19 พฤศจิกายน 2024

THE MASTER

ย่อโลกข่าวไว้ในมือคุณ

คปภ. เดินหน้าเต็มพิกัดเร่งเสริมเขี้ยวเล็บให้ระบบประกันภัยสุขภาพเอกชนพร้อมเร่งแก้ pain points เพื่อประโยชน์ของคนไทย

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดงานและปาฐกถาพิเศษในการประชุมวิชาการประจำปี เวชศาสตร์ประกันชีวิตไทย Annual Thailand Insurance Medical Academic Conference 2023 (TIMAC 2023) เรื่อง “การส่งเสริมระบบประกันสุขภาพเอกชนของไทย” เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2566 ณ ห้องสุขุมวิท 1&2 โรงแรมเจดับบลิว แมริออท กรุงเทพฯ

 

ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การส่งเสริมระบบประกันสุขภาพเอกชนของไทย” มีใจความตอนหนึ่งว่า จากข้อมูลสถิติเบี้ยประกันภัยสุขภาพตั้งแต่ปี 2560 ถึง 2565 พบว่า ทั้งธุรกิจประกันชีวิต และธุรกิจประกันวินาศภัยมีอัตราการเติบโตเพิ่มสูงขึ้นเกินร้อยละ 10 ในทุกปีและเมื่อเปรียบเทียบข้อมูลสถิติไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 และไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 พบว่า ธุรกิจประกันชีวิตมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่วนประกันวินาศภัยเติบโตแบบชะลอตัวลง อันเนื่องมาจากได้รับผลกระทบจากการรับประกันภัยโควิด-19 อย่างไรก็ตาม โดยรวมแล้วธุรกิจประกันภัยยังมีการเติบโต ซึ่งสวนทางกับสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจโลก ที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากเกิดกระแสการใส่ใจสุขภาพของคนรุ่นใหม่ รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุ ประกอบกับปัจจัยการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ผู้คนเกิดการตื่นตัว เฝ้าระวังและป้องกัน รวมทั้งแสวงหาระบบประกันภัยสุขภาพเพื่อใช้เป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยง ในเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลหากต้องเจ็บป่วยในอนาคต

ทั้งนี้ จากการติดตามการทำประกันภัยสุขภาพ สำหรับภาคประชาชน ในปัจจุบันพบสภาพปัญหาและอุปสรรค (Pain Points) เช่น เบี้ยประกันภัยสุขภาพมีอัตราสูง บริษัทประกันภัยไม่รับต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัย ประชาชนกลุ่มอาวุโสไม่สามารถเข้าถึงระบบการประกันภัยสุขภาพ ปัญหาความมั่นคงทางการเงินของบริษัทประกันภัยสุขภาพในการรับประกันภัยสุขภาพในระยะยาว เป็นต้น ส่วนของภาคธุรกิจประกันภัย พบว่ามีความต้องการที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้มีความหลากหลายรองรับวิทยาการทางการแพทย์และตอบโจทย์ของผู้เอาประกันภัยและตลอดจนความกังวลต่อความเสี่ยงโรคอุบัติใหม่ต่าง ๆ

ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งขับเคลื่อนแนวทางสำหรับระบบประกันภัยสุขภาพตามแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2564 – 2568) ในยุทธศาสตร์ที่ 3 เพื่อยกระดับการบริหารจัดการด้านสุขภาพ และส่งเสริมให้ธุรกิจประกันภัยสุขภาพมีผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ตอบสนองความต้องการและรองรับลักษณะการใช้ชีวิตของประชาชนในปัจจุบัน และมุ่งหมายให้ประชาชนที่สมัครใจเข้าสู่ระบบการประกันภัยสุขภาพภาคสมัครใจ (Private Health Insurance) สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากการประกันภัยสุขภาพมากขึ้นในราคาที่เหมาะสม และยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับการประกันภัยสุขภาพอย่างครอบคลุมและยั่งยืน โดยเฉพาะการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนกลุ่มผู้สูงอายุเพื่อรองรับสังคมสูงวัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้านสุขภาพ รวมทั้งการรองรับการดูแลรักษาสุขภาพระยะยาวเพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยอย่างยั่งยืน  ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จึงให้ความสำคัญในการยกระดับการบริหารจัดการด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่องและเร่งด่วนเพื่อผลักดันให้มีการพัฒนากฎหมายด้านการประกันภัยสุขภาพ ซึ่งเป็นการดำเนินการในระยะยาวและสร้างมาตรฐานกระบวนการบริหารความเสี่ยงเกี่ยวกับการออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยของบริษัทประกันภัย ซึ่งเป็นมาตรการรองรับทางกฎหมายระยะสั้น

ในส่วนของมาตรการระยะสั้น จะเป็นการยกระดับการบริหารจัดการด้านประกันภัยสุขภาพ และช่วยบริหารความเสี่ยงเกี่ยวกับการออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยสุขภาพ โดยได้ดำเนินการส่งเสริมระบบประกันภัยสุขภาพเอกชนของไทยใน 5 เรื่องหลัก ๆ คือ เรื่องที่ 1 กำหนดกรอบแนวทางการทำงานของคณะกรรมการผลิตภัณฑ์ (Product Governance Committee) ของบริษัทประกันภัยให้มีความชัดเจน เช่น การกำหนดกระบวนการบริหารความเสี่ยงเกี่ยวกับการออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยของบริษัทประกันภัย การกำหนดคุณสมบัติของคณะกรรมการบริษัท โดยกำหนดให้ต้องมีความรู้และความเข้าใจในธุรกิจประกันภัย และผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่จะเสนอขาย การกำหนดให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพื่อกลั่นกรองแบบและข้อความของกรมธรรม์ประกันภัยและอัตราเบี้ยประกันภัยให้มีประสิทธิภาพเพียงพอ ก่อนนำเสนอต่อนายทะเบียนเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ การกำหนดคุณลักษณะของบริษัทที่ประสงค์จะขอแบบและข้อความกรมธรรม์ประกันภัยที่คุ้มครองความเสี่ยงภัยอุบัติใหม่ (Emerging risk) เป็นต้น เรื่องที่ 2 การพัฒนาและปรับปรุงสัญญาประกันภัยสุขภาพมาตรฐานใหม่ เรื่องที่ 3 การพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพรูปแบบเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งมีความคืบหน้าและมีแผนจะออกคำสั่งนายทะเบียนได้ในเดือนกุมภาพันธ์นี้

เรื่องที่ 4 โครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการ สำหรับธุรกิจประกันภัย (Insurance Regulatory Sandbox) และ โครงการทดสอบนวัตกรรมทางด้านประกันภัย และผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่สะท้อนความเสี่ยงเฉพาะราย (Product Innovation and Tailor-Made Sandbox) และเรื่องที่ 5 การแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาทางการแพทย์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย สืบเนื่องจากคำสั่งสำนักงาน คปภ. แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาหลักเกณฑ์การกำหนดกลุ่มโรคป่วยเล็กน้อยทั่วไป (Simple Diseases) และหลักเกณฑ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัยสุขภาพไปแล้วนั้น ยังไม่ครอบคลุมถึงภาระหน้าที่ของสำนักงาน คปภ. ที่ต้องให้ความคุ้มครองสิทธิประโยชน์แก่ผู้เอาประกันภัย

ในส่วนของมาตรการระยะยาว สำนักงาน คปภ. กำลังอยู่ในกระบวนการศึกษาและจัดทำร่างกฎหมายการประกันภัยสุขภาพ เพื่อให้มีกฎหมายว่าด้วยการประกันภัยสุขภาพรองรับการพัฒนาและยกระดับระบบประกันภัยสุขภาพของประเทศไทย โดยมีประกันภัยสุขภาพภาคสมัครใจเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงด้านสุขภาพที่มีประสิทธิภาพซึ่งในหลักการจะมีการยกระดับมาตรฐานของระบบประกันภัยสุขภาพ ใน 2 มิติ คือมิติของประชาชน และมิติของอุตสาหกรรมประกันภัย

ในมิติของประชาชน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับการประกันภัยสุขภาพครอบคลุมและยั่งยืน รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุเพื่อรองรับสังคมสูงวัย ทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้านสุขภาพ รวมทั้งการรองรับการดูแลรักษาสุขภาพระยะยาว เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมาตรการในคุ้มครองสิทธิของประชาชนในระบบประกันภัยสุขภาพ เช่น การชำระเบี้ยประกันภัยคงที่ การการันตีการต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัยสุขภาพ สิทธิในการได้รับตามกรมธรรม์ประกันภัยสุขภาพ ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี เป็นต้น

ในมิติของอุตสาหกรรมประกันภัยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจประกันภัยสุขภาพมีเสถียรภาพเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ลดอุปสรรคในการประกอบธุรกิจและการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่มาสนับสนุนการให้บริการประกันภัยสุขภาพ โดยมาตรการส่งเสริมเพื่อพัฒนาประกันภัยสุขภาพ เช่น การกำหนดให้บริษัทสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันเพื่อป้องกันฉ้อฉลประกันภัยสุขภาพ การลดอุปสรรคในการส่งเสริมนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีใหม่มาสนับสนุนการให้บริการประกันภัยสุขภาพ (Sandbox) การกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เอาประกันภัยสุขภาพเป็นการเฉพาะ เพื่อให้เกิดความชัดเจนโดยไม่ต้องรอการตีความจากคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น

“บริบทต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นต่อการขับเคลื่อนและส่งเสริมระบบประกันภัยสุขภาพของไทยเป็นไปในทิศทางที่น่ายินดีและนับจากนี้ไปสำนักงาน คปภ. จะดำเนินการในเชิงรุกโดยจะเร่งบูรณาการกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนภารกิจด้านประกันภัยสุขภาพให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อประโยชน์สูงสุดของคนไทยโดยรวมและอย่างยั่งยืน” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

Skip to content