ชูจุดเด่นช่วยลดต้นทุนขนส่ง เล็งขยายบริการเพิ่ม รองรับแผนพัฒนาธุรกิจสู่อาเซียน
นอสตร้า โลจิสติกส์ ผู้พัฒนาโซลูชันและแพลตฟอร์มด้านการบริหารจัดการงานขนส่งและโลจิสติกส์ และระบบบริหารจัดการขนส่งอัตโนมัติ หรือ NOSTRA LOGISTICS TMS เผยผู้ประกอบการธุรกิจขนส่งโลจิสติกส์และซัพพลายเชนวางใจเลือกใช้ NOSTRA LOGISTICS TMS เพิ่มขึ้นกว่า 150% เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่ผ่านมา หลังพบ 3 เพนพ้อยท์ในเรื่องกระบวนการทำงานภายในของลูกค้ากลุ่มขนส่งโลจิสติกส์และซัพพลายเชนที่ใช้ระบบต่างกันไม่เชื่อมโยงกัน ไม่สามารถเชื่อมโยงระบบจากบริษัทคู่ค้าต่างบริษัท และต้นทุนการขนส่งที่เป็นต้นทุนหลักยังไม่มีระบบช่วยบริหารจัดการ ย้ำ NOSTRA LOGISTICS TMS สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการรถขนส่งสินค้า และลดต้นทุนค่าใช้จ่ายได้ถึง 15% เล็งขยายการบริการไปยังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียนและภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก เพื่อการบริหารจัดการงานขนส่งให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาธุรกิจสู่ภูมิภาคอาเซียน ตั้งเป้าขยายฐานลูกค้าเพิ่ม 100% ภายใน 2 ปี
นางวรินทร สีสุขดี ผู้อำนวยการส่วนผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ บริษัท จีไอเอส จำกัด เปิดเผยว่า กว่า 10 ปีของการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาพัฒนาใช้ในการบริหารจัดการโลจิสติกส์ในรูปแบบ e-Logistics ในประเทศไทย เพื่อการบริหารจัดการงานให้มีประสิทธิภาพ สะดวก ประหยัดค่าใช้จ่าย ตลอดจนลดความผิดพลาดจากการทำงานด้วยคน แต่ปัจจุบันยังพบปัญหาซึ่งเป็นเพนพ้อยท์สำคัญจากความต้องการเกี่ยวกับระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารงานขนส่งและโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นโอกาสและความท้าทายในการแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้ประกอบการด้วยการพัฒนา NOSTRA LOGISTICS แพลตฟอร์มสำหรับการบริหารงานขนส่งและโลจิสติกส์แบบครบวงจร ที่ให้บริการระบบต่าง ๆ รองรับการทำงานขนส่งจบในที่เดียว โดย NOSTRA LOGISTICS จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลงานขนส่ง และเชื่อมโยงการทำงานทุกระบบเข้าด้วยกัน
“จากประสบการณ์ในการพัฒนาโซลูชันและแพลตฟอร์มด้านการบริหารจัดการงานขนส่งและโลจิสติกส์ พบ 3 เพนพ้อยท์หลักของผู้ประกอบการธุรกิจขนส่งโลจิสติกส์และซัพพลายเชน คือ 1.กระบวนการทำงานภายในบริษัทที่ใช้ระบบต่างกันไม่เชื่อมโยงกัน ไม่สามารถทำงานเชื่อมต่อร่วมกันได้ ข้อมูลไม่เชื่อมโยง หรือได้ข้อมูลไม่ตรงกันในแต่ละระบบ ไม่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลตลอดทุกกิจกรรมได้ 2.ไม่สามารถเชื่อมโยงระบบจากบริษัทคู่ค้าต่างบริษัท เพื่อลดต้นทุนการดำเนินงาน ผู้ประกอบการนิยมการเอาท์ซอร์สด้านโลจิสติกส์ และต้องการข้อมูลภาพรวมงานขนส่งทั้งหมด แต่เอาท์ซอร์สใช้ระบบสารสนเทศต่างกัน ทำให้ผู้ประกอบการเข้าถึงข้อมูลไม่สะดวก ต้องอาศัยการว่าจ้างผู้ชำนาญการที่มีประสบการณ์มาดูแลแต่ละระบบ และ 3.ต้นทุนการขนส่งที่เป็นต้นทุนหลักยังไม่มีระบบช่วยบริหารจัดการ ซึ่งเป็นต้นทุนที่มีสัดส่วนสูงที่สุดโดยเฉพาะต้นทุนค่าขนส่งที่มีเงื่อนไขต่าง ๆ มาเกี่ยวข้อง เมื่อต้องวางแผนจัดสรรการใช้รถเพื่อต้นทุนและบริการที่ดีที่สุด ทั้งนี้ การใช้วิธีคิดต้นทุนตามความชำนาญของบุคคลอาจเกิดข้อผิดพลาดที่เป็น Human error ได้ง่าย และการพึ่งพาคนในการทำงาน ทำให้ไม่สะดวกและไม่ยั่งยืนในระยะยาว” นางวรินทร อธิบาย
นางวรินทร กล่าวเสริมว่า จากการศึกษาความต้องการในการบริหารจัดการต้นทุนการขนส่งในระยะเวลาที่ผ่านมา พบต้นทุนการขนส่ง 2 ประเภทใหญ่ คือ ต้นทุนคงที่ (Fixed cost) เป็นต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงตามปริมาณการขนส่ง เช่น ค่าเช่าที่จอดรถ ค่าทะเบียนยานพาหนะ ค่าเสื่อมราคา เงินเดือนประจำ เป็นต้น และ ต้นทุนผันแปร (Variable cost) เป็นต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายเปลี่ยนแปลงตามปริมาณการบริการขนส่ง เช่น ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าซ่อมแซมบำรุงรักษารถ เป็นต้นทุนที่สูงกว่าร้อยละ 50 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ควบคุมยากและมีรายละเอียดเงื่อนไขมากมาย เช่น อัตราการใช้น้ำมัน ขึ้นอยู่กับการวิ่งระยะใกล้ไกล ช่วงความเร็วในการวิ่งรถ พฤติกรรมการขับรถ และสภาพปัจจัยภายนอก ฯลฯ ธุรกิจขนส่งจำเป็นต้องบริหารและวางแผนในส่วนนี้เพื่อลดต้นทุนให้ได้มากที่สุดและเพิ่มกำไรในการวิ่งรถในแต่ละเที่ยว แต่การวางแผนต้นทุนขนส่งเป็นงานที่ต้องใช้เวลาและความชำนาญ ด้วยเหตุนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจจึงต้องการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อความรวดเร็วและทันต่อการทำงานในการแข่งขันในปัจจุบัน
จากเพนพ้อยท์ดังกล่าว เป็นที่มาของการพัฒนาระบบ NOSTRA LOGISTICS TMS เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการรถขนส่งสินค้า ให้ผู้ประกอบการได้รับข้อมูลสำหรับการตัดสินใจที่ดีที่สุด และสามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายได้ถึง 15% เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันแก่ธุรกิจ โดยมีจุดเด่น 3 ประการคือ 1. ฟังก์ชันครอบคลุมทุกกระบวนการจัดส่ง ตั้งแต่การจัดการใบส่งสินค้า การเลือกเส้นทางที่ประหยัดที่สุด การใช้รถอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดตารางเดินรถ การจัดสินค้าขึ้นรถแต่ละคัน การจัดการด้านบัญชีและการเงิน และการจัดการด้านการซ่อมบำรุง ตลอดจนการเชื่อมต่อกับระบบติดตามยานพาหนะ NOSTRA LOGISTICS Tracking หรือ ระบบ NOSTRA LOGISTICS Telematics, MDVR และ All in One เพื่อตรวจสอบและป้องกันความปลอดภัยในการขับขี่พร้อมตรวจสอบพฤติกรรมการขับขี่ของพนักงานขับรถ 2. สามารถทำงานบนสมาร์ทโฟนด้วย NOSTRA LOGISTICS Mobile Application ที่มีโมดูลสนับสนุนการทำงานในกิจกรรมการขนส่งต่าง ๆ ผ่านโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ได้แก่ Electronic Proof of Delivery (ePOD) ระบบติดตามงานขนส่ง, Cash Van & COD ระบบจัดการการขายบนหน่วยรถเคลื่อนที่, Maintenance Management System (MMS) ระบบจัดการงานซ่อมบำรุง และ My Queues (Smart Gate) ระบบจัดการคิวงานในพื้นที่รับ-ส่งสินค้า และ 3. มี NOSTRA LOGISTICS Connector สำหรับการเชื่อมต่อข้อมูลจากระบบติดตามการขนส่งจากบริษัทรับจ้างขนส่งอื่น ๆ เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ประมวลผลที่ NOSTRA LOGISTICS แพลตฟอร์มเดียวได้สะดวก รวดเร็ว พร้อมแดชบอร์ดที่เข้าใจง่าย
NOSTRA LOGISTICS นับเป็นแพลตฟอร์มซอฟต์แวร์ที่ใช้เทคโนโลยีตามมาตรฐานอุตสาหกรรมสากล จึงสามารถใช้งานได้ทั่วโลก โดยล่าสุด บริษัทฯ ได้เตรียมพัฒนาระบบให้รองรับการขยายการบริการไปยังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียนและภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลก เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนส่งโลจิสติกส์และซัพพลายเชนสามารถใช้ระบบเพื่อบริหารจัดการงานขนส่งให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาธุรกิจสู่ภูมิภาคอาเซียน ตั้งเป้าขยายฐานลูกค้าเพิ่ม 100% ภายใน 2 ปี ย้ำหัวใจหลักของการบริหารจัดการธุรกิจขนส่งโลจิสติกส์และซัพพลายเชนคือ “การบริหารต้นทุนให้ต่ำ ควบคู่กับการทำงานที่รวดเร็ว และมีข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจอย่างแม่นยำ” นางวรินทร์ กล่าวทิ้งท้าย
ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจขนส่งที่สนใจ สามารถติดต่อฝ่ายขายของบริษัทหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคโนโลยีเพื่อโลจิสติกส์ ได้ที่ www.nostralogistics.com หรือ โทร. 02-116-4478
More Stories
แม่โขง ดันซอฟต์พาวเวอร์ค็อกเทลไทยสู่สากล ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 กับงาน Mekhong The Spirit Competition 2024
แม่โขง ดันซอฟต์พาวเวอร์ค็อกเทลไทยสู่สากล ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 กับงาน Mekhong The Spirit Competition 2024
เคอีเอ็กซ์ ยกระดับบริการเรียกรถเข้ารับพัสดุถึงบ้าน สร้างความสะดวกแบบใหม่