ข่าวพลังงาน
เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ได้ร่วมประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมเพื่อกำหนดทิศทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ด้วยการลดการใช้รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า(EV) เพื่อก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) และการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเปิดเผยว่าในปัจจุบันทั่วโลกต่างตระหนักถึงปัญหาผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่เกิดจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดก๊าซเรือนกระจก จึงทำให้หลายประเทศไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา ประกาศเป้าหมายชัดเจนว่าจะลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ และงดการใช้รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน ดังนั้นเพื่อให้ทิศทางการดำเนินงานนโยบายด้านพลังงานของไทยสอดคล้องกับกระแสเทรนด์ของโลกจึงมีนโยบายลดการใช้รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปไปสู่การใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
การประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติในวันนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกำหนด
แผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ผ่านมาผลิตเครื่องยนต์สันดาป ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5
จึงได้วางเป้าหมายการส่งเสริมการผลิตและการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) โดยคาดการณ์ว่าในปี 2568 รถยนต์ไฟฟ้าจะมีราคาเทียบเท่ากับรถยนต์สันดาป เพื่อก้าวสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ในการดำเนินงานขับเคลื่อนส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก ได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน และกระทรวงคมนาคม ร่วมกันพิจารณาส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าประกอบด้วย รถยนต์ จักรยานยนต์ และรถบัสสาธารณะ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมทั้งในส่วนของอุปทาน (ผู้ผลิต) โดยเฉพาะการเชื่อมโยงผู้ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องในยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงผลักดันผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ เพื่อเร่งให้เกิดการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยโดยเร็ว โดยมีเป้าหมายการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ารวมทุกประเภทในปี 2568 รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,055,000 คัน โดยแบ่งเป็นรถยนต์/รถปิกอัพ 402,000 คัน รถจักรยานยนต์ 622,000 คัน และรถบัส/รถบรรทุก 31,000 คัน และในปี 2578 ให้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนรวม 15,580,000 คัน แบ่งเป็นรถยนต์/รถปิกอัพ 6,400,000 คัน รถจักรยานยนต์ 8,750,000 คัน และรถบัส/รถบรรทุก 430,000 คัน และได้วางเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ ในปี 2568 จะมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,051,000 คัน แบ่งเป็นรถยนต์/รถปิกอัพ 400,000 คัน รถจักรยานยนต์ 620,000 คัน และรถบัส/รถบรรทุก 31,000 คัน และในปี 2578 ให้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนรวม 18,413,000 คัน แบ่งเป็นรถยนต์/รถปิกอัพ 8,625,000 คัน รถจักรยานยนต์ 9,330,000 คัน และรถบัส/รถบรรทุก 458,000 คัน
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้วางนโยบายการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าด้วยมาตรการระยะเร่งด่วนและมาตรการระยะ 1- 5 ปี ดังนี้
มาตรการกระตุ้นการใช้รถ EV ระยะเร่งด่วน โดยจะมุ่งส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั้งประเภทสองล้อสามล้อ และสี่ล้อไฟฟ้า โดยวางแผนจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์และรถจักรยานยนต์ รวมทั้งส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานแบตเตอรี่และการบริหารจัดการซากแบตเตอรี่ที่เกิดจากการใช้งานภายในประเทศอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งมาตรการเหล่านี้ยังอยู่ในระหว่างการศึกษารายละเอียด เพื่อนำผลสรุปมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่อไป
มาตรการกระตุ้นระยะ 1-5 ปี ดำเนินการส่งเสริมการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต การเตรียมการด้านการบริหารจัดการซากรถยนต์แบตเตอรี่ที่ใช้แล้ว โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมเป็นหลักตามมาตรฐานสากล พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน (EcoSystem) เพื่อส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานสะอาด
พร้อมกันนี้ที่ประชุมยังได้พิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติขึ้น ได้แก่ 1.คณะอนุกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน 2. คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและแบตเตอรี่เพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้า 3.คณะอนุกรรมการประเมินผลกระทบด้านน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซเรือนกระจกจากการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า และ 4. คณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้การส่งเสริมการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าดำเนินนโยบายไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมทั้งเกิดการบูรณาการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยให้เป็นรูปธรรมและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นความร่วมมือกันในการเดินหน้านโยบายส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง และนำพาประเทศก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก
More Stories
SSP ติดปีก! รุกขยายพอร์ตโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ
ราช กรุ๊ป – เอไอเอฟ กรุ๊ป – โรนิตรอน จับมือศึกษาและพัฒนาโครงการผลิตกรีนไฮโดรเจน – กรีนแอมโมเนีย จากพลังงานสะอาดใน สปป.ลาว
“พลังงาน”ชูต้นแบบสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมืองคาร์บอนต่ำ