26 พฤศจิกายน 2024

THE MASTER

ย่อโลกข่าวไว้ในมือคุณ

เลขาธิการ คปภ. บูรณาการเต็มพิกัดเปิดตัว “ประกันภัยสวนยางพารา”

 นำร่องให้เกษตรกรสวนยางจังหวัดชุมพพร้อมนำทีมลงพื้นที่ชุมชนบ้านถ้ำสิงห์ บริการให้ความช่วยเหลือและแนะนำเรื่องประกันภัยแบบครบวงจร

ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดโครงการ 1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์ (ประกันภัยสวนยางพารา) โดยมีนายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ให้เกียรติกล่าวต้อนรับ พร้อมด้วย นายสมเกียรติ พลอยน้อย ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตด้านแผนและวิชาการ การยางแห่งประเทศไทยเขตภายใต้ตอนบน หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดชุมพร หน่วยงานภาครัฐและเอกชน เกษตรกรชาวสวนยาง สื่อมวลชน และผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 100 คน เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566 ณ โรงแรมลอฟท์ มาเนีย บูติก โฮเทล อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร

เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า สำนักงาน คปภ. ได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการเติมเต็มองค์ความรู้ด้านประกันภัยให้กับภาคเกษตรกรรมของประเทศเพื่อช่วยในเรื่องการบริหารความเสี่ยง โดยได้ดำเนินการส่งเสริมการพัฒนากรมธรรม์ประกันภัยเพื่อการเกษตรในเชิงรุก ด้วยการจัดทำโครงการ 1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการและความเสี่ยงของประชาชนในท้องถิ่นทั่วประเทศ และเพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัยให้กลุ่มเป้าหมายและประชาชนในท้องถิ่นให้เข้าถึงระบบประกันภัย รวมทั้งช่วยพัฒนาและส่งเสริมให้มีผลิตภัณฑ์ประกันภัยด้านการเกษตรในแต่ละพื้นที่ เช่น ประกันภัยทุเรียนภูเขาไฟ ของจังหวัดศรีสะเกษ การประกันภัยอ้อย จังหวัดอุทัยธานี และประกันภัยยางพาราในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และได้มีการขยายผลต่อในพื้นที่จังหวัดชุมพร เนื่องจากยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญเป็นอันดับหนึ่งของภาคใต้ และเป็นพืชเศรษฐกิจอันดับ 2 ของประเทศ โดยจังหวัดชุมพร มีพื้นที่ปลูกยางพารามากกว่า 781,004 ไร่ ดังนั้นสำนักงาน คปภ. จึงได้ร่วมบูรณาการกับการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดชุมพร ในการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการประกันภัยสวนยางพารา เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางพารามีความรู้ความเข้าใจ และใช้ระบบประกันภัยในการบริหารความเสี่ยง อันจะสร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพและส่งผลทำให้เกษรตรกรชาวสวนยางพารามีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นต่อไป

สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยสวนยางพารา ที่นายทะเบียนได้ให้ความเห็นชอบแบบและข้อความกรมธรรม์ประกันภัยไปแล้ว มีเงื่อนไขการรับประกันภัยต้นยางช่วงอายุ 7-26 ปี โดยจะให้ความคุ้มครองภัยธรรมชาติหลัก สำหรับความเสียหายของต้นยางพาราที่ปลูกในพื้นที่เพาะปลูกที่เอาประกันภัย ซึ่งได้รับความเสียหายโดยสิ้นเชิง อันเป็นผลเนื่องจาก 1) ไฟไหม้ รวมถึงไฟไหม้ที่เกิดจากหรือเป็นผลมาจากฟ้าผ่า 2) ภัยน้ำท่วม 3) ภัยลมพายุ ซึ่งความคุ้มครองดังกล่าวจะช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกยางพารามีเครื่องมือประกันภัยเพื่อบริหารความเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติ เบี้ยประกันภัยรายปี (รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) 99 บาทต่อไร่ จำนวนเงินเอาประกันภัย 1,600 บาทต่อไร่

ด้านนายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร กล่าวขอบคุณสำนักงาน คปภ. ที่ได้คัดเลือกให้จังหวัดชุมพร เป็นจังหวัดเป้าหมายของการจัดอบรมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจตามโครงการ 1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์ (ประกันภัยสวนยางพารา) ซึ่งมีความเหมาะสมและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับพี่น้องเกษตรกรชาวจังหวัดชุมพร เพื่อให้การประกันภัยเข้ามาเติมเต็มและเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติให้กับเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดชุมพร ดังนั้นประกันภัยสวนยางพารา จึงมีความสำคัญและเป็นประโยชน์อันจะสร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพ และส่งผลให้เกษตรกรชาวสวนยางมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นต่อไป

จากนั้นในวันที่ 28 มีนาคม 2566 เลขาธิการ คปภ. ได้นำคณะผู้บริหารสำนักงาน คปภ. ผู้ไกล่เกลี่ย ข้อพิพาทด้านประกันภัยของสำนักงาน คปภ. ผู้แทนสมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ผู้จัดการกองทุนประกันชีวิต ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย พร้อมด้วยผู้บริหารของบริษัทประกันชีวิต และบริษัทประกันวินาศภัย ลงพื้นที่ชุมชนบ้านถ้ำสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร โดยมีนายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ให้เกียรติกล่าวต้อนรับ พร้อมด้วย นายนวรัตน์  วงศ์ปิ่นเพชร นายอำเภอเมืองชุมพร และนางสาวเอื้องฟ้า  นวลมี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลถ้ำสิงห์ เข้าร่วมด้วย ซึ่งการลงพื้นที่ในครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 4 ตามโครงการ คปภ. เพื่อชุมชนปี 6 เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเชิงรุกให้กับประชาชนในชุมชน ในรูปแบบ Mobile Insurance Unit หรือศูนย์บริการประชาชนด้านการประกันภัยเคลื่อนที่แบบครบวงจร เผยแพร่ประชาสัมพันธ์บทบาทหน้าที่ของสำนักงาน คปภ. และให้ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับชุมชน ให้ความช่วยเหลือ และรับเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัย ผ่าน “Mobile Complaint Unit” หรือศูนย์รับเรื่องร้องเรียนและไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัยเคลื่อนที่ รวมถึงการจัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “ประกันภัยน่ารู้ สู่ชุมชน” โดยมีวิทยากรจากสำนักงาน คปภ. ประกอบด้วย นายโสรัจจ์  แรกสกุลชัย ผู้ช่วยเลขาธิการ สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ นายไกรเทพ รัชตพรพงศ์ หัวหน้ากลุ่มกฎหมายด้านความมั่นคงทางการเงิน และ ดร.กมลทิพย์ มหาวงษ์ ผู้เชี่ยวชาญ กลุ่มกำกับพฤติกรรมด้านการรับประกันภัย พร้อมถ่ายทำรายการ “คปภ. เพื่อชุมชน” เพื่อเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์อมรินทร์ทีวี ช่อง 34 และสื่อออนไลน์

ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. พร้อมคณะผู้บริหารสำนักงาน คปภ. ได้เคาะประตูบ้านประชาชนเพื่อเยี่ยมและพูดคุยกับชาวชุมชน เพื่อรับฟังความคิดเห็น ปัญหา อุปสรรคเกี่ยวกับเกษตรกรผู้เพาะปลูกยางพาราในพื้นที่ตำบลถ้ำสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร โดยมี นายปรีชา ศิลปศร อดีตกำนัน ตำบลถ้ำสิงห์ เกษตรกรผู้เพาะปลูกยางพารา จำนวน 10 ไร่ ได้สะท้อนปัญหาที่หลากหลายโดยเฉพาะความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ ได้แก่ ภัยลมพายุและภัยน้ำท่วม รวมทั้งโรคใบร่วง โรคราแป้ง โรคเส้นดำ โรคเปลือกเน่า โรครากขาว โรครากแดง แมลงและศัตรูพืช เช่น หนอนทราย ปลวก เพลี้ย และหนู ซึ่งการประกันภัยสวนยางพาราจะสามารถช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกยางพารามีเครื่องมือเพื่อบริหารความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ

“การลงพื้นที่ชุมชนของสำนักงาน คปภ. ครั้งนี้เป็นการบูรณาการโครงการ 1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์ประกันภัย กับโครงการ คปภ. เพื่อชุมชน เพื่อขับเคลื่อนและส่งเสริมความรู้ความเข้าใจการประกันภัยสวนยางพาราแก่ประชาชนในท้องถิ่นให้สามารถเข้าถึงระบบประกันภัยและนำมาบริหารจัดการความเสี่ยง รวมทั้งนำข้อมูลที่ได้ไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยสวนยางพาราให้มีความเหมาะสมและตอบโจทย์ความต้องการของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางพาราอย่างแท้จริงโดยขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานกับ ธ.ก.ส. เพื่อบูรณาการและเพิ่มช่องทางเข้าถึงที่ใกล้ชิดกับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางมากขึ้น” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

Skip to content