26 พฤศจิกายน 2024

THE MASTER

ย่อโลกข่าวไว้ในมือคุณ

เครือสหพัฒน์จัดกระบวนทัพใหม่เปิดโอกาสให้ร่วมลงทุนใน ‘กองรีท HYDROGEN’

หลังกลต. นับหนึ่งแบบคำขอ โดยเปิดโอกาสการลงทุนใน คลังสินค้า โรงงานในสวนอุตสาหกรรม และศูนย์กระจายสินค้า โชว์อัตราเช่าพื้นที่ Q2/65 สูง 99 %

Business

“กองรีท HYDROGEN” ที่ บมจ.สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง (SPI) เครือสหพัฒน์ จัดตั้งขึ้นในโอกาสครบรอบ 50 ปี ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ผูกพัน แบ่งปัน มั่นคง” เดินหน้าเตรียมเสนอขายหน่วยทรัสต์ เพื่อเข้าลงทุนในคลังสินค้าและโรงงานในโครงการสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ ศรีราชา กบินทร์บุรี แม่สอด และโครงการไทเกอร์ สุวรรณภูมิ ดีซี ลาดกระบัง รวม 4 โครงการ มูลค่ารวมไม่เกิน 2,845.34 ล้านบาท เพื่อเปิดให้ร่วมลงทุนในทรัพย์สินคุณภาพของบริษัทฯ และบริษัทในเครือ ชูจุดเด่นทรัพย์สินอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ภาคอุตสาหกรรมและได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจฟื้นตัว มีอัตราเช่าพื้นที่ ณ ไตรมาส 2/2565 สูงถึง 99%   

          นายวิชัย กุลสมภพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าไฮโดรเจน หรือ Hydrogen Freehold and Leasehold Real Estate Investment Trust (HYDROGEN) ที่บริษัทฯ จัดตั้งขึ้นในโอกาสครบรอบ 50 ปี ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ผูกพัน แบ่งปัน มั่นคง” เพื่อแบ่งปันโอกาสการลงทุนในทรัพย์สินที่มีศักยภาพเพื่อรับผลตอบแทนที่ดีและมั่นคงในระยะยาว  เตรียมเข้าลงทุนในทรัพย์สิน 4 โครงการของเครือสหพัฒน์ ได้แก่ กรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคารคลังสินค้า โครงการไทเกอร์ สุวรรณภูมิ ดีซี ลาดกระบัง และสิทธิการเช่าระยะเวลา 30 ปี ในที่ดิน คลังสินค้าและโรงงาน ในโครงการสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ศรีราชา  กบินทร์บุรี และแม่สอด

          ทั้งนี้ บริษัทฯ มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจพัฒนาโครงการสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์มาเป็นเวลากว่า 47 ปี จึงมีความมั่นใจในศักยภาพการบริหารทรัพย์สินทั้ง 4 โครงการ ให้มีผลการดำเนินงานที่ดีอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้กลุ่มธุรกิจภาคอุตสาหกรรมยังได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ นโยบายการพัฒนาโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และความต้องการเช่าพื้นที่อาคารคลังสินค้าและโรงงานจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ

ขณะที่ทรัพย์สินทั้ง 4 โครงการมีจุดเด่นหลากหลาย ได้แก่ 1) ทำเลที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ของภาคอุตสาหกรรมและมีพื้นที่บางส่วนอยู่ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจของภาครัฐ สามารถเชื่อมต่อการขนส่งทางเรือ และทางอากาศ เหมาะกับการเป็นฐานการผลิตและศูนย์กระจายสินค้า 2) อาคารคลังสินค้าและโรงงานมีมาตรฐานการออกแบบและก่อสร้างที่เหมาะกับความต้องการของผู้เช่า มีระบบสาธารณูปโภครองรับครบครัน รวมถึงนำพลังงานทดแทน เช่น ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า เป็นต้น มาใช้ภายในโครงการสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ โดยในปี 2564 โครงการสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ ศรีราชา และกบินทร์บุรี ได้รับรางวัล “เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ” (Eco Industrial Town) หรือ เมืองน่าอยู่คู่อุตสาหกรรม จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งผ่านเกณฑ์ระดับที่ 5 Happiness (ระดับสูงสุด) ถือเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของบริษัทฯ 3) มีผู้เช่าที่กระจายตัวอยู่ในหลากหลายอุตสาหกรรม โดยส่วนใหญ่เป็นคู่ค้าหรือบริษัทในเครือสหพัฒน์ที่เช่าพื้นที่ภายในโครงการมาอย่างต่อเนื่องโดยเฉลี่ยกว่า 10 ปี  4) บริษัทฯ มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการบริหารโครงการสวนอุตสาหกรรมมากว่า 47 ปี การที่ บริษัทฯ เข้ามาเป็นผู้บริหารอสังหาริมทรัพย์ของกองทรัสต์ฯ จึงช่วยเรื่องความต่อเนื่องในการบริหารโครงการต่างๆ รวมทั้งมาเสริมความสามารถในการจัดหาผู้เช่าที่มีคุณภาพเข้ามาในโครงการจากเครือข่ายและความสัมพันธ์ที่เครือสหพัฒน์มีกับคู่ค้าและพันธมิตรต่างๆ มาอย่างยาวนานทั้งในและต่างประเทศ

          นายปิยะพงศ์ พินธุประภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไฮโดรเจน รีท แมเนจเม้นท์ จำกัด ในฐานะผู้จัดการ กองรีท HYDROGEN กล่าวว่า กองรีท HYDROGEN ได้รับปัจจัยเกื้อหนุนจากธุรกิจที่ครบวงจรของกลุ่มสหพัฒน์ กล่าวคือ ตัวทรัพย์สินบางส่วนตั้งอยู่สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ที่มีสาธารณูปโภคครบวงจร ผู้เช่าส่วนใหญ่เป็นคู่ค้า และ/หรือ บริษัทในเครือสหพัฒน์ที่ดำเนินธุรกิจเติบโตคู่กับคนไทยมายาวนาน  ตัวอย่างเช่น บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำ และ บริษัท ไทเกอร์ ดิสตริบิวชั่น แอนด์ โลจิสติกส์ บริษัทโลจิสติกส์ ที่สนับสนุนการขนส่งสินค้าของกลุ่มสหพัฒน์ เป็นต้น

โดยทรัพย์สินที่กองรีท HYDROGEN จะเข้าลงทุน ได้แก่ โครงการไทเกอร์ สุวรรณภูมิ ดีซี ลาดกระบัง และโครงการสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์อีก 3 โครงการ รวมพื้นที่ให้เช่าอาคารที่จะเข้าลงทุนประมาณ 118,931 ตารางเมตร ถือเป็นทรัพย์สินคุณภาพที่มีผู้เช่าอย่างต่อเนื่อง โดยผลการดำเนินงานล่าสุดในไตรมาส 2/2565 โครงการไทเกอร์ สุวรรณภูมิ ดีซี ลาดกระบัง มีอัตราการเช่าพื้นที่ประมาณ 99% และทรัพย์สินที่กอง HYDROGEN จะเข้าลงทุนในโครงการสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ ศรีราชา กบินทร์บุรี และแม่สอด มีอัตราการเช่าพื้นที่เต็ม 100% ในขณะที่ผู้เช่ามีการกระจายตัวจากหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น โลจิสติกส์ อีคอมเมิร์ซ ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น ทั้งที่เป็นผู้ประกอบการชั้นนำในประเทศ รวมถึงบริษัทต่างชาติ เช่น ญี่ปุ่น อาร์เจนติน่า จีน เกาหลี เป็นต้น โดยผู้เช่าส่วนใหญ่เป็นคู่ค้า และ/หรือ บริษัทในเครือสหพัฒน์ที่ดำเนินธุรกิจเติบโตคู่กับคนไทยมายาวนาน  

ด้วยจุดเด่นและศักยภาพของทรัพย์สินที่กองรีท HYDROGEN จะเข้าลงทุนครั้งแรก คาดว่าจะสามารถส่งเสริมให้อัตราการเช่าพื้นที่ในโครงการมีความแข็งแกร่ง และสร้างผลตอบแทนที่มั่นคงและเติบโตอย่างต่อเนื่อง        

          นายสาวิตร ศรีศรันยพงศ์ ผู้บริหารกลุ่มธุรกิจวาณิชธนกิจ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า กองรีท HYDROGEN ถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสการลงทุนที่นักลงทุนจะได้มีส่วนร่วมในการลงทุนในทรัพย์สินทางด้านอุตสาหกรรมของกลุ่มสหพัฒน์ หนึ่งในผู้ประกอบการอุปโภคและบริโภคที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย โดยเป็นโอกาสการลงทุนที่จะเติบโตไปพร้อมกับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมและการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ ด้วยจุดเด่นของทรัพย์สินที่จะเข้าลงทุนครั้งแรก ได้แก่ โครงการไทเกอร์ สุวรรณภูมิ ดีซี ลาดกระบัง  และโครงการสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ ศรีราชา กบินทร์บุรี และแม่สอด ซึ่งตั้งอยู่ในทำเลที่ดี เชื่อมต่อการคมนาคมขนส่งหลากหลายรูปแบบ เหมาะแก่การตั้งโรงงานและคลังสินค้า รวมถึงได้รับประโยชน์จากทำเลที่ตั้งของประเทศไทยที่มีความได้เปรียบในเชิงยุทธศาสตร์ของภาคอุตสาหกรรม

ด้วยศักยภาพของทรัพย์สินและความแข็งแกร่งของเครือสหพัฒน์ กองรีท HYDROGEN จึงเป็นการลงทุนที่สร้างผลตอบแทนสม่ำเสมอให้กับนักลงทุน สำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในทรัพย์สินที่สร้างกระแสเงินสดสม่ำเสมอและมั่นคงจากเงินปันผล โดยมีประมาณการอัตราการจ่ายประโยชน์ตอบแทนในปีแรก อยู่ที่ระหว่าง 7.0-7.4% โดยอ้างอิงช่วงเวลาประมาณการระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ภายใต้สมมติฐานมูลค่าการเข้าลงทุนของกองทรัสต์ระหว่าง 2,745.34 ล้านบาท – 2,845.34 ล้านบาท      

ทั้งนี้ กองรีท HYDROGEN จะเข้าลงทุนครั้งแรก มูลค่ารวมไม่เกิน 2,845.34 ล้านบาท โดยมาจากการเสนอขายหน่วยทรัสต์ไม่เกิน 2,077.20 ล้านบาท และส่วนที่เหลือจากมาจากการกู้ยืมสถาบันการเงิน ล่าสุดสำนักงาน ก.ล.ต. ได้นับหนึ่งแบบคำขออนุญาตเสนอขายหน่วยทรัสต์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหน่วยทรัสต์ (Filing) แล้ว โดยหลังจากนี้หากได้รับการอนุมัติแบบคำขอฯ จากสำนักงาน ก.ล.ต.และแบบไฟลิ่งมีผลใช้บังคับแล้ว จะกำหนดวันที่เสนอขายหน่วยทรัสต์ และคาดว่าจะนำกองรีทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ในช่วงปลายปีนี้

Skip to content