ให้ความสำคัญกับการยอมรับความหลากหลาย ความเสมอภาค และการยอมรับ ความแตกต่าง และอยากเห็นบริษัทเอกชนให้ความสำคัญกับ DE&I
กรุงเทพฯ – “TRUE Global Intelligence™” ฝ่ายวิจัยและวิเคราะห์ข้อมูลของเฟลชแมน ฮิลลาร์ด บริษัทที่ปรึกษาด้านการสื่อสารและการประชาสัมพันธ์ระดับโลก เปิดตัว “DE&I Decoded: APAC” รายงานวิจัยเจาะลึกการรับรู้และความต้องการด้านการสนับสนุนความหลากหลาย ความเสมอภาค และการยอมรับความแตกต่าง (Diversity, Equity and Inclusion: DE&I) ของประชาชนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อวางกรอบการดำเนินงานให้ภาคเอกชนในเอเชียแปซิฟิกสามารถปฏิบัติตามเพื่อสนองความต้องการของประชาชนในภูมิภาคนี้ได้อย่างแท้จริง โดยรายงานฉบับนี้สะท้อนให้เห็นว่าองค์กรต่างๆ ต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดและการปฏิบัติกับผู้เกี่ยวข้องต่างๆ และยังแนะแนวทางให้แบรนด์สามารถดำเนินธุรกิจที่สนองตอบต่อความต้องการของผู้บริโภคในภูมิภาคดีขึ้นและถูกต้องมากยิ่งขึ้น
ลินน์ แอน เดวิส ประธานเฟลชแมน ฮิลลาร์ด ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า “แม้ว่าก่อนหน้านี้ DE&I อาจไม่ใช่ประเด็นใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญสำหรับประชากรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แต่ด้วยชุดข้อมูลล่าสุดที่เราทำการศึกษาและรวบรวมมานี้ ทำให้เราได้รับรู้และเข้าใจถึงรายละเอียดและมุมมองที่ลึกซึ้งของผู้คนในประเทศต่างๆ ต่อการให้ความสำคัญเกี่ยวกับ DE&I ในหลากหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นด้านความหลากหลายทางเพศสภาพและศาสนา ไปจนถึงด้านความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ อาทิ เรื่องที่อยู่อาศัยและรายได้ เป็นต้น ซึ่งมุมมองและนิยามต่อ DE&I ในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน ดังนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากสำหรับแบรนด์และเจ้าของธุรกิจที่ต้องเข้าใจถึงความแตกต่างและหลากหลาย เพื่อนำไปปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจให้เหมาะสมกับผู้ที่เกี่ยวข้องในแต่ละกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
งานวิจัย DE&I Decoded: APAC พบว่า:
- ผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิกให้ความสำคัญกับเรื่อง DE&I: การตีความ DE&I อาจต่างกันไปในแต่ละประเทศ แต่กลุ่มตัวอย่างในเอเชียแปซิฟิกอยากให้การสนับสนุนความหลากหลาย ความเสมอภาค และการยอมรับความแตกต่างในประเด็นต่างๆ อาทิ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ และเพศสภาพ เป็นสาระสำคัญในการสื่อสารและกลยุทธ์ทางธุรกิจ โดยประชาชนร้อยละ 51 เห็นว่า ต้อง“ทำให้คนที่มีภูมิหลังต่างกันมีส่วนร่วมในสังคมมากขึ้น” ในขณะที่มีเพียงร้อยละ 11 เท่านั้นที่อยากให้คงโครงสร้างทางสังคมแบบเดิมไว้
- สภาพเศรษฐกิจเป็นปัจจัยหลักที่กระตุ้นการเปลี่ยนแปลง: ประชากรในทวีปเอเชียกล้าที่จะแสดงความเห็นและจุดยืนของตน โดยกลุ่มเป้าหมายร้อยละ 84 ระบุว่าเขาได้เรียกร้องต่อประเด็นสังคมอย่างน้อยหนึ่งเรื่อง ทั้งนี้ ประเด็นความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจ เช่น สถานะทางเศรษฐกิจ สถานะการจ้างงาน และรายได้ เป็นเรื่องที่คนให้ความสนใจสูงสุด ตามด้วยประเด็นด้าน DE&I ที่สังคมรับรู้กันในวงกว้าง เช่น เพศสภาพ สถานะทางสังคม/ชนชั้น ภูมิหลังทางวัฒนธรรม และศาสนา เป็นต้น
- การดำเนินธุรกิจตามแนวคิด DE&I สร้างผลบวกต่อองค์กร: องค์กรที่ดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิดที่สนับสนุนความหลากหลาย ความเสมอภาค และการยอมรับความแตกต่างจะได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคมากกว่าบริษัทที่ไม่ได้มีพันธกิจในเรื่อง DE&I เลย โดยกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 94 ระบุว่า บริษัทต่าง ๆ ต้องดำเนินการในด้าน DE&I อย่างน้อยหนึ่งเรื่องเพื่อแสดงให้เห็นถึงจุดยืนและความตั้งใจดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิด DE&I อย่างแท้จริง
ลีลา สเตก หัวหน้าฝ่าย FH4Inclusion และหัวหน้าทีมร่วมฝ่าย True MOSAIC DE&I เฟลชแมน ฮิลลาร์ด กล่าวเสริมว่า “ผลวิจัยฉบับนี้แสดงให้เห็นถึงนิยามใหม่ที่หลากหลายต่อมุมมองด้าน DE&I ทั้งจากผู้คนในโลกธุรกิจ หน่วยงานภาครัฐ รวมถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจากภาคส่วนอื่นๆ เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์สังคมแห่งความเท่าเทียมและการยอมรับซึ่งกันและกันให้ดียิ่งขึ้น แม้ว่าภาษาที่ใช้ในการสื่อสารในประเด็น DE&I อาจแตกต่างกันในแต่ละประเทศ แต่ความต้องการในการสร้างการเปลี่ยนแปลงนั้นกลับชัดเจนเหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่สามารถสนับสนุนให้เกิดการยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างอนาคตที่ดียิ่งขึ้นของประชาชน อาทิ ด้านการศึกษา รายได้ และความปลอดภัย ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากลุ่มตัวอย่างมีจุดยืนและต้องการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังร่วมกันทั่วทั้งภูมิภาค”
แนวทางปฏิบัติสำหรับองค์กรเพื่อก้าวสู่การดำเนินธุรกิจตามแนวคิด DE&I ในเอเชียแปซิฟิก:
- ต้องสื่อสารเรื่อง DE&I: ผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิกถึงร้อยละ 90 อยากเห็นองค์กรภาคธุรกิจดำเนินธุรกิจและสื่อสารภายใต้แนวคิดที่สนับสนุนความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการยอมรับความแตกต่าง อย่างไรก็ตาม กลับมีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 3 เท่านั้นที่ระบุว่าเคยได้รับข้อมูลเรื่องในเรื่อง DE&I จากเจ้าของธุรกิจและผู้บริหารในองค์กร
- กำหนดกลยุทธ์ DE&I ด้วยแผนและเป้าหมายที่ชัดเจน: การดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิด DE&I อย่างเป็นรูปธรรมและสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ต้องเริ่มต้นด้วยแผนและเป้าหมายที่เป็นไปได้ โดยการเริ่มต้นในองค์กรอาจจะทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ต้องให้เห็นถึงความมุ่งมั่นขององค์กร การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ และความจริงใจโปร่งใสด้วยเช่นกัน
- ให้ความสำคัญกับการรับฟังแลกเปลี่ยนความเห็นและการให้ความรู้: อย่าสื่อสารทางเดียว องค์กรต่าง ๆ ควรพร้อมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับพนักงานในเรื่อง DE&I ตลอดจนลงทุนในเรื่องการอบรมและให้ความรู้ในเรื่องนี้มากขึ้น ซึ่งกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 36 ระบุว่าอยากให้มีการอบรมพนักงานในด้าน DE&I และ ร้อยละ 83 อยากให้บริษัทต่าง ๆ มีผู้นำที่ให้ความสำคัญกับ DE&I
- ต้องสื่อสารให้เหมาะกับแต่ละประเทศ: แม้ว่าการสื่อสารในเรื่องการสนับสนุนความหลากหลาย ความเสมอภาค และการยอมรับความแตกต่าง ควรไปในแนวทางและทิศทางเดียวกัน แต่การใช้ภาษาเพื่อพูดคุยสื่อสารในประเด็นนี้ของประเทศต่างๆ กลับมีความแตกต่างกันอย่างมาก ดังนั้น การสื่อสารและแผนการสื่อต้องจำเป็นจะต้องปรับให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายในแต่ละประเทศ ตลอดจนต้องแตะประเด็น DE&I ที่ผู้บริโภคในประเทศนั้นๆ ให้ความสำคัญ
“ผลการวิจัย DE&I Decoded: APAC สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนต้องการเห็นแบรนด์แสดงออกถึงจุดยืนด้าน DE&I แม้ว่าประชาชนในแต่ละประเทศจะให้ความสำคัญกับแต่ละประเด็นเรื่อง DE&I แตกต่างกัน แต่ก็แสดงให้เห็นชัดเจนว่าผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต้องการที่จะเห็นการเคลื่อนไหวอย่างจริงจังจากรัฐบาลและภาคเอกชนเพื่อยกระดับสังคมให้ดีขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคนี้จะเกิดขึ้นได้ด้วยการอบรมและให้ความรู้ที่ถูกต้องชัดเจนเรื่อง DE&I รวมถึงการมีผู้นำที่ให้ความสำคัญกับ DE&I เพื่อกระตุ้นให้เกิดแผนที่รัดกุมและปฏิบัติได้จริงในการที่จะยกระดับเรื่อง DE&I ในองค์กรและสถานที่ทำงานให้สูงขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม” ไมเคิล รินาแมน กรรมการผู้จัดการ TRUE Global Intelligence™ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและหัวหน้าทีมวิเคราะห์ของเฟลชแมนฮิลลาร์ด กล่าวเสริม
โสพิส เกษมสหสิน รองประธานอาวุโส พาร์ทเนอร์ และผู้จัดการทั่วไป เฟลชแมนฮิลลาร์ด ประเทศไทย กล่าวถึงผลวิจัยของประเทศไทยว่า คนไทยมีความเข้าใจและให้ความสำคัญกับเรื่อง DE&I ในระดับสูง โดยมีความคุ้นเคยกับแนวคิด DE&I ถึง 76% และมีกลุ่มตัวอย่างเพียง 25% ที่จะเพิกเฉยเมื่อเผชิญกับการไม่สนับสนุนความหลากหลาย ความไม่เสมอภาค และการไม่ยอมรับในความแตกต่าง ดังนั้น จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐ ภาคสังคม และภาคธุรกิจในประเทศไทยต้องให้ความสำคัญ ยอมรับ และสนับสนุน DE&I มากขึ้น ผ่านนโยบาย การดำเนินงาน การขับเคลื่อนทางสังคม และการสื่อสาร เพื่อจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันเรื่อง DE&I ในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความเสมอภาคและยอมรับความหลากหลายในเพศสภาพ ชาติพันธุ์และภูมิหลังทางวัฒนธรรม อันเป็นประเด็น DE&I ที่คนไทยรับรู้สูงสุด 3 อันดับแรก รวมถึงผนึกกำลังแก้ปัญหาความไม่เสมอภาคทางการศึกษาของประเทศที่กลุ่มตัวอย่างในไทยมองว่าเป็นวาระเร่งด่วนและทุกภาคส่วนควรให้ความสำคัญสูงสุด
งานวิจัย DE&I Decoded: APAC จัดทำโดย TRUE Global Intelligence™ ซึ่งเป็นฝ่ายวิจัยและวิเคราะห์ของเฟลชแมน ฮิลลาร์ด งานวิจัยนี้มีการสำรวจภาคสนามตั้งแต่วันที่ 16 ถึง 27 กันยายน 2565 รายงานการวิจัยฉบับนี้เขียนจากผลการสำรวจประชาชน 5,106 คนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างที่สอดคล้องกับจำนวนประชากรของออสเตรเลีย จีน เขตบริหารพิเศษฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่า ตลาดแต่ละแห่งมีความต้องการเฉพาะ ทำให้ได้ข้อมูลที่ชี้ให้เห็นแนวโน้มใหม่ ๆ ในภูมิภาคนี้อย่างชัดเจน ทราบถึงรู้แหล่งข่าวสารเกี่ยวกับ DE&I ของประชาชน และทำให้เห็นว่าความเสมอภาคทางเศรษฐกิจที่มีผลต่อพฤติกรรมของประชาชนและภาคธุรกิจอย่างไร
More Stories
จับตาเลือกตั้งใหญ่ระดับโลกทำตลาดผันผวน เตรียมจัดพอร์ตลงทุนอย่างไรดี
เศรษฐกิจไทยปีหน้าลุ้นเหนื่อยโตต่ำ การบริโภคและลงทุนเอกชนซบเซา การเมืองดึงนโยบายไม่แน่นอน
SCB WEALTH มองหากทรัมป์ชนะเลือกตั้งกลุ่ม AI รับแรงสนับสนุนต่อพร้อมแข่งกับจีน