Fragmentation ในภูมิภาค กดดันให้เงินยูโรเทียบดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง
อย่างไรก็ดี EIC คาดว่า เงินบาทมีแนวโน้มปรับแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 36-37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงปลายปีนี้ และจะแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องสู่ 34-35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2023 จากปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยที่แนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ดังนี้ - เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก จากแรงส่งของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน ประกอบกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่จะปรับเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มกลับมาเกินดุลได้ในช่วงปลายปีนี้ ตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์และต้นทุนค่าขนส่งที่เริ่มลดลง รวมถึงการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติและการท่องเที่ยวไทย
เงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มไหลกลับเข้าตลาดการเงินไทย ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดย Valuation ของหุ้นไทยยังน่าดึงดูด และนักลงทุนต่างชาติยังถือครองหุ้นไทยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต (ปัจจุบัน 22%
ต่ำกว่าช่วงสิบปีที่ผ่านมาที่ 30%)
บทวิเคราะห์จากเว็บไซต์ EIC …https://www.scbeic.com/th/detail/product/policy-rate-280922
ท่านผู้นำเสนอบทวิเคราะห์
วชิรวัฒน์ บานชื่น, นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส, Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
ณิชนันท์ โลกวิทูล, นักวิเคราะห์, Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
EIC Online: www.scbeic.com
Line : @scbeic
More Stories
แม่โขง ดันซอฟต์พาวเวอร์ค็อกเทลไทยสู่สากล ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 กับงาน Mekhong The Spirit Competition 2024
แม่โขง ดันซอฟต์พาวเวอร์ค็อกเทลไทยสู่สากล ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 กับงาน Mekhong The Spirit Competition 2024
เคอีเอ็กซ์ ยกระดับบริการเรียกรถเข้ารับพัสดุถึงบ้าน สร้างความสะดวกแบบใหม่