จากจำนวนประชากรเสือโคร่งทั่วโลก เมื่อ 100 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนกว่า 100,000 ตัว แต่ปัจจุบันลดลงกว่าร้อยละ 95 เหลืออยู่เพียงไม่ถึง 3,200 ตัว โดยพบในป่าธรรมชาติของ 13 ประเทศเท่านั้น รวมถึงประเทศไทย ถือเป็นภาวะวิกฤตของประชากรเสือโคร่งที่ลดน้อยลง อันส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและโลกของเรา
13ประเทศทำปฏิญญาอนุรักษ์เสือโคร่ง
ทั้ง 13 ประเทศที่ยังคงมีเสือโคร่งอาศัยอยู่ จึงทำปฏิญญาร่วมกันในการอนุรักษ์เสือโคร่งและมีแผนฟื้นฟูตามศักยภาพของพื้นที่ที่รองรับ เพื่อเพิ่มจำนวนประชากรเสือโคร่งให้มากขึ้นเป็น 2 เท่าตัว ในประเทศไทย เสือโคร่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ไอยูซีเอ็น (IUCN) จัดสถานะให้อยู่ในประเภทใกล้สูญพันธุ์ สาเหตุหลักมาจากการบุกรุกพื้นที่ป่า การลักลอบล่าและค้าสัตว์ป่า ฯลฯ รวมถึงความเชื่อผิดๆ ว่าชิ้นส่วนอวัยวะของเสือโคร่งเป็นยาบำรุงกำลังชั้นเยี่ยม
โดยประเทศไทย เป็นถิ่นอาศัยของเสือมากเป็นอันดับ 2 ของโลก และเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ยังมีเสือโคร่งในธรรมชาติ โดยกระจายตัวอยู่ในป่าอนุรักษ์สำคัญๆ อาทิ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร อุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติปางสีดา ผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เท่านั้น
ล่าสุด มีการรายงานจำนวนประชากรเสือในธรรมชาติ 177 ตัว เพิ่มขึ้นจากปี 2563 จำนวน 17 ตัว ด้วยแผนปฏิบัติการสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันของหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งการใช้องค์ความรู้ทางวิชาการ ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น การใช้ระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ Smart Patrol ในทุกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ การจัดตั้งศูนย์ควบคุมมาตรฐานการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ทำให้ผืนป่าของไทยมีจำนวนประชากรเสือโคร่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ฯลฯ
บี.กริม เอกชนรายเดียวร่วมอนุรักษ์ฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง กว่า 10 ปี
ในส่วนของภาคเอกชน บี.กริม เป็นบริษัทเอกชนรายแรกและรายเดียวในประเทศไทย ที่ให้ความสำคัญและสนับสนุนการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง ให้กับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช “เพราะมีความโอบอ้อมอารี ธุรกิจจึงสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติและชุมชนได้” ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม บอกถึงเบื้องหลังโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง (Save the Tigers)
ภายใต้หลักธรรมาภิบาล ตลอดจนการบริหารห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) อย่างรับผิดชอบ โดยคำนึงถึงผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามวิสัยทัศน์ในการสร้างพลังให้กับสังคมโลกด้วยความโอบอ้อมอารี (Empowering the World Compassionately) โดยมุ่งมั่นฟื้นฟูธรรมชาติของผืนป่าตะวันตกของประเทศไทยต่อเนื่องยาวนาน กว่า10 ปีที่ผ่านมา บี.กริม สนับสนุนการเพิ่มจำนวนประชากรเสือโคร่ง พร้อมปกป้องถิ่นที่อยู่อาศัยของเสือโคร่งจากการรุกล้ำและลักลอบล่าสัตว์ และยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูเสือโคร่งอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
นอกจากสนับสนุนระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol System) การเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัย นำไปสู่การวางแผนการปฏิบัติงานลาดตระเวนได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพแล้ว บี.กริม ยังสนับสนุน การปรับปรุง ศูนย์ควบคุมมาตรฐานการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ( SMART Patrol Monitoring Center ) และอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานพิทักษ์ป่า อาทิ กล้องดักถ่ายภาพ (Camera Trap) ระบบเสารับส่งสัญญาณวิทยุ (Radio Tower and Portable 2-Way Radio) เชื่อมโยงระบบป้องกันรักษาป่า ฯลฯ
ขณะเดียวกันได้จัดทำประกันสุขภาพให้แก่เจ้าหน้าที่ทุกคน ตลอดจนสนับสนุนทุนการศึกษาแก่บุตรหลาน เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน เพราะโดยเฉลี่ยเจ้าหน้าที่1คนต้องดูแลพื้นที่ป่าคนละ1หมื่นไร่ นอกจากนี้ บี.กริม ยังสร้างศูนย์การเรียนรู้ ส.เสือวิทยา ณ โรงเรียนอนุบาลคลองลาน จ.กำแพงเพชร เพื่อให้นักเรียนและชุมชนในท้องถิ่นได้เรียนรู้เกี่ยวกับเสือและสัตว์ป่า รวมถึงสร้างจิตสำนึกให้เกิดการอนุรักษ์ธรรมชาติ รักษาฝืนป่าและระบบนิเวศอย่างยั่งยืน
พบเสือโคร่งกระจายตัว-จำนวนเพิ่มขึ้น
จากฐานข้อมูลวิทยาศาสตร์ พบว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประชากรของเสือโคร่งมีการกระจายตัวออกไปทั่วผืนป่าตะวันตก จากห้วยขาแข้งไปยังพื้นที่ป่าใกล้เคียง เช่น อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ กำแพงเพชร และอุทยานแห่งชาติคลองลาน ต่อเนื่องถึงอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้าทางตอนเหนือ และกระจายตัวลงมาถึงเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าสลักพระทางตอนใต้ โดยการกระจายตัวหมายถึงการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร ถือเป็นความสัมฤทธิ์ของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งอย่างมีประสิทธิภาพ
More Stories
“ซึ้งใจมาหาถึงบ้าน” คาราวาน “ผ้าห่มผืนเขียว” เดินทางข้ามหุบเขา มอบไออุ่นถึงมือพี่น้องชาวพิษณุโลก
เอสซีจี เดินหน้าลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในอาเซียน มอบทุนอีก 3 ประเทศ
คาร์กิลล์ สานต่อ ‘โครงการเกษตรอาหารกลางวัน’ สร้างความยั่งยืนทางอาหารให้เยาวชนไทย ตอกย้ำการส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารโลก