26 พฤศจิกายน 2024

THE MASTER

ย่อโลกข่าวไว้ในมือคุณ

“พิพัฒน์” ชู “เกาะหมาก” แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนโลก ต้นแบบการจัดการขยะ ตอบนโยบาย BCG   

“พิพัฒน์” ยกให้ “เกาะหมาก” เป็นเกาะต้นแบบของประเทศไทย ตอบนโยบาย BCG ชูจุดเด่นเรื่อง การจัดการขยะ และความปลอดภัย ด้าน อพท. เร่งสปีด เฟ้นหานางงาม เล็งส่งแหล่งท่องเที่ยวชิง Green Destinations Top 100 Stories  ต่อเนื่อง 

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยในโอกาสที่ได้แสดงความยินดีและส่งมอบมอบตราสัญลักษณ์ เกาะหมาก จังหวัดตราด แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่ง ของโลก (2022 Green Destinations Top 100 Stories ) ที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 ว่า จากการมอบนโยบายให้ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ไปดำเนินการขับเคลื่อนตามนโยบายการท่องเที่ยวสีขาวภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ของรัฐบาล เพื่อมุ่งเน้นเป้าหมายนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ โดยให้ความสำคัญกับมิติทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

การทำหน้าที่เป็นหน่วยงานพัฒนาต้นแบบการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จึงเป็นโจทย์ให้ อพท. จะต้องคิดว่า จะพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างไร ให้สามารถสร้างรายได้ กระจายรายได้ ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการที่ดี เพื่อลดผลกระทบด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นที่มาของการพัฒนาและยกระดับ เกาะหมาก ตามแนวทางของเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ GSTC ให้มีความสะอาด สะดวก และปลอดภัย ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว ในวันนี้ อพท. สามารถยกระดับเกาะหมาก ให้เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล ได้รับเลือกเป็น 1 ในแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก ประจำปี 2565 นับเป็นความสำเร็จที่มีคุณค่า เพราะเป็นเวทีที่มีหลากหลายประเทศจากทั่วโลกส่งแหล่งท่องเที่ยวเข้าประกวด   เกาะหมากจึงเป็นเกาะต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทย ในด้านความปลอดภัย และมีแนวทางในการจัดการขยะ คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกาะหมากได้รับการคัดเลือก

นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ อพท. ยังได้กล่าวเสริมว่า การได้รับการประกาศให้เป็น  Green Destinations Top 100 Stories  เป็นการค้นหา Good Practice ด้านการท่องเที่ยวยั่งยืน มีเป้าหมายเพื่อนำเสนอเรื่องราวความสำเร็จและแนวปฏิบัติที่ดี เพื่อให้องค์กรจัดการท่องเที่ยวทั่วโลกนำไปประยุกต์ใช้ในภารกิจการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวของตัวเอง สำหรับ อพท. เป็นผู้กำหนดเป้าหมายการทำงาน ที่สะท้อนความสำเร็จของการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบ ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง อพท. และภายใต้แผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในหลายพื้นที่พิเศษฯ

ในปีงบประมาณ 2566 อพท. จะเพิ่มความเข้มข้นของการพัฒนาในพื้นที่เดิมที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณา 15 ข้อ และได้รับการรับรอง Green Destinations Top 100 Stories ไปแล้ว เพื่อมุ่งเข้าสู่การได้รับคัดเลือกเป็น Green Destinations ซึ่งจะต้องผ่านเกณฑ์การประเมินครบทั้ง 30 ข้อ จึงนับเป็นบันไดที่ท้าทาย อพท. ที่ต้องดำเนินการให้สำเร็จ นอกจากนั้น ยังเตรียมมองหาแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพที่อยู่ในพื้นที่พิเศษ เพื่อพิจารณาส่งเข้ารับการคัดเลือก Green Destinations TOP 100 Stories โดยในปีนี้กำลังศึกษาศักยภาพ และเตรียมความพร้อมที่จะผลักดันแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งมีความโดดเด่นทางด้านธรรมชาติ ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เข้าสู่การพิจารณา

อย่างไรก็ตาม อพท. ยังเตรียมขยายผล จัดทำคู่มือการนำแหล่งท่องเที่ยวเข้าสู่ระบบรับรองมาตรฐาน Green Destinations Standard เพื่อนำไปสู่ระบบการรับรอง Green Destinations Top 100 Stories อย่างเป็นระบบ และสามารถใช้ประโยชน์จากโครงการต่าง ๆ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ให้ขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ดียิ่งขึ้นต่อไป

Skip to content