19 พฤศจิกายน 2024

THE MASTER

ย่อโลกข่าวไว้ในมือคุณ

คปภ. เปิดเกมรุกใหม่นำระบบประกันภัยให้ความคุ้มครองในเขต(EEC) ผนึกพลัง “สกพอ.-หอการค้าไทย-สภาอุตสาหกรรม” ลงนาม MoU เติมเต็มองค์ความรู้ ประกันภัยแบบครบวงจร

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) พร้อมด้วย ดร.ธัชพล กาญจนกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ปฏิบัติการแทนเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก นายปรัชญา สมะลาภา รองประธานกรรมการและประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก หอการค้าไทย ดร.สาโรจน์ วสุวานิช ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) เรื่องการบูรณาการองค์ความรู้และการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านประกันภัยในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ระหว่าง 4 หน่วยงาน คือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หอการค้าไทย และสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก โดยได้รับเกียรติจาก นายนิติ วิวัฒน์วานิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี คณะผู้บริหารระดับสูงของทั้ง 4 หน่วยงาน นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย นายสุนทร ธัญญวัฒนกุล ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 1 ประธานหอการค้าจังหวัด ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดในพื้นที่ EEC (ชลบุรี ระยอง และ ฉะเชิงเทรา) ผู้บริหารภาครัฐและเอกชน รวมถึงสื่อมวลชนร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ศูนย์ปฏิบัติการโรงแรมเทาทอง มหาวิทยาลัยบูรพา อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี

เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) ระหว่าง 4 หน่วยงาน ในครั้งนี้เกิดจากสำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินการโครงการและกิจกรรมที่เกี่ยวกับนโยบาย EEC ไปก่อนหน้านี้ อาทิ การจัดทำโครงการประเมินโอกาสและศักยภาพของอุตสาหกรรมประกันภัยจากโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นโครงการนำร่อง Pilot Project เพื่อศึกษาโอกาสที่ธุรกิจประกันภัยไทยจะเข้าไปรองรับความต้องการและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเลือกการทำประกันภัยของกลุ่มธุรกิจและผู้บริโภค รวมทั้งได้มีการจัดอบรมสัมมนาเรื่อง โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กับโอกาสของธุรกิจประกันภัย เพื่อเตรียมความพร้อมของอุตสาหกรรมประกันภัยไทยในการให้บริการ สร้าง Value Proposition และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่กลุ่มธุรกิจและประชาชน ตลอดจนการตั้งศูนย์ EEC สำนักงาน คปภ. ภาค 6 (ชลบุรี) ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (InsurEEC) โดยศูนย์ดังกล่าวมีคณะทำงานบูรณาการด้านประกันภัย ซึ่งได้เข้าร่วมประชุมสภาอุตสาหกรรมจังหวัดในพื้นที่ EEC ในฐานะที่ปรึกษาเพื่อให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับมิติด้านประกันภัยและนำเสนอรูปแบบการประกันภัยที่เหมาะสมและสอดคล้องกับลักษณะความเสี่ยงของการประกอบธุรกิจ และการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชนในพื้นที่ EEC ผ่านการบริหารจัดการความเสี่ยงและลดภาระด้านการเงิน พร้อมทั้งสร้างความยั่งยืนให้ผู้ประกอบการและสภาพแวดล้อมรอบข้างโดยให้ระบบประกันภัยเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการ EEC ที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทยในอนาคต

ทั้งนี้ จากการที่สำนักงาน คปภ. ได้จัดทำ Pilot Project โครงการประเมินโอกาสและศักยภาพของอุตสาหกรรมประกันภัยจากโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อศึกษาโอกาสที่ธุรกิจประกันภัยไทยจะเข้าไปรองรับความต้องการและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเลือกการทำประกันภัยของกลุ่มธุรกิจและผู้บริโภค พบว่า ผลประมาณการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) (ปี 2563-2580) ที่มีการลงทุนของภาครัฐ และส่งเสริมให้เกิดการลงทุนจากภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญทางเศรษฐกิจที่ช่วยให้ภาคธุรกิจประกันภัยเติบโตมากขึ้น โดยจะมีการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทั้งภาคสาธารณะ อาทิ โครงข่ายระบบราง ท่าเรือ รวมถึงภาคเอกชน เช่น อาคารสำนักงาน โรงงาน เป็นต้น และการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ อาทิ การซื้อรถยนต์เชิงพาณิชย์ อีกทั้งยังทำให้เกิดการจ้างงานจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุปสงค์ต่อการประกันวินาศภัยเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ นโยบาย EEC ยังมีผลทางอ้อมที่ทำให้เศรษฐกิจพัฒนาและเติบโตมากขึ้น และประชากรมีระดับรายได้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้อุปสงค์ของทั้งการประกันชีวิตและประกันวินาศภัยเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 7.5 ต่อปี และมีมูลค่า 2.0 ล้านล้านบาท ในปี 2580 โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์การประกันวินาศภัยจะมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 10.4 ต่อปี และการประกันชีวิตที่มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงเติบโตเป็นร้อยละ 4.3 ต่อปี

โดยคาดการณ์ความต้องการของกลุ่มผลิตภัณฑ์ประกันวินาศภัย ได้แก่ การประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิดและการประกันภัยทรัพย์สิน ร้อยละ 15.5 ต่อปี และการประกันภัยอุบัติเหตุ ร้อยละ 12.9 ต่อปี การประกันอัคคีภัย ร้อยละ 4.8 ต่อปี การประกันภัยรถยนต์ ร้อยละ 4.7 ต่อปี การประกันภัยสุขภาพร้อยละ 3.4 ต่อปี และการประกันภัยทางทะเลและขนส่ง 3.1 ต่อปี ส่วนความต้องการผลิตภัณฑ์ประกันภัยของอุตสาหกรรม S-Curve ที่มีเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมการบินและขนส่ง และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร อาทิ กลุ่ม Digital Group มีความต้องการความคุ้มครองใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น อาทิ ความบกพร่องของ AI, Cyber Attack และความเสียหายจากผู้ผลิตชิ้นส่วนสำหรับ Automation & Robotics เป็นต้น กลุ่ม BIO Group มีความต้องการความคุ้มครองใหม่ ๆ อาทิ ความเสียหายหรือแพ้จากการใช้ผลิตภัณฑ์ใหม่ ความผิดพลาดจากการปนเปื้อน ผลเสียของการใช้สารเคมีที่มีอันตราย และความเสียหายจากห้องแล็บ Clinical Trial  กลุ่ม Tourism & Wellness Group มีความต้องการความคุ้มครองใหม่ ๆ อาทิ การคุ้มครองการเดินทางเพื่อพักผ่อนแบบ luxurious ความผิดพลาดจากการรักษา ความผิดพลาดของภัตตาคารและผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยว ความผิดพลาดจากการใช้เทคโนโลยีเกี่ยวกับการแพทย์ ความคุ้มครองความเสี่ยงที่เกิดจากการลงทุนใหม่ และความคุ้มครองจากการดำเนินงาน เป็นต้น ในขณะเดียวกันความต้องการผลิตภัณฑ์ประกันภัยของผู้บริโภค ภายหลังจากมีโครงการ EEC มีความต้องการทำประกันภัยสุขภาพเพิ่มขึ้น ตามด้วยการประกันภัยรถยนต์ การประกันภัยอุบัติเหตุ การประกันอัคคีภัยบ้าน และการประกันชีวิต

ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จึงได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อต่อยอดโครงการและกิจกรรมที่ได้ดำเนินการไปแล้ว โดยพิธีลงนามดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่าง 4 หน่วยงาน ซึ่งนับเป็นก้าวแรกของความร่วมมือเชิง Collaboration โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการประสานความร่วมมือและจัดให้มีกลไกที่ทั้ง 4 หน่วยงานจะสามารถปฏิบัติร่วมกันได้ในการเสริมสร้างองค์ความรู้ การแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลและนโยบาย รวมถึงประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลร่วมกัน เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการความเสี่ยง ด้วยระบบประกันภัยอย่างยั่งยืน

สำหรับกรอบแนวทางความร่วมมือที่ทั้ง 4 หน่วยงาน จะขับเคลื่อนร่วมกันมี 4 ด้านหลัก ๆ คือ ด้านแรก เกี่ยวกับงานวิชาการ โดยจะมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อมูลทางวิชาการ ด้านที่ 2 เป็นการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัย ด้านที่ 3 การประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านประกันภัยและด้านที่เกี่ยวข้องผ่านสื่อต่าง ๆ และด้านที่ 4 เป็นการจัดกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม รวมถึงประชาชนในเขตพื้นที่ EEC เล็งเห็นถึงความสำคัญของการใช้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อบรรเทาความสูญเสียหรือความเสียหาย ซึ่งจะช่วยให้การประกอบธุรกิจสามารถดำเนินการไปด้วยความราบรื่น และช่วยเสริมศักยภาพรวมถึงขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า สำนักงาน คปภ. ได้กำหนดแผนพัฒนาการประกันภัยฉบับที่ 4 (พ.ศ.2564-2568) โดยได้กำหนดยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่ให้ระบบประกันภัยมีบทบาทในการสนับสนุนระบบเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน โดยใช้แนวทางการผลักดันให้นำประกันภัยไปใช้ในการบริหารความเสี่ยงของภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐมากขึ้น ตลอดจนส่งเสริมธุรกิจประกันภัยให้ลงทุนในสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ และโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น การลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัทที่อยู่ในพื้นที่ EEC โดยสำนักงาน คปภ. ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การลงทุนของบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัยให้สามารถลงทุนในหน่วยลงทุนที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน โดยขยายสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ลงทุนดังกล่าวจากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 30 ของสินทรัพย์ลงทุน เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายภาครัฐในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอีกด้วย

“การลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่าง 4 หน่วยงานในครั้งนี้ทำให้เกิดการ Collaboration ที่เป็นรูปธรรมอย่างครบวงจร ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทุกภาคส่วนจะได้ร่วมกันให้ระบบประกันภัยเข้ามามีส่วนในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศและสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนได้แบบยั่งยืนอย่างแท้จริง” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

Skip to content