(24 มีนาคม 2566) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2565 ภายใต้แนวคิด “รัฐวิสาหกิจไทยขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน (Grow Green Balance)” ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) มอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น (SOE Awards) ประจำปี 2565 ให้แก่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จำนวน 7 รางวัล ซึ่งถือเป็นปีที่ธอส. ได้รับรางวัลมากที่สุด ประกอบด้วย 1.รางวัลคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจดีเด่น 2.รางวัลการบริหารจัดการองค์กรดีเด่น 3.รางวัลการพัฒนาสู่รัฐวิสาหกิจยั่งยืน 4.รางวัลบริการดีเด่น 5.รางวัลการดำเนินงานเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมดีเด่น 6.รางวัลความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมดีเด่น ด้านนวัตกรรมดีเด่น และ 7.รางวัลความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมดีเด่น ด้านความคิดสร้างสรรค์ชมเชย โดยมีนายกฤษณ์ เสสะเวช กรรมการธนาคาร และรักษาการกรรมการผู้จัดการ ธอส. และนายฉัตรชัย ศิริไล อดีตกรรมการผู้จัดการ ธอส. พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงของธนาคาร ร่วมรับรางวัล
นายกฤษณ์ เสสะเวช กรรมการธนาคาร และรักษาการกรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า รางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2565 ทั้ง 7 รางวัล ที่ ธอส. ได้รับ เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความมีประสิทธิภาพในการดำเนินงานของคณะกรรมการ ผู้บริหารระดับสูง และผู้ปฏิบัติงานของ ธอส. มากกว่า 5 พันชีวิต ที่มุ่งมั่นในการดำเนินงานตามพันธกิจ “ทำให้คนไทยมีบ้าน” โดยในปี 2565 ที่ผ่านมา ธอส. สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้สูงถึง 286,888 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.21% จากปี 2564 และสูงกว่าเป้าหมาย ถึง 26.70% อีกทั้งยังสามารถช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ผ่านการทบทวนและปรับปรุงมาตรการทั้ง 22 มาตรการ โดย ณ ธันวาคม 2565 สามารถช่วยเหลือลูกค้าได้จำนวน 80,928 บัญชี คิดเป็นวงเงินสินเชื่อ 88,443 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนา การให้บริการด้านดิจิทัล รวมทั้งการปรับปรุงกระบวนการให้บริการลูกค้าแบบ End to End Process หรือการให้บริการ
ลูกค้าตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงขั้นตอนสุดท้ายผ่านระบบดิจิทัล ที่ช่วยให้ลูกค้าได้รับความสะดวก รวดเร็ว และลดต้นทุน การดำเนินงานของธนาคารไปพร้อม ๆ กัน จนส่งผลให้ธนาคารประสบความสำเร็จในด้านต่าง ๆ และนำมาซึ่งรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2565 ทั้ง 7 รางวัล โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- รางวัลคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจดีเด่น เป็นรางวัลที่แสดงให้เห็นว่าคณะกรรมการธนาคาร ที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แทนของผู้ถือหุ้นภาครัฐ สามารถกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งให้ข้อสังเกต ข้อเสนอแนะที่สำคัญ ในการสนับสนุนให้การบริหารงานของฝ่ายจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส สอดคล้องกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ให้ความสำคัญและมีส่วนร่วมในการกำหนดวิสัยทัศน์ นโยบายและทิศทางการดำเนินงาน
มีบทบาทในการกำกับดูแลที่ดี (Good Corporate Governance) รวมทั้งการติดตามการดำเนินงานในเรื่องต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ - รางวัลการบริหารจัดการองค์กรดีเด่น เป็นรางวัลที่มอบให้องค์กรที่สามารถบริหารจัดการตามเกณฑ์การประเมินผลรัฐวิสาหกิจ Core Business Enablers ทั้ง 8 ด้าน ได้แก่ การกำกับดูแลที่ดีและการนำองค์กร, การวางแผนเชิงกลยุทธ์, การบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายใน, การมุ่งเน้นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและลูกค้า, การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล, การบริหารทุนมนุษย์, การจัดการความรู้และนวัตกรรมและการตรวจสอบภายใน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม มีศักยภาพในการแข่งขัน สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้ แก่รัฐวิสาหกิจ และมีการเติบโตอย่างยั่งยืน
- รางวัลการพัฒนาสู่รัฐวิสาหกิจยั่งยืนสะท้อนการดำเนินงานขององค์กรที่คำนึงความยั่งยืน ทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมีการกำหนดยุทธศาสตร์และเป้าหมายด้านความยั่งยืนขององค์กร มีนโยบายเพื่อการพัฒนาความยั่งยืนของธนาคาร พร้อมกระบวนการขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืน กำหนดกลยุทธ์ ผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน และสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายความยั่งยืน E²SG ของธนาคาร ที่ครอบคลุมทุกมิติการดำเนินงานทั้งด้าน Technology Operation และ People
- รางวัลบริการดีเด่น ได้รับจากโครงการ Soul of Service ที่เป็นโครงการยกระดับคุณภาพการให้บริการแก่ลูกค้า ประชาชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งการบริการตามภารกิจหลักและภารกิจเกี่ยวเนื่อง ด้วยการนำเทคโนโลยีมาปรับเปลี่ยนการให้บริการที่ตอบสนองต่อความต้องการ ความคาดหวังของลูกค้า/ประชาชน ให้บริการแบบเน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric) ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว อย่างมีประสิทธิภาพ คล่องตัว และมีมาตรฐานสากล โดยเฉพาะการพัฒนา Application GHB ALL GEN ที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้า ธอส. แบบ Anywhere Anytime
- รางวัลการดำเนินงานเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมดีเด่น ที่ได้รับจากโครงการ Bank on Bank : ชุมชนหลังวัดปากบ่อ โครงการการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนกลุ่ม Unserved โดยใช้ Core Competency ของธนาคารด้านความเชี่ยวชาญทางการเงิน และการให้ความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) ให้ชุมชนสามารถเข้าถึงแหล่งทุน ที่ถือเป็นโครงการที่มีการดำเนินงานเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม มีการกำหนดนโยบายด้านการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน มีแผนการดำเนินงาน และกระบวนการในการมีส่วนร่วมตั้งแต่ระดับคณะกรรมการธนาคาร ผู้บริหาร และพนักงาน ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อชุมชน สังคม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างต่อเนื่อง
- รางวัลความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมดีเด่น ด้านนวัตกรรมดีเด่น ได้รับจากโครงการ GHB Digital Appraisal สะท้อนว่าธนาคารสนับสนุนให้เกิดการสร้างนวัตกรรมภายในองค์กร มีการนำนวัตกรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กร เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน การบริหารจัดการ การให้บริการ การลดต้นทุน
ลดระยะเวลาปฏิบัติงานจากเดิม 3 วันทำการให้เหลือ 5 วันทำการ ส่งผลให้การอนุมัติสินเชื่อรวดเร็วขึ้น ส่งเสริมภาพลักษณ์ของธนาคารที่ก้าวสู่ Digital Banking สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า ส่งผลให้มีผลประกอบการที่ดีอย่างต่อเนื่อง ยกระดับศักยภาพการแข่งขันขององค์กร - รางวัลความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมดีเด่น ด้านความคิดสร้างสรรค์ชมเชย ได้รับจากโครงการ Digital Documentation Process จัดเก็บเอกสารสิทธิ์ในรูปแบบ File Electronic แทนการนำเอกสารสิทธิ์ต้นฉบับกลับมาจัดเก็บที่ห้องมั่นคงของธนาคาร ทำให้ลดการใช้พื้นที่ห้องมั่นคง ลดขั้นตอนการเบิกเอกสารสิทธิ์และลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน รวมทั้งการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนส่วนเสียที่สำคัญโดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยยกระดับการบริการและกระบวนงานภายในธนาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญ
ทั้งนี้ สคร. ได้จัดให้มีงานมอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่นตั้งแต่ปี 2548 เพื่อประกาศให้สาธารณชนได้ทราบถึงผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจที่ดีเด่นในด้านต่าง ๆ พร้อมกับเป็นกำลังใจให้กับรัฐวิสาหกิจทุกแห่งที่ทำภารกิจสนับสนุนการพัฒนาประเทศ และส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจมีความมุ่งมั่นในการดำเนินงานเพื่อพัฒนาองค์กรให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป โดยงานมอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2565 จัดขึ้น ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
More Stories
เมอร์เซเดส-เบนซ์ คว้า 19 รางวัล จากเวที AdPeople Awards & Symposium 2024
บางจากฯ สะท้อนความเป็นเลิศด้วย 2 รางวัลพระราชทาน และ 5 รางวัลดีเด่น
GRAMMY ได้รับคะแนนการประเมินการกำกับดูแลกิจการในระดับ 5 ดาว หรือ “ดีเลิศ” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 14 สะท้อนถึงการกำกับดูแลกิจการที่ดีอย่างต่อเนื่อง